Skip to main content

 

พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง

 

ประสบการณ์การหลงทางของผมหลายครั้งช่วยให้พบกับเสน่ห์ชวนประหลาดใจของเมืองได้จริงๆ แล้วก็ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า มีหลักปรัชญาสังคมบางอย่างที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องการหลงทางอยู่บ้างเหมือนกัน 

 

ตอนไปญี่ปุ่น ผมหลงทางหลายครั้ง เหมือน sense of direction มันหายไปในเมืองที่มีวิธีจัดการพื้นที่แบบที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคย ทั้งๆ ที่ปกติผมไม่ค่อยหลงทางแบบนี้บ่อยนัก 

 

แต่การหลงหลายครั้งในเกียวโตทำให้ผมได้เจอสถานที่น่าประทับใจ และที่ทำให้มักจดจำสถานที่เฉพาะที่ไป แต่ไม่สามารถหาเส้นทางกลับไปเจอสถานที่นั้นได้อีก มีครั้งหนึ่งเดินไปดึกดื่นกับเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง เรากำลังจะไปหาที่นั่งดื่มกินกันแบบที่ไม่ใช่ร้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปเจอร้านเล็กๆ ร้านหนึ่งโดยบังเอิญ ตั้งอยู่ข้างทางเดินเล็กๆ ริมลำธารเล็กๆ 

 

ร้านนี้มีสองตายายขายเหล้ากับของกินแกล้มเหล้า บรรยากาศเหมือนในหนังญี่ปุ่น ที่คนกินเหล้านั่งหน้าโต๊ะเล็กๆ แล้วเจ้าของร้านหันไปหันมาอยู่ข้างหน้า เจ้าของร้านโอภาปราศรัยดี ที่เด็ดมากคือ “ทาโกะยากิ” สูตรที่ผมไม่เคยเห็นไม่เคยกินมาก่อน (ที่จริงก็ไม่ใช่นักกินทาโกะยากิหรอก เพียงแต่แบบนี้ไม่เคยเห็นจริงๆ) 

 

เขาทำเหมือนเป็นไข่ตุ๋นทรงกลมนุ่มๆ ใจกลางใส่หมึกยักษ์ชิ้นพอประมาณ ราดด้วยมายองเนสบางๆ ไม่มีซ้อสเหนียวหนืด หวานๆ เค็มๆ มากลบรสไข่และกลิ่นหมึกยักษ์ เขาเสิร์ฟทาโกะยากิกลมดิกร้อนๆ แบบฟิวชั่นบนถาดเกลี้ยงๆ สีแดงแจ้ด สีไข่ตัดกับสีจานจัดจ้าน ไอควันโชยขึ้นมาเคล้ากลิ่นกรุ่นของทาโกะยากิ ลืมไม่ลงจริงๆ

 

ผมพยายามกลับไปควานหาร้านนี้หลายต่อหลายรอบในการกลับไปเกียวโตครั้งต่อๆ มา แต่หาทีไรก็หาไม่พบสักที

 

ก็เลยไปนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งกลับจากฮานอย นึกถึงซอกตึกในฮานอย นึกถึงการ “หลงทาง” ทั้งอย่างจงใจและไม่จงใจ ซึ่งมักนำพาไปสู่สถานที่ที่น่าประหลาดใจ เช่นพบกับบ้านเรือนที่นึกไม่ถึงว่าจะมีในฮานอย มีครั้งหนึ่งเป็นช่วงปีใหม่เวียดนามนี่แหละ เดินหลงเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางเมืองฮานอย แล้วพบบ้านหลังหนึ่ง มีบริเวณแคบๆ หน้าบ้าน ซึ่งปลูกต้นท้อขนาดย่อม ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่งอยู่หน้าบ้าน

 

พอหลงคิดมาทางนี้แล้ว ก็นึกถึงหนังสือสนุกที่ต้องอ่านหลายต่อหลายรอบ ของนักอะไรก็ไม่รู้ว่าจะเรียกเขาได้คนหนึ่ง ชื่อมิเชล เดอร์ แซร์โท (Michel De Certeau) เล่มหนึ่ง ชื่อ “ปฏิบัติการของชีวิตประจำวัน” (The Practice of Everyday Life, 1980 แปลเป็นภาษาอังกฤษปี 1984) บทหนึ่งในนั้น ที่ผมใช้ในห้องเรียนเสมอ ชื่อ “Walking in the City” 

 

เดอร์ แซร์โทเปรียบเทียบการเดินในเมืองของคนทั่วไป ว่าเหมือนการพูดในชีวิตประจำวัน ที่ไม่มีคนไหนพูดตามระเบียบแบบแผน ตามกฎเกณฑ์ของภาษาอย่างเป๊ะๆ ชัดเจนตายตัว สำหรับชาวเมืองนั้นๆ  แม้จะเป็นเมืองที่ถูกจัดแบ่งเป็นบล็อคๆ มีชื่อถนนแต่ละเส้นเป็นตัวเลข ยากที่จะหลงทางแบบเมืองนิวยอร์ค คนเมืองก็ไม่ได้จำเป็นต้องเดินแบบเดียวกับที่นักผังเมืองวางไว้เสมอ

 

ผมมีโอกาสได้ไปนิวยอร์คครั้งเพียงเดียว แต่ก็คิดว่า หากต้องไปอีก แม้จะเอาแผนที่ไปก็คงจะต้องหลงทาง เพราะคนที่พาเดินในนิวยอร์คตอนนั้นเชี่ยวชาญ ช่ำชองชีวิตในนิวยอร์ค พามุดขึ้น-ลงรถไปใต้ดิน ต่อรถเมล์ เดินไปเดินมา กระทั่งผมเองที่เป็นนักเดินทางตามแผนที่ ก็ยังเปิดแผนที่ตามไม่ทัน

 

แผนที่ดูจะมีอำนาจไม่เพียงในระดับของการแบ่งเขตแดนจริงๆ เพราะในระดับชีวิตประจำวัน ผมก็ยังเคยอิงอำนาจของแผนที่ในการเดินทางบนรถแท็กซี่ในฮานอย ในปีแรกๆ ของการอยู่ฮานอย ไปไหนมาไหนยังไม่คล่อง ขึ้นแท็กซี่ประจำ ผมมักถือแผนที่ในมือ เวลาขึ้นแท็กซี่ก็ยกขึ้นมาขู่คนขับ แล้วออกเสียงชื่อถนนชัดๆ คอยไล่ดูเทียบกับแผนที่ตลอด ส่วนใหญ่วิธีนี้สามารถขู่แท็กซี่ฮานอยได้บ้าง อย่างน้อยก็ในอดีต จนต่อมา ผมดูแผนที่พวกนี้จนกระทั่งจำได้ขึ้นใจอยู่พักหนึ่งว่า ถนนสายหลักๆ สายไหนอยู่ตรงไหน ไปอย่างไร พอปีหลังๆ เพื่อนต่างชาติคนไหนผ่านไปผ่านมาที่ฮานอย มักเขียนมาถามผมว่าอะไรอยู่ตรงไหนเสมอๆ

 

สำหรับเดอร์ แซร์โท แผนที่ วิธีมองโลกแบบแผนที่ และวิธีจัดการพื้นที่แบบแผนที่ เป็นวิธีการของอำนาจแบบครอบงำอย่างแท้จริง เป็นการมองแบบครอบครอง มองกวาด มองแบบจ้องจัดการ เดอร์แซร์โทจึงขยายความคิดเรื่องการเดินในเมือง ให้ไปไกลสู่การต่อต้าน “แบบ” “แผน” ที่แม้ไม่สามารถนำไปสู่จุดหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างเป็นระบบ แต่เชื่อเถอะว่า สังคมจะเปลี่ยนเข้าสักวัน

 

บางทีใครต่อใครที่หวังดี หรือตัวเราเอง อาจอยากให้เราต้องเดินตามทาง เดินตามแผนที่ ตาม road map อะไรก็แล้วแต่ที่ราวกับว่าจะกำหนดกะเกณฑ์ถึงปลายทางได้ชัดเจน แต่แน่ใจหรือว่า road map เหล่านั้นจะพาเราไปสู่ปลายทางที่เราคาดหวังได้จริงๆ หรือแน่ใจหรือว่า ปลายทางนั้นคือปลายทางที่เราคาดหวังจริงๆ

 

แน่นอนว่าการหลงทางมีราคาที่ต้องจ่าย มีความเสี่ยงรออยู่ ทางที่หลงไปมักน่ากลัวในเบื้องต้น จนบางคนคิดว่าตนเองไม่น่าจะหลงทางมาเลย แต่การหลงทางอาจพาเราไปสู่เส้นทางที่เราจับพลัดจับผลูเดินไปจนได้ดีขึ้นมา บางทีเราต้องกล้าหลงทาง หรือบางทีเราต้องยอมรับว่าเราหลงทาง แล้วหาความหมายให้กับทางที่หลงมาให้เจอ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ