Skip to main content

 

วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 

 
ขอเอาร่างความคิดที่เตรียมเพืื่อไปพูดในรายการ มาเรียบเรียงแบบไม่ตกแต่งมาก แต่ก็อยากให้ได้เนื้อหนัง แถมมีอ้างอิง ไม่ได้เพื่อให้ดูหรู แต่เพื่อให้ผู้ใฝ่รู้ นำไปค้นคว้าสอบทานต่อ
 
(1) รักเอยจริงหรือที่ว่าหวาน
 
ความรักคือการผูกสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะผู้อื่นมีหลายแบบ ความรักจึงมีหลายแบบ และเพราะความรักมีหลายแบบ ตัวตนของเราที่รักใครแต่ละคนจึงมีหลายแบบ แต่มีความรักบางแบบเท่านั้นที่ถูกยกย่องเชิดชู

มีคนแบ่งความรักออกเป็น 4 แบบ หนึ่ง affection รักแบบเอ็นดู เมตตา เช่น ความรักในครอบครัว รักสัตว์ สอง friendship รักแบบเพื่อน สาม eros รักแบบมีราคะ มีตัณหา มีความใคร่ สี่ charity รักแบบอุทิศตน เสียสละเพื่อผู้อื่น (ดูบทนำของ Ryang 2006)
 
แต่ละแบบของความรัก มักอ้างความสำคัญสูงสุดความศักดิ์สิทธิ์ของความรักแบบตน เช่น พ่อแม่บอกไม่มีความรักใดบริสุทธิ์เท่ารักของพ่อแม่ เพื่อนบอกตายแทนกันได้ หนุ่มสาวบอกรักจนจะกลืนกินกันได้ นักบุญบอกรักเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังอะไรคือรักที่ยิ่งใหญ่
 
(2) รักซ้อนซ่อนรัก
 
นอกจากรักแต่ละแบบยังแข่งกันแล้ว บางทีความรักชนิดหนึ่ง ถูกซ่อนไว้ใต้รูปแบบความรักชนิดอื่น  
 
เช่นว่า รัฐสมัยใหม่ใช้ความรักในการปกครอง ความรักเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจของรัฐ รัฐทำให้เรารักรัฐ แต่อาจไม่ได้ใช้ความรักในรูปแบบของรักชาติ รักประชาชนโดยตรง แต่เป็นความรักที่แฝงในรูปแบบความรักแบบอื่นๆ 
 
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะให้รักชาติ รักเพื่อนร่วมชาติ แต่ให้รักประมุขของชาติแทน แล้วทำให้ประมุขของชาติและคนในชาติจินตนาการว่าอยู่ในครอบครัว สร้างความรักของชาติในนามความรักครอบครัว ทำให้ทุกคนอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน วิธีนี้ช่วยให้ความสัมพันธ์ในสังคมขนาดใหญ่ ถูกลดทอนลงเหลือเพียงความสัมพันธ์ในครอบครัว นำวาทกรรมครอบครัวบดบังความรับผิดชอบทางการเมืองได้เหมือนกัน
 
ในญี่ปุ่นช่วงสงครามโลก หนุ่มสาวญี่ปุ่นเคยถูกเรียกร้องให้รักกันเพื่อผลิตลูกให้พ่อของพวกเขา คือองค์จักรพรรดิ ความรักในลักษณะนี้ถูกส่งผ่านมาในสมัยต่อมา มีการโปรโมทเรื่องความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างหนุ่มสาว เน้นพรหมจรรย์ของเด็กสาวที่ได้รับการศึกษา ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจว่า หนุ่มสาวรักกันด้วยตนเอง แต่ถึงที่สุดแล้วคือเพื่อประเทศชาติ จนกระทั่งหนุ่งสาวแต่งงานมีลูกกัน ผลิตประชากรญี่ปุ่นได้ถึงเป้า 100 ล้านคนในปลายทศวรรษ 60 (เรื่องญี่ปุ่น ดู Ryang 2006)
 
(3) รักโรแมนติกครองโลก (เนื้อหาส่วนใหญ่ของตอนนี้มาจาก Jankowiak and Fischer 1992)
 
เราอาจนิยามรักโรแมนติกได้ว่าเป็น ความดึงดูดใจอย่างเข้มข้นอันเนื่องมาจากจินตนาการต่อคนอื่น ในบริบทที่มีอารมณ์วาบหวามอีโรติกเข้ามาเกี่ยวข้อง และรักโรแมนติกมักนำมาซึ่งความเจ็บปวดเมื่อจากพราก 

รักโรแมนติกคือรักแบบที่กล่าวถึงกันมากในวันวาเลนไทน์ แต่แนวคิดที่มักกล่าวถึงกันเพื่อวิพากษ์รักโรแมนติกคือแนวคิดที่ว่า รักโรแมนติกเป็นความรักแบบสมัยใหม่ เป็นรักแบบปัจเจกชนนิยม สังคมนอกตะวันตก นอกยุโรปและอเมริการเหนือ ส่วนที่อื่นๆ ในโลก หากจะมีรักโรแมนติก ก็จะมาจากยุโรป จากซีกโลกตะวันตกนี่เอง
 
แต่มีผู้ถกเถียงว่า รักโรแมนติกไม่ได้มีเฉพาะในยุโรป ทัศนะแบบนั้นมัน "ยูโรเซนทริก" คือเหมาเอายุโรปเป็นศูนย์กลางไปเสียหมดมากเกินไป แนวคิดแบบนี้มักมองว่า นอกยุโรปหรือยุโรปก่อนสมัยใหม่ มีความรักในกรอบของความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือสังคมเท่านั้น ไม่มองความรับเพื่อความใคร่ของปัจเจก
 
แต่จากการใช้สถิติศึกษาโรแมนติกเลิฟ เก็บตัวอย่างจาก 166 สังคมทั่วโลก (ในรายการ ผมพูดผิดเป็น 600 ตัวอย่าง) เข้าใจว่าไม่มียุโรปตะวันตก คงเนื่องจากสองทวีปนั้นเห็นได้ชัดว่ามีวัฒนธรรมรักโรแมนติกอยู่แล้ว ส่วนอเมริกาเหนือ เข้าใจว่าจะเก็บข้อมูลจากชนพื้นเมือง มากกว่าชาวอเมริกันสมัยใหม่ ซึ่งเรารู้กันชัดเจนอยู่แล้วว่ามีวัฒนธรรมรักโรแมนติก 
 
วิธีเก็บข้อมูลข้างต้น เขาดูจากข้อมูลเกี่ยวกับสังคมเหล่านั้นว่า สังคมนั้นมีการแสดงความรู้สึกเจ็บปวดส่วนตัว มีเพลงรักหรือนิทานรักๆ ใคร่ๆ ที่มีอารมณ์แบบโรแมนติกเลิฟ มีเรื่องการหนีกันไปอยู่กินโดยพ่อแม่ สังคมไม่รับรู้ มีข้อมูลยืนยัยการมีอยู่ของความรักแบบรักใคร่หนุ่มสาว ตามที่เจ้าของวัฒนธรรมยืนยันเอง หรือตามที่นักมานุษยวิทยายืนยันว่ามีโรแมนติกเลิฟ 
 
ข้อค้นพบทางสถิติง่ายๆ ชี้ว่า ทุกเขตวัฒนธรรมในโลก ทุกทวีป มีรักโรแมนติกในร้อยละที่สูงถึงเกือบ 80% ขึ้นไป ที่สูงสุดคือ ที่มีมากคือเอเชียกลาง หมู่เกาะแฟซิฟิค เมดิเตอร์เรเนียน คือเกิน 93% ที่น้อยสุกคือในแอฟริกา แต่มีบางสังคมเช่นกันที่ ไม่พบเนื้อหาส่วนใดที่มีการบันทึกเกี่ยวกัรักโรแมนติกเลย แต่มีเพียง 11.5% แต่บางที อาจเป็นเพราะสังคมเหล่านี้ปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างมิดชิด จึงไม่มีข้อมูล หรือบางที นักมานุษยวิทยาเองไม่สนใจ จึงไม่ได้เก็บข้อมูลเหล่านี้มา
 
บทความชิ้นเดียวกันนี้ยังยกตัวอย่างงานเขียนที่ให้รายละเอียด เช่น หนังสือชื่อ นิสา (Nisa) ที่ศึกษาชาวคุง หรือที่เราเรียกบุชแมน มีเรื่องรักใคร่ในความเข้าใจแบบของเขาเองเต็มไปหมด หรือเรื่องสมันราชวงศ์ Sung (928-1233) ความรักในนิทานเรื่อง เทพธิดาหยก (Jade Goddess) ที่หนุ่มคนหนึ่งผิดหวังความรักจากหญิงสาวที่หมั้นหมายแล้ว ท้ิงอาชีพการงานทั้งหมดไปกับความเศร้า ภายหลังพบว่า คู่รักขอบเธอก็เป็นแบบเดียวกัน 
 

อย่างไรก็ดี การแสดงออกซึ่งความรักแบบนี้ในแต่ละสังคมต่างกัน เช่นนิทานกลอน "ส่งชู้สอนสาว" ของชาวไทดำในเวียดนาม ที่ถูกอ่านถูกตีความแบบหนึ่งในสมัยก่อน แต่ในสมัยคอมมิวนิสต์ ก็นำวรรณกรรมนี้มาตีความอีกแบบว่าสะท้อนสำนึกความขัดแย้งทางชนชั้น ส่วนของไทย ลิลิตพระลอ วรรณกรรมเก่าแก่ก็มีรักโรแมนติกเป็นแกนกลาง เพียงแต่ก็ถูกตีความอีกแบบ ว่ารักโรแมนติกเป็นความลุ่มหลง เป็นสิ่งที่ไม่ดี

 
(4) เซ็กส์เพื่อชีวิตกับเซ็กส์เพื่อเซ็กส์
 
พูดกันมากว่า สังคมยุโรปตะวันตกสมัยวิคทอเรียนในศตวรรษที่ 19 กดทับเซ็กส์ แต่ฟูโกต์เถียงว่า ยุคนั้นไม่ได้กดทับเซ็กส์ แต่มันเปิดมากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่เซ็กส์ถูกเปิดเผยในแบบที่แตกต่างจากสมัยก่อน คือในภาษาแบบการแพทย์ แบบวิทยาศาสตร์ แบบจิตวิทยา แบบประชากรศาสตร์มากขึ้น เพื่อจัดการทิศทางของการพูดและปฏิบัติการเรื่องนี้ 
 
แต่เมื่อพูดถึงมากเข้า มันก็ควบคุมไม่ได้ เกิดการหลุดลอด เล็ดลอดไปของเรื่องราว และกลายป็นการเปิดให้เรื่องเซ็กส์บบต่างๆ รวมทั้งเรื่องคนรักเพศเดียวกัน เพศสัมพันธ์แบบใช้ความรุนแรง ใช้อุปกรณ์กระตุ้นต่างๆ งานเขียนเกี่ยวกับเซ็กส์แบบนี้ เกิดขึ้นมากมายในสมัยวิคทอเรียนเช่นกัน กลายเป็นว่าเซ็กส์ถูกพูดถึงมากขึ้น
 
ประวัติศาสตร์ของความใคร่หลังมียาคุม และไวอากร้า เพศสัมพันธ์จริงเปลี่ยนไปเป็น sex for sex's sake มากขึ้น คนคิดถึงเซ็กส์ที่อยู่นอกบริบทครอบครัวมากขึ้น (ดูวีดีโอ Sex: An Unnatural history 2011)
 
การที่รัฐไทยควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ ทั้งๆ ที่การคุมกำเนิดมีมานานแล้ว จึงดูเหมือนเป็นความล้าหลังของการคุมกำเนิด หากแต่ก็มองได้อีกมุมหนึ่งว่า การควบคุมนี้คือส่วนหนึ่งของการควบคุมแรงงาน ควบคุมวัยรุ่นให้ได้รับการฝึกฝนแรงงานอย่างเชื่องเชื่อ กันไม่ให้วัยรุ่นเตลิดไปกับความสุขส่วนตัวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน นี่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้้าง "ทุนมนุษย์เชื่องๆ" เข้าสู่ตลาดแรงงาน
 
เอกสารและวีดีโอแนะนำสำหรับการค้นคว้าต่อ
 
- Jankowiak, William R. and Fischer, Edward F. (1992.) "A Cross-Cultural Perspective on Romantic Love" Ethnology. 31(2): 149-155.
- Ryang, Sonia. (2006.) Love in Modern Japan: Its estrangement from self, sex, and society. London: Routledge.
- Foucault, Michel. (1978 [1976].) The History of Sexuality, volume I: An introduction. New York: Pantheon. 
- Sex: An unnatural history E01 (2011) (http://www.youtube.com/watch?v=KCFN8fHLjss&feature=youtube_gdata_player). Accessed on February 13, 2013.
- คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2554) วารสารสังคมศาสตร์ (ฉบับความรัก). 23(1-2).

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์