Skip to main content

แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 

ผมได้กลับมาโตเกียวอีกครั้งเมื่อสองวันก่อน (9 มีนาคม 2556) เพื่อมาเสนอผลงานวิชาการเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมใช้หากินในเวทีวิชาการนานาชาติมากว่าเรื่องประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ผมไปอยู่ในอีกซีกโลกทางวิชาการ แต่เอาเถอะ พักเรื่องวิชาการไปหน่อย แล้วไปหาอะไรดื่มกินกันอีกสักข้อเขียนหนึ่ง

 

เมื่อวาน หลังจากตรากตรำทำงานหามรุ่งหามค่ำมาสองคืนก่อนหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็ตรากตรำทำงานหามรุ่งหามค่ำกับงานอื่นๆๆๆ เมื่อตัดใจได้ว่าควรจะส่งงานได้แล้ว ก็จึงส่งไปในรูปแบบที่ตนเอง “พอรับได้” 

 

ส่งงานแล้วจะให้ทำอะไร ถ้าไม่ใช่หาราเมนสไตล์เกียวโตอร่อยๆ กิน ซึ่งน่าจะได้มาจากกลิ่นน้ำแกงใสแต่เข้มข้นด้วยปลาแห้งชิ้นหนาที่ซอยจนบางราวกระดาษ ซึ่งมักประดับโรยหน้าโอโคนามิยากิ (แปลว่า ผักจับฉ่ายนาบกะทะ) แต่ไม่ปรากฏเนื้อตัวปลาในน้ำซุปราเมนช้ั้นดี ถ้าไม่ใช่ออกไปเดินรับลมหนาวเคล้าสายฝนยามต้นฤดูใบไม้ผลิ (อุณหภูมิ 13 เซลเซียส) ถ้าไม่ใช่ไปเดินดูผู้คนที่พูดจาภาษาถิ่น ถ้าไม่ใช่หาอะไรดื่มเบาๆ เคล้าความหนาวเย็นที่ไม่ถึงระดับเย็นยะเยือก (ใครที่เรียนหนังสือกับผม อย่าเขียนประโยคยาวๆ แบบนี้ส่งงานผมมาเด็ดขาดนะครับ เอาไว้เรียนจบแล้วค่อยเขียนประโยคยาวๆ)

 

สุดท้าย เมื่ออ่ิมท้องแล้ว ยามบ่ายวานนี้ ก็เดินไปหลบฝนไปหาที่คลายหนาวไปจนสิ้นสุดที่ร้านขายสุราแห่งหนึ่ง ไม่ได้ซื้อ "สุรา" ในความหมายเฉพาะเจาะจง แต่หาซื้อไวน์ เพราะรู้จากการมาเยือนคราวก่อนๆ แล้วว่า ไวน์ราคา "ปกติ" ของญี่ปุ่น ที่ถูกสุดราคา 100 บาทไทย (มีจริงๆ) ไปจนถึงแค่ 2,000 เยน (ราว 600 บาท) ซึ่งแค่นี้ทางร้านก็ตื่นเต้นล็อคตู้ไม่ให้หยิบชมเล่นแล้ว แต่ที่ราคาสูงลิ่วจริงคือขวดละ 20,000 เยน (ราว 6,000 บาท) ที่แช่ตู้เย็นลงกลอนไว้แล้วห่อด้วยพลาสติกแร็บ (ไม่รู้ทำไม)

 

ตรรกะของไวน์ในร้านไวน์-เหล้าที่เกียวโตก็น่าสนใจ ของถูก (100, 150 ถึง 300 บาท) ใส่กะบะบ้าง วางตรงระดับเพียงตาบ้าง วางอยู่กลางร้านบ้าง แต่ของราคาแพงกลับวางอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา หรือไม่ก็เข้าถึงยากด้วยการลงกลอน แต่ถ้าในอเมริกา เขาจะไม่ได้วางอย่างนี้ ของถูกวางต่ำกว่าระดับสายตา ของแพงปานกลางวางระดับสายตาไปจนถึงของราคาสูงวางระดับเหนือสายตา

 

ไม่ต้องคิดอะไรมาก อากาศหนาวแถมฝนพรำยามบ่าย แถมเพิ่งปั่นงานที่นั่งเขียนตั้งแต่บนเครื่องบินเสร็จส่งไป จะให้ทำอะไรได้มากกว่านี้ สู้ซื้อไวน์ราคา 300 บาทไทย (ซึ่งไวน์ระดับนี้ หากซื้อหาในเมืองไทยก็ต้องราวๆ 600-800 บาทไทย) กลับมานั่งชิลที่โรงแรมไม่ดีกว่าหรือ ว่าแล้วก็ถอยมา 2 ขวด (ถึงขณะที่เขียนนี้ผ่านไป 2 ชั่วโมง แก้หนาวกับไวน์แดงจากสเปนหมดไปแล้วครึ่งขวด) 

 

ส่วนหนึ่งของความยุ่งยากในเกียวโตคือ การหลีกเลี่ยงที่จะเสียเงินไปกับไวน์ราคายุติธรรม

 

ตกเย็น เพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของไวน์ราคายุติธรรม ประกอบกับแดดเริ่มออกหลังฝนตกยามบ่ายจนต้องหาเหตุกลับมาจิบไวน์หลบฝนในโรงแรม ก็คิดได้ว่า ควรออกไปเดินแล้วหาอะไรอร่อยๆ ในเกียวโตกิน 

 

ไปเดินหาอาหารในตำนานส่วนตัว ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ น่าจะต่ำกว่า 10 เซลเซียส บวกลมแรงแล้ว อุณหภูมิคงต่ำลงไปอีกจนถึง 5 ถึง 3 เซลเซียส ที่จริงตั้งใจไปหาร้านราเมนในตำนานของใครหลายๆ คน ร้านนี้สืบทอดตำนานมาจากเพื่อนอาจารย์ญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่พาไปกินเมื่อสาม-สี่ปีก่อน คราวนี้ไปเกียวโตทีไร ก็จะต้องไปเดินหาร้านนี้ แล้วก็เจอทุกที จนจำได้ว่า ปากทางเข้าเป็นร้านไอครีมยี่ห้อดังเจ้าหนึ่ง 

 

แต่คราวนี้ได้ไปพักในย่านอีกย่านหนึ่ง ไม่คุ้นเคยมาก่อน เดินเรื่อยเปื่อยไปทางถนน Sanjo ข้ามแม่น้ำ Kamo ข้ามห้วยเล็กสายหนึ่ง เจอสามแยกแล้วเลี้ยวซ้าย เดินลงไปทางฝต้พักหนึ่ง แวะร้านขายเครื่องเขียนที่เคยมาหลายปีก่อน จากนั้นก็เดินหาร้านราเมนต่อ แต่หาไม่เจอ หิวแล้วและหนาวลงเรื่อยๆ

 

เลยหันทิศทางเดินกลับมาทางที่พัก เดินตามทางริมห้วยเล็กๆ ที่่มีร้านอาหารเรียงรายเต็มไปหมด แล้วทันใดนั้น ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ต้องเป็นย่านนี้แน่เลยที่เคยเจอร้านอาหารในตำนานส่วนตัว

 

มาหยุดอยู่ที่หน้าร้านแห่งหนึ่ง ป้ายร้านมีรูปปลาหมึกยักษ์สีแดง ยื่นหน้าเข้าไปดู คิดว่าต้องเป็นร้านนี้แน่ๆ ที่เคยหลงทางมากับเพื่อนคนหนึ่ง แล้วพบร้านนี้เข้า แต่หลายปีต่อมาพยายามหาทีไรก็ไม่เจอ แต่วันนี้มาเจออีกครั้งเข้าจนได้

 

ร้านนี้ไม่มีเมนูภาษาอังกฤษเลย คนกินมีแต่คนญี่ปุ่นหรือไม่ก็คนต่างชาติที่รู้จักร้านนี้ดี ร้านมีที่ปรุงอาหารอยู่กลางร้านเลย รายล้อมด้วยที่นั่งเป็นเคาท์เตอร์รอบๆ บริเวณที่ปรุงอาหาร ในร้านมีคนทำงานอยู่สองคน หญิงหนึ่งชายหนึ่ง น่าจะเป็นแม่-ลูกกัน พอบอกว่าเคยมาและมาหาร้านนี้ถึงสามปีแล้ว เขาดีใจมาก

 

อาหารที่เด็ดมากของร้านนี้ เรียกว่าใครเข้ามาก็ต้องกินคือ Tamako Yaki (ทีแรกไม่รู้ว่าเรียกอะไร เพื่อนอาจารย์ที่เคยอยู่เกียวโตบอกชื่อให้) แต่วันนี้เห็นคนขายทำเต้าหู้ชุปแป้งบางๆ ทอดแล้วเสิร์ฟในน้ำซ้อส เต้าหู้นุ่มมาก ไม่รู้เขาใช้มือหยิบมันคลุกแป้งแล้วใส่ได้อย่างไร เพราะมันนุ่มมาก เรียกว่าต้องใช้ตะเกียบประคองตักใส่ปาก

 

ส่วน Tamako Yaki นั้นต่างจาก Tako Yaki ทั่วไปตรงที่ อาหารจานนี้มีแต่ไข่ล้วนๆ แล้วบรรจงวางปลาหมึกลงไปในหลุมเท่าหลุมขนมครกที่เต็มไปด้วยไข่ เหมือนขนมครกไข่ไส้ปลาหมึก ได้ไข่นุ่มๆ กลมๆ เสิร์ฟเป็นแนวมาสองแถวสวยงามบนถาดสีแดง

 

ในที่สุดก็เจอร้านในตำนานส่วนตัว แต่วันหลังต้องดั้นด้นพิชิตร้านอาหารตามลายแทงส่วนตัวให้ครบ ก่อนจะดั้นด้นสร้างตำนานใหม่ๆ ให้ตัวเองต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ