Skip to main content

เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี

แต่ที่จริงก็นึกเสียดายอยู่บ้างว่า วัฒนธรรมการวิจารณ์ที่ศาสตราจารย์ทางมนุษยศาสตร์ไทยท่านหนึ่งนามเจตนา นาควัชระพยายามสร้างขึ้นนั้น มาได้แค่เพียงผ่านวิธีนินทากาเล ไม่ใช่ด้วยบทความทางวิชาการถกเถียงกัน หรือไม่แม้แต่จะวิจารณ์บอกกล่าวกันซึ่งหน้า แต่ก็นั่นแหละ สังคมที่ยังไม่พร้อมเผชิญหน้ากันอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องอยู่ด้วยการขัดเกลากันลับหลังไปอย่างนี้ 
 
ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะถกเถียงด้วยคือ สังคมไทยขาดนักวิชาการหอคอยงาช้าง จึงไม่สามารถนำเสนอความรู้อะไรให้โลกวิชาการสากลได้ หรือจะให้พูดด้วยสำนวนภาษาแดกดันแบบในเฟซบุ๊กหรือเว็บบล็อกหน่อยก็คือ 
 
หากคุณไม่ต้องการหอคอยงาช้าง คุณไม่มีทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญาจากพื้นถิ่นให้กลายเป็นภูมิปัญญาของโลกได้หรอก หากคุณไม่สนทนากับโลกด้วยภูมิปัญญาของคุณเอง คุณไม่มีทางทำให้โลกนี้รู้จักคุณได้หรอก แล้วหากคุณไม่เข้าใจโลกสากล คุณจะเอาอะไรไปคุยกับเขาแล้วให้เขาฟังคุณได้ ผมเลยอยากจะบอกกล่าวจากเก้าอี้เท้าแขนบนหอคอยงาช้างว่า ทฤษฎี ศัพท์แสง การวิพากษ์ และความ(หลัง)สมัยใหม่ที่(ไม่จำต้อง)เป็นตะวันตก เป็นอย่างไร มีข้อดีของมันที่ควรนำมาพิจารณาอย่างไร ควรมิควรก็ควรรู้ทัศนะแบบนี้ไว้บ้างนั่นแหละ
 
     (1) บ้าทฤษฎี
 

ใครที่รู้จักผม คงพอรู้บ้างว่านอกจากสอนหนังสือ ทำวิจัย เขียนงานวิชาการหนัก ๆ และงานบริหารของคณะ มหาวิทยาลัย และเครือข่ายทางวิชาการของสาขาวิชาตนเองแล้ว ผมพอจะทำอะไรในด้านของการให้บริการแก่สังคมและกระทั่งร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมอะไรอยู่บ้างเช่นกัน ไม่ว่าจะกับกลุ่มนักวิชาการสันติประชาธรรม ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษา-พฤษภา 53 และคณะรณรงค์แก้ไขม.112 รวมทั้งด้วยการนำเสนอประเด็นวิพากษ์สังคมบ้าง การเมืองบ้าง ผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และเฟซบุ๊กก็เคยเล่นมาแล้ว 

หากสิ่งที่ทำเหล่านี้ยังทำให้ผมถูกเรียกว่า อยู่แต่บนหอคอยงาช้าง ไม่นำพากับเรื่องราวสาธารณะ ก็ไม่ทราบว่าจะว่าอย่างไรแล้ว เว้นเสียแต่ว่าคุณจะไม่อยากรับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคมที่ผมเข้าร่วมอยู่ด้วย เพราะเนื้อหาไม่เข้าหูคุณ หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ ก็ช่างเถอะ 

แต่ในการทำงานทางวิชาการ รวมทั้งการนำเสนอความคิดต่อสังคม ผมยืนยันการใช้ทฤษฎี ไม่ใช่เพียงเพราะแค่ถูกฝึกมาอย่างนั้น แต่เพราะเห็นว่าทฤษฎีมีข้อได้เปรียบหลายประการ ดังจะกล่าวต่อไป
 
หากจะให้พูดง่าย ๆ ทฤษฎีเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ยุ่งเหยิง ทฤษฎีช่วยจัดระบบความยุ่งเหยิงเหล่านั้นให้เข้าใจได้ เราจะเริ่มจากทฤษฎีอะไรก็ได้ แต่นักวิจัยภาคสนามอย่างโบนิสลาฟ มาลินอฟสกี ชาวโปแลนด์ที่หลงใหลนวนิยายของนักอาณานิคมอังกฤษ จนกลายไปเป็นนักมานุษยวิทยาที่วางรากฐานให้การวิจัยภาคสนามกล่าวไว้ว่า นักวิจัยภาคสนามต้องมีทฤษฎี และควรเริ่มจากทฤษฎีที่ใหม่สักหน่อย หรือทฤษฎีที่มีการถกเถียงถึงกันมากสักหน่อย 
 
ที่ต้องเลือกที่ใหม่สักหน่อย ผมคิดว่าเพื่อที่ว่าจะยังสื่อสารกับโลกสากลปัจจุบันได้ หรือไม่ก็เพื่อที่จะไม่เข้าใจอะไรผิดพลาดแบบที่ทฤษฎีเก่า ๆ ได้ดำเนินมา อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ทฤษฎีใหม่ ๆ มากมาย ก็ถูกรื้อฟื้นพัฒนาจากทฤษฎีเก่า ๆ ทั้งนั้นแหละ ผมเรียนมาจนบัดนี้ยังไม่เห็นอะไรใหม่ถอดด้ามแบบที่ยังไม่เคยถูกคิดกันมาก่อนเลย เพียงแต่บางสมัย ทฤษฎีแบบหนึ่งครอบงำมากเกินไปจนทำให้มองไม่เห็น ไม่เข้าใจมิติอื่น ๆ ที่ทฤษฎีแบบอื่น ๆ สนใจ จึงมีการไปปัดฝุ่นหยิบเอาทฤษฎีเก่า ๆ ที่แหวกแนวทางที่ครอบงำอยู่ มาพัฒนาใหม่
 
จากมุมมองทางมนุษยศาสตร์ ซึ่งความรู้ของผมเอนเอียงไปทางนั้นมากกว่า ทฤษฎีเป็นสิ่งที่ค่อนข้างถูกปฏิเสธ ไม่ได้รับการยอมรับ หากแต่นักมานุษยวิทยาเป็นนักสังคมศาสตร์ที่เป็นมนุษยศาสตร์เกินไปในสายตานักสังคมศาสตร์สาขาอื่น ๆ แต่ก็เป็นวิทยาศาสตร์เกินไปในสายตานักมนุษยศาสตร์ฮาร์ทคอร์ แต่เพื่อไม่ให้ตกลงไปสู่รายละเอียดเฉพาะถิ่นเฉพาะที่อย่างตายตัวจนสนทนากับใครแทบจะไม่ได้เลย ทฤษฎี ซึ่งเป็นหลักสากลบางอย่าง จะช่วยให้เรื่องราวเฉพาะเจาะจงจากที่หนึ่ง สามารถพูดคุยถกเถียงกับเรื่องราวเฉพาะเจาะจงจากที่อื่น ๆ ได้
 
ทฤษฎีมีระดับของภาษานามธรรมที่แตกต่างกัน หากขึ้นไปถึงระดับที่สามารถคุยกันได้ข้ามสาขาวิชา เช่น สังคมวิทยาคุยกับเศรษฐศาสตร์ หรือไกลกว่านั้นคือการคุยข้ามศาสตร์ เช่น มนุษยศาสตร์ถกเถียงกับวิทยาศาสตร์ นั่นตือการทำให้ทฤษฎีเป็นภาษาของการสื่อสารกันได้อย่างกว้างขวาง ทฤษฎีจึงเป็นทั้งข้อเสนอจากการเข้าใจปรากฏการณ์ใด ๆ หรือเรื่องราวใด ๆ และเป็นภาษากลางของการทำงานวิชาการ
 
แต่ "ทฤษฎี" ก็ไม่ได้มีไว้ให้ยึดมั่น ถ้ายึดมั่นจะกลายเป็น "ทิฏฐิ" ที่จริงผู้รู้บาลี-สันสกฤตย่อมทราบดีว่า คำว่าทฤษฎีกับคำว่าทิฏฐิเป็นคำเดียวกัน แต่ภาษาไทยเอามาทำให้เป็นคนละคำกัน แน่นอนว่าการเริ่มต้นด้วยทฤษฎีย่อมต้องมี(อ)คติแบบใดแบบหนึ่ง และก็ย่อมจำกัดมุมมองของการเข้าใจโลกไปทางใดทางหนึ่ง แต่ก็เพราะอย่างนั้นนั่นแหละ ที่เราจะต้องวิพากษ์ทฤษฎีก่อน จะต้องเข้าใจขีดจำกัด ขอบเขตของความรู้ของเราก่อน ความรู้ทางวิชาการจึงเป็นความรู้ในขอบเขตจำกัดหนึ่งทั้งสิ้น 
 
ในแง่นี้ นักสังคมศาสตร์ที่อยากจะเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งนั้น ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด นั่นคือนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบอกเสมอว่า "สมมุติว่าทุกสิ่งไม่เปลี่ยนแปลง" คำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์จึงใกล้เคียงความจริงที่สุดในขอบเขตที่จำกัดไว้เท่านั้น ความรู้ของนักสังคมศาสตร์และนักมนุษยศาสตร์อื่น ๆ ก็เช่นเดียวกันนั้น
 
ที่จริงธรรมเนียมการใช้ทฤษฎีได้เปรียบการพยายามไม่ใช้อยู่เหมือนกัน เนื่องจากการใช้ทฤษฎีก็จะต้องตรวจสอบทฤษฎี เข้าใจตื้นลึกหนาบาง หรือเข้าใจขีดจำกัดของตนเองก่อน ต่างจากการพยายามไม่ใช้ทฤษฎี ที่หลายต่อหลายครั้งก็มักตกลงไปในกรอบทฤษฎีแบบใดแบบหนึ่งโดยไม่ทันได้ระวังตัว การไม่ใช้ทฤษฎีจึงอาจกลายเป็นการหลอกตนเอง หรือไม่เข้าใจกับดักที่ตนเองวางไว้ก็ได้ ดังนั้น การใช้ทฤษฎีจึงมีแนวโน้มที่จะวิพากษ์ตนเองได้และถูกวิพากษ์ได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมามากกว่าการหลบตนเองอยู่หลังกองข้อมูลที่อ้างว่าไม่มีทฤษฎีกำกับ
 
แต่หากยึดตามครูบาอาจารย์ทางมานุษยวิทยาสายมนุษยศาสตร์อย่างคลิฟเฟิร์ด เกียร์ซ ทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์ไม่ใช่ข้อค้นพบที่ยิ่งยวด ไม่ใช่ข้อค้นพบที่สามารถต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ หากแต่เป็นข้อเสนอหนึ่งที่เข้าท่าที่สุดเท่าที่ผู้ศึกษาจะเสนอได้ในขณะนั้น ทฤษฎีในแบบมานุษยวิทยาตามข้อเสนอนี้จึงเป็นการนำความรู้ที่ได้จากพื้นที่เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ไปสนทนา ถกเถียงกับความรู้ที่มีการเสนอมาก่อนหน้าแล้ว ไม่ใช่การศึกษาเพื่อยืนยันข้อค้นพบเดิม ๆ หรือไม่ใช่เพียงกรณีศึกษาหนึ่งในกรอบทฤษฎีหนึ่ง แต่เป็นการนำเอาเรื่องราวเฉพาะเจาะจง ไปแลกเปลี่ยนกับทฤษฎีที่เป็นนามธรรม 
 
ต่อคำถามที่ว่า มีคำตอบที่ยุติได้อยู่ที่ไหนหรือไม่ เกียร์ซตอบด้วยนิทานของชนพื้นเมืองในอเมริกาว่า "มีคนอังกฤษซึ่งรู้มาว่า ชาวอินเดียนเชื่อว่าโลกวางอยู่บนฐานอะไรสักอย่าง ที่วางอยู่บนหลังช้าง แล้วช้างยืนอยู่บนหลังเต่า เขาเลยถามต่อว่า แล้วเต่าล่ะ ยืนบนอะไร เต่าอีกตัวหนึ่งเหรอ ชาวอินเดียนตอบว่า ถัดจากเต่าแล้ว ก็จะเป็นเต่าอีกตัวหนึ่ง ต่อไปอย่างนั้นเรื่อยๆ" ทฤษฎีจึงไม่ใช่คำตอบที่สิ้นสุดตายตัว ทฤษฎีมีไว้ให้ถกเถียงด้วย ไม่ใช่ให้ยำเกรงหรือบูชา
 
โลกวิชาการก็แค่นี้แหละครับ ก็เถียงกันไปกันมา แต่หากไม่มีทฤษฎี ก็ไม่ทราบว่าจะคุยกันข้ามพื้นที่ ข้ามสาขาวิชา ข้ามโลกของศาสตร์ต่างๆ อย่างไร ทฤษฎีไม่ได้มีไว้อวดอ้างความซับซ้อน ไม่ได้มีไว้ข่มคนไม่รู้ทฤษฎี แต่มีไว้นำทาง มีไว้ให้รู้ข้อจำกัด มีไว้ให้สามารถคุยกันได้ มีไว้ให้ล้มล้าง ตรวจสอบทบทวน เพราะฉะนั้น อย่ารังเกียจทฤษฎีนักเลยครับ แม้ว่าจะไม่ชอบหน้าคนชอบใช้ทฤษฎีก็เถอะ 
 
เขียนมาอย่างยืดยาว อธิบายได้เพียงส่วนเดียว ยังเหลืออีก 3 ส่วน เอาไว้มีเวลามาเล่าต่อก็แล้วกันครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี