Skip to main content

ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" เพื่อนยังบอกอีกว่า "มันเกิดขึ้นทุกวัน ตอนเช้ามักมีรายงานการฆ่าตัวตายบนทางรถไฟ ที่นั่น ที่นี่" 

เขาเล่าต่อว่า "บางคนเสนอว่าให้เอากระจกมาติดไว้ตรงใกล้ๆ รางรถไฟ เพราะเชื่อว่า หากคนเห็นหน้าตนเองแว่บนึง เขาอาจตัดสินใจใหม่"

นี่ทำให้นึกถึงหนังสือ Suicide ของ Emile Durkheim ที่หาเงื่อนไขทางสังคมให้แก่การฆ่าตัวตาย ซึ่งดูเผินๆ น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นส่วนตัว เป็นปัจเจกนิยมสุดๆ แต่เดอร์ไคม์พบว่า สังคมแคทอลิก ซึ่งมีความเชื่อมแน่นทางสังคมสูง จึงมีแนวโน้มของคนฆ่าตัวตายต่ำ ต่างจากสังคมโปรแตสแตนท์ ที่ให้ผลตรงกันข้าม ข้อสรุปนี้จะใช้ได้กับสังคมญี่ปุ่นหรือไม่ ผมไม่รู้ มีการศึกษาการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นหรือไม่ ผมไม่รู้ 

"รู้สึก" ได้แต่เพียงว่า การตัดสินใจชั่ววูบเพื่อฆ่าตัวตายบนทางรถไฟเกิดได้ง่ายจริงๆ และที่จริง แม้ไม่ตั้งใจตาย คนก็น่าจะตายด้วยรถไฟง่ายจริงๆ เพราะสถานีรถไฟญี่ปุ่นมีทั่วไปหมดในเมืองใหญ่ๆ และแต่ละสถานีก็แทบไม่มีคนดูแลเลย เวลารถเข้าหรือออกถี่มาก แต่ละสถานีจึงไม่มีคนมาคอยดูไม่ให้ใครยืนชิดจนอาจตกลงบนราง

จะมีก็แต่สถานีของ "ชินคันเซ็น" รถความเร็วสูง ซึ่งแยกต่างหากออกมาจากสถานีรถทั่วๆ ไปเท่านั้น ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแล อย่างนั้นก็เถอะ แม้จะมีรั้วกั้นบ้าง แต่จริงๆ แล้วรางก็เปิด เอาเข้าจริงคนก็สามารถกระโดดลงไปให้ชินคันเซ็นชนได้เหมือนกัน

จึงทำให้นึกในทางกลับกันว่า แทนที่คนจะอยากตายมากขึ้น ผมกลับคิดว่าคนต้องระวังตัว ต้องรับผิดชอบตนเองและลูกเด็กเล็กแดงมากทีเดียว นึกถึงเวลาดึกดื่นค่ำคืน การตกลงไปบนรางรถไปเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นใครคิดจะทำสักที

ในเวลาเพียง 15 วันในญี่ปุ่น ซึ่งยาวนานที่สุดเท่าที่ผมเคยไปญี่ปุ่นมา หลายครั้งที่ผมเห็นเด็กอายุสัก 12-13 ปีเดินทางโดยลำพัง อาจมากับพี่น้องหรือกับเพื่อน เด็กพวกนี้และพ่อแม่ของพวกเขาจะต้องมีความเข้าใจต่อระบบต่างๆ เป็นอย่างดี และต้องรู้จักรับผิดชอบชีวิตตนเองเป็นอย่างดี 

คนที่นั่นยังต้องคิดรับผิดชอบต่อไปอีกว่า หากโดดลงไป ระบบรถไฟทั้งประเทศ หรือในถิ่นหนึ่งที่เส้นทางรถไฟผูกเกี่ยวกัน จะได้รับผลกระทบไปมากขนาดไหน คิดดูว่า เฉพาะโอซากา ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่น้องๆ โตเกียว มีชินคันเซ็นเข้าแทบจะทุก 5 นาที ถ้าเกิดใครกระโดดลงไป ระบบจะต้องจัดการอย่างไร

เพื่อนชาวญี่ปุ่นผู้รอบรู้ตอบว่า "เขามีระบบกำจัดศพอย่างรวดเร็ว ศพจะต้องถูกจัดการในทันทีในเวลาไม่กี่นาที เพื่อที่รถไฟจะได้เดินต่อ"

ผมไม่กล้าโดดลงไปให้รถไฟทับแน่ แต่นึกถึงว่ายังเคราะห์ดีที่ไม่ได้เห็นคนกระโดดลงไปบนทางรถไฟต่อหน้าต่อตา และนึกต่อไปว่า หากใช้ระบบนี้กับประเทศไทย คงต้องระวังการฆาตกรรมมากกว่าการอัตวินิบาตกรรมบนรางรถไฟ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด