Skip to main content

ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" เพื่อนยังบอกอีกว่า "มันเกิดขึ้นทุกวัน ตอนเช้ามักมีรายงานการฆ่าตัวตายบนทางรถไฟ ที่นั่น ที่นี่" 

เขาเล่าต่อว่า "บางคนเสนอว่าให้เอากระจกมาติดไว้ตรงใกล้ๆ รางรถไฟ เพราะเชื่อว่า หากคนเห็นหน้าตนเองแว่บนึง เขาอาจตัดสินใจใหม่"

นี่ทำให้นึกถึงหนังสือ Suicide ของ Emile Durkheim ที่หาเงื่อนไขทางสังคมให้แก่การฆ่าตัวตาย ซึ่งดูเผินๆ น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นส่วนตัว เป็นปัจเจกนิยมสุดๆ แต่เดอร์ไคม์พบว่า สังคมแคทอลิก ซึ่งมีความเชื่อมแน่นทางสังคมสูง จึงมีแนวโน้มของคนฆ่าตัวตายต่ำ ต่างจากสังคมโปรแตสแตนท์ ที่ให้ผลตรงกันข้าม ข้อสรุปนี้จะใช้ได้กับสังคมญี่ปุ่นหรือไม่ ผมไม่รู้ มีการศึกษาการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นหรือไม่ ผมไม่รู้ 

"รู้สึก" ได้แต่เพียงว่า การตัดสินใจชั่ววูบเพื่อฆ่าตัวตายบนทางรถไฟเกิดได้ง่ายจริงๆ และที่จริง แม้ไม่ตั้งใจตาย คนก็น่าจะตายด้วยรถไฟง่ายจริงๆ เพราะสถานีรถไฟญี่ปุ่นมีทั่วไปหมดในเมืองใหญ่ๆ และแต่ละสถานีก็แทบไม่มีคนดูแลเลย เวลารถเข้าหรือออกถี่มาก แต่ละสถานีจึงไม่มีคนมาคอยดูไม่ให้ใครยืนชิดจนอาจตกลงบนราง

จะมีก็แต่สถานีของ "ชินคันเซ็น" รถความเร็วสูง ซึ่งแยกต่างหากออกมาจากสถานีรถทั่วๆ ไปเท่านั้น ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแล อย่างนั้นก็เถอะ แม้จะมีรั้วกั้นบ้าง แต่จริงๆ แล้วรางก็เปิด เอาเข้าจริงคนก็สามารถกระโดดลงไปให้ชินคันเซ็นชนได้เหมือนกัน

จึงทำให้นึกในทางกลับกันว่า แทนที่คนจะอยากตายมากขึ้น ผมกลับคิดว่าคนต้องระวังตัว ต้องรับผิดชอบตนเองและลูกเด็กเล็กแดงมากทีเดียว นึกถึงเวลาดึกดื่นค่ำคืน การตกลงไปบนรางรถไปเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นใครคิดจะทำสักที

ในเวลาเพียง 15 วันในญี่ปุ่น ซึ่งยาวนานที่สุดเท่าที่ผมเคยไปญี่ปุ่นมา หลายครั้งที่ผมเห็นเด็กอายุสัก 12-13 ปีเดินทางโดยลำพัง อาจมากับพี่น้องหรือกับเพื่อน เด็กพวกนี้และพ่อแม่ของพวกเขาจะต้องมีความเข้าใจต่อระบบต่างๆ เป็นอย่างดี และต้องรู้จักรับผิดชอบชีวิตตนเองเป็นอย่างดี 

คนที่นั่นยังต้องคิดรับผิดชอบต่อไปอีกว่า หากโดดลงไป ระบบรถไฟทั้งประเทศ หรือในถิ่นหนึ่งที่เส้นทางรถไฟผูกเกี่ยวกัน จะได้รับผลกระทบไปมากขนาดไหน คิดดูว่า เฉพาะโอซากา ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่น้องๆ โตเกียว มีชินคันเซ็นเข้าแทบจะทุก 5 นาที ถ้าเกิดใครกระโดดลงไป ระบบจะต้องจัดการอย่างไร

เพื่อนชาวญี่ปุ่นผู้รอบรู้ตอบว่า "เขามีระบบกำจัดศพอย่างรวดเร็ว ศพจะต้องถูกจัดการในทันทีในเวลาไม่กี่นาที เพื่อที่รถไฟจะได้เดินต่อ"

ผมไม่กล้าโดดลงไปให้รถไฟทับแน่ แต่นึกถึงว่ายังเคราะห์ดีที่ไม่ได้เห็นคนกระโดดลงไปบนทางรถไฟต่อหน้าต่อตา และนึกต่อไปว่า หากใช้ระบบนี้กับประเทศไทย คงต้องระวังการฆาตกรรมมากกว่าการอัตวินิบาตกรรมบนรางรถไฟ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้