Skip to main content

ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" เพื่อนยังบอกอีกว่า "มันเกิดขึ้นทุกวัน ตอนเช้ามักมีรายงานการฆ่าตัวตายบนทางรถไฟ ที่นั่น ที่นี่" 

เขาเล่าต่อว่า "บางคนเสนอว่าให้เอากระจกมาติดไว้ตรงใกล้ๆ รางรถไฟ เพราะเชื่อว่า หากคนเห็นหน้าตนเองแว่บนึง เขาอาจตัดสินใจใหม่"

นี่ทำให้นึกถึงหนังสือ Suicide ของ Emile Durkheim ที่หาเงื่อนไขทางสังคมให้แก่การฆ่าตัวตาย ซึ่งดูเผินๆ น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นส่วนตัว เป็นปัจเจกนิยมสุดๆ แต่เดอร์ไคม์พบว่า สังคมแคทอลิก ซึ่งมีความเชื่อมแน่นทางสังคมสูง จึงมีแนวโน้มของคนฆ่าตัวตายต่ำ ต่างจากสังคมโปรแตสแตนท์ ที่ให้ผลตรงกันข้าม ข้อสรุปนี้จะใช้ได้กับสังคมญี่ปุ่นหรือไม่ ผมไม่รู้ มีการศึกษาการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นหรือไม่ ผมไม่รู้ 

"รู้สึก" ได้แต่เพียงว่า การตัดสินใจชั่ววูบเพื่อฆ่าตัวตายบนทางรถไฟเกิดได้ง่ายจริงๆ และที่จริง แม้ไม่ตั้งใจตาย คนก็น่าจะตายด้วยรถไฟง่ายจริงๆ เพราะสถานีรถไฟญี่ปุ่นมีทั่วไปหมดในเมืองใหญ่ๆ และแต่ละสถานีก็แทบไม่มีคนดูแลเลย เวลารถเข้าหรือออกถี่มาก แต่ละสถานีจึงไม่มีคนมาคอยดูไม่ให้ใครยืนชิดจนอาจตกลงบนราง

จะมีก็แต่สถานีของ "ชินคันเซ็น" รถความเร็วสูง ซึ่งแยกต่างหากออกมาจากสถานีรถทั่วๆ ไปเท่านั้น ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแล อย่างนั้นก็เถอะ แม้จะมีรั้วกั้นบ้าง แต่จริงๆ แล้วรางก็เปิด เอาเข้าจริงคนก็สามารถกระโดดลงไปให้ชินคันเซ็นชนได้เหมือนกัน

จึงทำให้นึกในทางกลับกันว่า แทนที่คนจะอยากตายมากขึ้น ผมกลับคิดว่าคนต้องระวังตัว ต้องรับผิดชอบตนเองและลูกเด็กเล็กแดงมากทีเดียว นึกถึงเวลาดึกดื่นค่ำคืน การตกลงไปบนรางรถไปเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นใครคิดจะทำสักที

ในเวลาเพียง 15 วันในญี่ปุ่น ซึ่งยาวนานที่สุดเท่าที่ผมเคยไปญี่ปุ่นมา หลายครั้งที่ผมเห็นเด็กอายุสัก 12-13 ปีเดินทางโดยลำพัง อาจมากับพี่น้องหรือกับเพื่อน เด็กพวกนี้และพ่อแม่ของพวกเขาจะต้องมีความเข้าใจต่อระบบต่างๆ เป็นอย่างดี และต้องรู้จักรับผิดชอบชีวิตตนเองเป็นอย่างดี 

คนที่นั่นยังต้องคิดรับผิดชอบต่อไปอีกว่า หากโดดลงไป ระบบรถไฟทั้งประเทศ หรือในถิ่นหนึ่งที่เส้นทางรถไฟผูกเกี่ยวกัน จะได้รับผลกระทบไปมากขนาดไหน คิดดูว่า เฉพาะโอซากา ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่น้องๆ โตเกียว มีชินคันเซ็นเข้าแทบจะทุก 5 นาที ถ้าเกิดใครกระโดดลงไป ระบบจะต้องจัดการอย่างไร

เพื่อนชาวญี่ปุ่นผู้รอบรู้ตอบว่า "เขามีระบบกำจัดศพอย่างรวดเร็ว ศพจะต้องถูกจัดการในทันทีในเวลาไม่กี่นาที เพื่อที่รถไฟจะได้เดินต่อ"

ผมไม่กล้าโดดลงไปให้รถไฟทับแน่ แต่นึกถึงว่ายังเคราะห์ดีที่ไม่ได้เห็นคนกระโดดลงไปบนทางรถไฟต่อหน้าต่อตา และนึกต่อไปว่า หากใช้ระบบนี้กับประเทศไทย คงต้องระวังการฆาตกรรมมากกว่าการอัตวินิบาตกรรมบนรางรถไฟ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี