Skip to main content

ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์

    (3) ช่างวิพากษ์
 
ในโลกวิชาการสังคมศาสตร์ไทย ผมเห็นการไม่ยอมรับการวิพากษ์ใน 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรก เป็นแบบที่จำกัดอยู่ในกรอบของระบบอาวุโส เป็นระบบอำนาจนิยมในวงวิชาการ อีกลักษณะหนึ่ง คับแคบไม่แพ้กัน คือแบบที่ปฏิเสธการวิพากษ์เพราะคิดว่าการวิพากษ์วางอยู่บนอคติ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
 
นักวิชาการไทยบางคนไม่ชอบที่คนรุ่นหลังต้องวิพากษ์คนรุ่นก่อนหน้า เพราะคิดว่า "นักวิชาการรุ่นใหม่ตั้งหน้าตั้งตาข้ามหัวเหยียบหัวนักวิชาการรุ่นเก่าตลอดเวลา" แต่ผมว่า การไม่วิพากษ์นักวิชาการรุ่นก่อนหน้าหลายกรณีมันเกินไปกว่าการเคารพกันในทางวิชาการ แต่แสดงลักษณะอำนาจนิยมหรืออย่างเบาคือระบบอุปถัมภ์ในวงวิชาการมากกว่า
 
การไม่ยอมรับการวิพากษ์อันเนื่องมาจากระบบอุปถัมภ์ในวงวิชาการนั้น บางที่ไปไกลขนาดที่ว่า "ลูกศิษย์อาจารย์เดียวกันไม่ควรวิจารณ์กันเอง" บางคนหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์คนอื่นเนื่องจาก "ไม่อยากเสียมิตรภาพ" หรือที่แย่กว่านั้นคือ กลัวว่าหากท่านๆ ผู้ใหญ่จะต้องมาเป็นผู้ประเมินผลงานทางวิชาการของตนแล้ว จะทำให้เกิดปัญหา หมดอนาคตไปได้
 
แต่แปลกที่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้ถือสาอะไรเป็นการส่วนตัวว่าผมหรือคนรุ่นใหม่คนไหนจะวิพากษ์ท่านเพื่อลบหลู่ดูถูกท่าน เพราะส่วนตัวผมเคารพท่านเหล่านั้น ชื่นชม อ่านงาน และได้เรียนรู้อะไรมากมายจากงานท่านเหล่านั้นเสมอๆ เห็นมีแต่พวกลูกศิษย์ของท่านๆ เหล่านั้นต่างหากที่ดูจะเดือดร้อนเกินครู
 
ผู้ใหญ่ทางวิชาการในวัฒนธรรมทางวิชาการแบบที่ผมเติบโตมา คือที่ธรรมศาสตร์ ไม่เคยมีปัญหากับการทำงานเชิงวิพากษ์ของผม ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าที่อื่นเป็นอย่างไร แต่ที่ที่ผมทำงานอยู่ ผมไม่รู้สึกถึงการข่มกันด้วยวัยวุฒิ หรือแม้แต่คุณวุฒิ ผมเริ่มทำงานที่ํรรมศาสตร์ไม่นานหลังจากที่เรียนจบจากที่นี่ อาจารย์ผมทุกท่านก็ปฏิบัติกับผมเสมือนผมเปลี่ยนสถานภาพจากลูกศิษย์ เป็นเพื่อนร่วมงานโดยอัตโนมัติทันที ครูบาอาจารย์ผมเปิดรับการวิพากษ์ การแลกเปลี่ยนความเห็น การเสนอความเห็น โดยไม่คำนึกถึงความอาวุโส วิถีนี้จึงเป็นวัฒนธรรมทางวิชาการที่ผมว่ายเวียนอยู่เป็นปกติวิสัย
 
จะว่่าไปก็มี "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการบางคนที่ไม่ชอบการวิพากษ์บ้างเหมือนกัน แบบเบาๆ ท่านก็ว่าผมเป็นคนก้าวร้าว อย่างแรงๆ ก็ว่าผมวิพากษ์แบบบ่อนทำลาย ไม่สร้างสรรค์ แต่นั่นยังไม่น่ารำคาญเท่าสำนวนประเภท "เอาแต่วิพากษ์น่ะ เสนอทางออกอะไรบ้าง" ผมนึกในใจ "ขอโทษ การวิพากษ์ก็เป็นงานนะครับ อยากได้ข้อเสนออะไร ก็ช่วยไปคิดทำงานต่อกันเอาเองบ้างสิครับ"
 
คนที่ทำงานวิชาการย่อมรู้ดีว่า การวิพากษ์เป็นจิตวิญญาณของการทำงานทางวิชาการ บางคนไม่ชอบการทำงานวิชาการเพราะการฝึกฝนแบบฝรั่งที่ต้องวิพากษ์ตลอดเวลา สำหรับผม ที่แย่ยิ่งกว่าการเกรงกลัวระบบอุปถัมภ์จนละเว้นการวิพากษ์คือ การไม่อ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเอง อ่านและอ้างแต่งานต่างประเทศ จึงไม่วิพากษ์นักวิชาการไทยด้วยกันเอง อย่างนี้แล้วจะทำให้งานวิชาการในโลกภาษาไทยก้าวหน้าได้อย่างไร
 
การรังเกียจการวิพากษ์ในอีกลักษณะหนึ่งมาจากเหตุผลที่ว่า การทำงานทางวิทยาศาสตร์ต้องปลอดอคติ จึงไม่ควรวิพากษ์สังคม เพราะการวิพากษ์สังคมจะมาจากฐานทางศีลธรรมและการเมืองบางอย่าง ว่าสังคมที่ดีกว่าเป็นอย่างไร นักวิชาการที่ฝึกฝนมาแบบ "วิทยาศาสตร์" มักตั้งข้อรังเกียจต่อการศึกษาเชิงวิพากษ์แบบนี้ 
 
ทัศนะแบบนี้เองมองข้ามไปว่า การละเว้นไม่ศึกษาสังคมเชิงวิพากษ์ก็วางอยู่บนอคติที่ว่า นักวิชาการยอมรับสภาพความเป็นไปของสังคมที่ศึกษาอยู่แล้ว การไม่ตัดสินเชิงคุณค่าก็คือการยอมรับเชิงคุณค่าแบบหนึ่ง เป็นการยอมรับว่าสัวคมที่เป็นอยู่สมควรดำเนินต่อไปอย่างนั้น ใหม่ควรเข้าไปวิพากษ์อะไร ไม่ควรคาดหวังสังคมที่ดีกว่่าอย่างไร การไม่วิพากษ์จึงไม่ใช่การปลอดอคติ แต่มีอคติของความเฉยเมย ไม่นำพาต่อความเหลื่มล้ำไม่เป็นธรรมในสังคม
 
มีครั้งหนึ่ง ผมตกใจที่นักวิชาการเพื่อนร่วมวิชาชีพบางคนไม่รู้จักการวิพากษ์แบบนี้ เขาคิดว่าการทำงานวิชาการคือการเข้าใจหรืออธิบายสังคมเท่านั่น แต่ที่จริงมีการศึกษาเชิงวิพากษ์เพื่อชีวิตที่ดีกว่าด้วย ที่ชัดเจนคือนักทฤษฎีสังคมกลุ่ม "ทฤษฎีวิพากษ์" (critical theory) หากใครอ่านหนังสือทฤษฎีสังคมอยู่บ้าง ย่อมผ่านหูผ่านตากับประโยคที่คาร์ล มาร์กซกล่าวไว้ทำนองที่ว่า "งานวิชาการไม่ได้เพียงต้องการอธิบายสังคม แต่งานวิชาการต้องเปลี่ยนโลกด้วย" 
 
หากคุณรังเกียจ "มาร์กซ" ผมผมว่าพระพุทธเจ้า นะบี จีซัส ขงจื่อ โมเสส หรือศาสดาท่านอื่นใดคงพูดอะไรทำนองนี้ไว้เช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นท่านเหล่านั้นจะเสนอทางออกให้มนุษยชาติได้อย่างไร
 
อย่างไรเสีย คุณจะเปลี่ยนโลกได้ก็ต้องรู้ก่อนว่าจะเปลี่ยนไปทางไหนดี นั่นคือ คุณต้องมียูโทเปีย หรือเฮ็ทเทอโรเปีย (พหุสังคมอุดมคติ) อยู่เป็นธง แล้ววิพากษ์ว่าสังคมปัจจุบันมันเลวร้ายอย่างไร แล้วจึงหาแนวทางที่จะบรรลุสังคมที่ดีกว่า ใช่เลยที่ว่า การวิพากษ์แนวนี้คล้ายคลึงกับศาสนา ที่ต้องมีการตัดสินเชิงคุณค่า การมีเป้าหมายเชิงศีลธรรมบางอย่าง
 
ที่จริงการวิพากษ์แนวนี้ทำให้วิชาการติดดิน เป็นการนำวิชาการไปสู่สาธารณะ เพราะต้องตอบโจทย์ของสังคม ต้องลงจากหอคอยงาช้าง ต้องคลุกคลีกับผู้คน เพียงแต่ว่า จุดตั้งต้นของการวิพากษ์แนวนี้มีฐานทางวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง นักวิพากษ์แนวนี้ต้องทั้งเข้าใจสังคมและต้องเสนอทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคม 
 
ด้วยการวิพากษ์ไม่ใช่หรือที่ทำให้โลกก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นก็คงมีแต่คนนิพพานแล้วมนุษย์ก็สูญพันธ์ุไปตั้งแต่เมื่อพันปีที่แล้ว หรือไม่ก็ฝึกจิตจนบินได้กันเต็มไปหมดเนื่องจากไม่มีใครวิพากษ์ความรู้โบราณที่มีฐานอยู่ที่ศาสนา หรือไม่อย่างนั้น เราคงยังควงขวานหิน แล่ปลาด้วยหินกระเทาะกันอยู่ 
 
หรือถ้าจะไม่วิพากษ์กัน ทำไมเราไม่รื้อฟื้นภูมิปัญญามนุษย์ยุคหิน เลิกกระทั่งการถลุงเหล็กหรือการทำกลองสำริด แล้วกลับไปเขวี้ยงหินใส่กันเสียเลยดีกว่าไหม เลิกขีดเขียนแล้วกลับไปเล่านิทานกันดีกว่าไหม หรือไม่ก็กลับไปปีนป่ายต้นไม้กันดีกว่าไหม
 
หากใครจะทำงานวิชาการแล้วไม่ทำงานวิพากษ์งานก่อนหน้าอย่างตรงไปตรงมา ไม่เดือดร้อนกับความอยุติธรรมของสังคมแล้ววิพากษ์สังคม ผมก็ไม่รู้ว่าจะยังเรียกตนเองว่านักวิชาการอยู่ได้อย่างไร 
 
แต่หากใครจะบอกว่า วัฒนธรรมวิชาการแบบไทยๆ ก็ต้องเป็นแบบอุปถัมภ์ เป็นแบบปลอดอคติหม่วิพากษ์สังคม ผมก็จะขอถอนสัญชาติทางวิชาการของผมเสีย ส่วนใครจะตั้งหน้าตั้งตาต่อต้านการวิพากษ์ของผมทั้งที่ลับและที่แจ้ง ทั้งเอ่ยชื่อตรงๆ หรือไม่เอ่ยชื่อ ก็แล้วแต่เขา ตามสะดวก เพราะผมไม่ได้มีหน้าที่ไปตั้งด่านตรวจจับทัศนะคับแคบทางวิชาการเหล่านั้น

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้