Skip to main content

ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)

สมัยผม ในต้นทศวรรษ 2530 โรงอาหารเศรษฐฯ มธ. คือพื้นที่ทางปัญญานอกห้องเรียนที่สำคัญของชาวธรรมศาสตร์ ที่เรียกโรงอาหารเศรษฐฯ เพราะสมัยนั้นโรงอาหารอื่นไม่ได้มีแต่ที่คณะสังคมฯ แต่ยังมีร้านอาหารเล็กๆ คณะนิติฯ คณะบัญชีฯ และข้างโรงยิมฯ ร้านเล็กๆ พวกนี้อาหารอร่อย แต่มักแน่นขนัด ต้องเตรียมตัวจัดเวลาดีๆ ไม่งั้นไม่ได้กิน ครั้นจะไปกินที่ร้านแถวท่าพระจันทร์ สำหรับผมก็ว่าแพงไป มีหลายครั้งที่ผมยินดีเดินไปกินที่ศิลปากร เพราะอาหารถูกปาก บรรยากาศถูกใจ แถมราคาถูกกว่า แต่หากจะนั่งคุย ยังไงก็ต้องนั่งที่โรงอาหารเศรษฐฯ
 
ความจริงพื้นที่ทางปัญญาสมัยก่อนมีมาก เช่น ตามห้องจัดสัมมนางาน เสวนาวิชาการต่างๆ ที่จัดกันเป็นประจำ เรียกว่าสัปดาห์หนึ่งต้องมีที่น่าเข้าฟังสำหรับผมอย่างน้อย 2-3 รายการ ถ้าไม่มี บางทีเราก็จัดให้มีเสียเองบ้าง นอกจากนั้นพรรคพวกผมก็จะเจอกันที่ห้องทำงานกน. (กรรมการนักศึกษา) อมธ. ตึกกิจฯ สภาฯ ที่มักเป็นที่สิงสถิตของบรรดานักถกเถียง ไปจนถึงพวกมาหลบนอนเวลาโดดเรียน หรือมานั่งเท่ไปวันๆ แล้วคิดหาปรัชญาชีวิตมาอธิบายว่า ทำไมกูจึงไม่เข้าห้องเรียน ไม่เขียนหนังสือ ไม่ผลิตอะไรเลยนอกจากพ่นๆๆ ตัวหนังสือที่เพียรอ่านเป็นปีๆ 
 
ผมเรียนรังสิตรุ่นแรก เรียนได้ปีเดียวก็กลับมาเรียนท่าพระจันทร์ ทีแรกที่รู้ว่าปีแรกต้องไปเรียนรังสิต ผมเกือบจะสละสิทธิ์ไปแล้ว เพราะอยากเรียนที่ท่าพระจันทร์มากกว่า ระหว่างปีหนึ่ง ผมจึงมาท่าพระจันทร์บ่อยมาก เพราะห้องสมุดท่าพระจันทร์ดีกว่า มีขุมความรู้มากกว่า มีความเป็นห้องสมุดมากกว่าห้องสมุดมธ.รังสิต (ทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้) ผมจึงไม่ค่อยรู้ว่า สมัยนั้นเพื่อนๆ เขานั่งถกนั่งคุยกันที่ไหนที่รังสิต
 
ที่จริง จากการตระเวนสำรวจห้องสมุดไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนๆ ผมกล้าบอกว่าสมัยที่ผมเข้าเรียนปริญญาตรีปี 2529 จนจบโท ห้องสมุดกลางธรรมศาสตร์ รวมกับห้องสมุดต่างๆ ในแทบทุกคณะ มีหนังสือทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ดีกว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ผมไป ทั้งศิลปากร จุฬา มศว.ประสานมิตร เกษตร รามฯ ยกเว้นห้องสมุดที่มีหนังสือเฉพาะทางอย่างศิลปะ หรือวิศวกรรม
 
สมัยนั้นจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกำแพงสมุดพักตร์หน่อยก็เห็นจะเป็น "กำแพงข่าว" จะว่าไปกำแพงข่าวน่าจะเทียบได้กับเว็บบล็อกในปัจจุบันมากกว่า
 
กำแพงข่าวเป็นมนต์ขลังของท่าพระจันทร์สมัยผม ผมชอบมามหาวิทยาลัยแต่เช้า เพราะรถเมล์ว่าง และรถไม่ติดมาก มักมาถึงมหา'ลัยราวๆ 7 โมงกว่า ก่อนใครต่อใครมา แล้วมาเดินอ่านกำแพงข่าว กำแพงข่าวเขียนโดยพวกรุ่นพี่ๆ นักกิจกรรม เป็นบทวิเคราะห์การเมืองมันๆ เท่ๆ กำแพงข่าวจะไล่มาตั้งแต่หน้าคณะศิลปศาสตร์ มาจนถึงกำแพงตึกเอที ที่ขณะนี้ทุบไปแล้ว กลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดเศรษฐฯ กับห้องสมุดกลาง บางทีคณะเศรษฐฯ ที่ผมเรียนก็มีกำแพงข่าวของตนเองบ้างเหมือนกัน คนอ่านไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษา คนทั่วไปจะเข้ามายืนอ่านกำแพงข่าวกันเป็นเรื่องเป็นราว
 
ปีแรกๆ ก็คิดว่าสักวันจะต้องเขียนกำแพงข่าวกับเขาบ้างให้ได้ พอปีสามปีสี่ ผมเริ่มเขียนกำแพงข่าวบ้างเหมือนกัน ที่จริงผมช่วยงานกน.เศษรฐฯ เขียนคัทเอาท์ (ป้ายโฆษณา) ที่บางทีก็แอบวาดรูปลงคัทเอาท์ประกอบบทความหรือบทกวีสั้นๆ อยู่เหมือนกัน พอได้รับความไว้วางใจจากพี่ๆ เพื่อนๆ ให้เขียนอะไรยาวๆ ก็ขยับปากกาเขียนกับเขาบ้าง จำไม่ได้แล้วว่าเขียนอะไรมั่วๆ ลงไปบ้าง
 
นอกจากพื้นที่พวกนั้น ก็มีโรงอาหารเศรษฐฯ นี่แหละที่พวกเราจากหลายคณะ หลายชั้นปีมานั่งแกร่ว นั่งถกเถียงกัน นั่งคุยเล่น นั่งแลกเปลี่ยนความเห็นเคล้ากาแฟกัน บางทีได้รับเกียรติจากศิลปินบ้าง นักเขียนบ้างจากศิลปากร มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ เพื่อนบางคนมาจากจุฬา บ้าง จากรามฯ บ้าง ข้ามเมืองจากแดนแสนไกลมาสนทนากัน
 
เพื่อนหลายคนในขณะนั้นเวลานี้กลายเป็นบรรณาธิการหนังสือ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ เป็นนักเขียน เพื่อนอีกหลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หลายคนเกลียดขี้หน้ากันเมื่อการเมืองแบ่งสี หลายคนยังรักใคร่เป็นทั้งมิตรสหายและเพื่อนร่วมวิชาชีพ หลายคนที่เคยถกเถียงกันเคร่งเครียดจนแทบเกลียดชัง กลับกลายมาเป็นมิตรทางปัญญาที่ดีในภายหลัง แต่เพื่อนหลายคนก็ไปขายของ ไปเป็นเถ้าแก่ ไปเป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็ยังคบหากัน ยังแลกเปลี่ยนความเห็นกันจนทุกวันนี้
 
สมัยเมื่อธุรกิจการพิมพ์เฟื่องฟู (ก่อนหน้านั้นคงไม่เฟื่องฟูเท่าทศวรรษ 2530 สมัยนั้น นักวิชาการชื่อดังบางคน ซึ่งผมดีใจที่ท่านเหล่านั้นยังดังอยู่จนทุกวันนี้ ยังมีคุณภาพและยังเขียนสม่ำเสมอจนทุกวันนี้ มีผลงานเขียนตีพิมพ์เดือนหนึ่งลือกันว่านับสิบชิ้น หรือมากกว่านั้น) พรรคพวกเพื่อนผมขยับขึ้นไปเขียนกันบ้าง ผมเองเริ่มเขียนในช่วงหลังเรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ ในปลายทศวรรษ 2530
 
หลังจากนั้นไม่นาน โรงอาหารเศรษฐฯ ก็ปิดลง เพื่อสร้างตึกใหม่อย่างที่เห็นทุกวันนี้ ระหว่างนั้น พรรคพวกผมเริ่มเรียนจบบ้าง ไม่จบบ้าง ชีวิตหันเหไปทางอื่น ไม่ได้ต่อสายกับเพื่อนๆ น้องๆ รุ่นต่อๆ มาเท่าไรนัก กระทั่งเมื่อเข้าทำงานสอนในมหา'ลัยปี 2539 ผมก็เริ่มห่างไปจากภูมิทัศน์เดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วชีวิตทางปัญญาก็เปลี่ยนไปในอีก 2 ปีให้หลังเมื่อได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอก
 
ปล.
แฮ่ม! เห็นผมเขียนบล็อกออกมาหลายชิ้นติดๆ กันนี่ คนที่รองานเขียนผมอยู่คงบ่นแล้วว่า "ทำไมเอ็งไม่เอาเวลาไปเขียนงานวิชาการ นั่งเขียนบล็อกอยู่ได้" 
 
ผมอยากตอบว่า "ขอโทษครับ วันๆ ผมคิดโน่นคิดนี่มากมาย ทำงานขีดเขียนอะไรมากมาย ไม่ได้เอาเวลาที่เหลือเวลาไปนั่งดูทีวี ดูกีฬา ไม่ต้องเล่นกับลูก ไม่ได้ต้องเอาใจใครทุกบ่อยๆ ขอพักผ่อนกับการเขียนอะไรเรื่อยเปื่อยบ้างเถอะครับ"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้