Skip to main content

ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)

สมัยผม ในต้นทศวรรษ 2530 โรงอาหารเศรษฐฯ มธ. คือพื้นที่ทางปัญญานอกห้องเรียนที่สำคัญของชาวธรรมศาสตร์ ที่เรียกโรงอาหารเศรษฐฯ เพราะสมัยนั้นโรงอาหารอื่นไม่ได้มีแต่ที่คณะสังคมฯ แต่ยังมีร้านอาหารเล็กๆ คณะนิติฯ คณะบัญชีฯ และข้างโรงยิมฯ ร้านเล็กๆ พวกนี้อาหารอร่อย แต่มักแน่นขนัด ต้องเตรียมตัวจัดเวลาดีๆ ไม่งั้นไม่ได้กิน ครั้นจะไปกินที่ร้านแถวท่าพระจันทร์ สำหรับผมก็ว่าแพงไป มีหลายครั้งที่ผมยินดีเดินไปกินที่ศิลปากร เพราะอาหารถูกปาก บรรยากาศถูกใจ แถมราคาถูกกว่า แต่หากจะนั่งคุย ยังไงก็ต้องนั่งที่โรงอาหารเศรษฐฯ
 
ความจริงพื้นที่ทางปัญญาสมัยก่อนมีมาก เช่น ตามห้องจัดสัมมนางาน เสวนาวิชาการต่างๆ ที่จัดกันเป็นประจำ เรียกว่าสัปดาห์หนึ่งต้องมีที่น่าเข้าฟังสำหรับผมอย่างน้อย 2-3 รายการ ถ้าไม่มี บางทีเราก็จัดให้มีเสียเองบ้าง นอกจากนั้นพรรคพวกผมก็จะเจอกันที่ห้องทำงานกน. (กรรมการนักศึกษา) อมธ. ตึกกิจฯ สภาฯ ที่มักเป็นที่สิงสถิตของบรรดานักถกเถียง ไปจนถึงพวกมาหลบนอนเวลาโดดเรียน หรือมานั่งเท่ไปวันๆ แล้วคิดหาปรัชญาชีวิตมาอธิบายว่า ทำไมกูจึงไม่เข้าห้องเรียน ไม่เขียนหนังสือ ไม่ผลิตอะไรเลยนอกจากพ่นๆๆ ตัวหนังสือที่เพียรอ่านเป็นปีๆ 
 
ผมเรียนรังสิตรุ่นแรก เรียนได้ปีเดียวก็กลับมาเรียนท่าพระจันทร์ ทีแรกที่รู้ว่าปีแรกต้องไปเรียนรังสิต ผมเกือบจะสละสิทธิ์ไปแล้ว เพราะอยากเรียนที่ท่าพระจันทร์มากกว่า ระหว่างปีหนึ่ง ผมจึงมาท่าพระจันทร์บ่อยมาก เพราะห้องสมุดท่าพระจันทร์ดีกว่า มีขุมความรู้มากกว่า มีความเป็นห้องสมุดมากกว่าห้องสมุดมธ.รังสิต (ทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้) ผมจึงไม่ค่อยรู้ว่า สมัยนั้นเพื่อนๆ เขานั่งถกนั่งคุยกันที่ไหนที่รังสิต
 
ที่จริง จากการตระเวนสำรวจห้องสมุดไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนๆ ผมกล้าบอกว่าสมัยที่ผมเข้าเรียนปริญญาตรีปี 2529 จนจบโท ห้องสมุดกลางธรรมศาสตร์ รวมกับห้องสมุดต่างๆ ในแทบทุกคณะ มีหนังสือทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ดีกว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ผมไป ทั้งศิลปากร จุฬา มศว.ประสานมิตร เกษตร รามฯ ยกเว้นห้องสมุดที่มีหนังสือเฉพาะทางอย่างศิลปะ หรือวิศวกรรม
 
สมัยนั้นจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกำแพงสมุดพักตร์หน่อยก็เห็นจะเป็น "กำแพงข่าว" จะว่าไปกำแพงข่าวน่าจะเทียบได้กับเว็บบล็อกในปัจจุบันมากกว่า
 
กำแพงข่าวเป็นมนต์ขลังของท่าพระจันทร์สมัยผม ผมชอบมามหาวิทยาลัยแต่เช้า เพราะรถเมล์ว่าง และรถไม่ติดมาก มักมาถึงมหา'ลัยราวๆ 7 โมงกว่า ก่อนใครต่อใครมา แล้วมาเดินอ่านกำแพงข่าว กำแพงข่าวเขียนโดยพวกรุ่นพี่ๆ นักกิจกรรม เป็นบทวิเคราะห์การเมืองมันๆ เท่ๆ กำแพงข่าวจะไล่มาตั้งแต่หน้าคณะศิลปศาสตร์ มาจนถึงกำแพงตึกเอที ที่ขณะนี้ทุบไปแล้ว กลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดเศรษฐฯ กับห้องสมุดกลาง บางทีคณะเศรษฐฯ ที่ผมเรียนก็มีกำแพงข่าวของตนเองบ้างเหมือนกัน คนอ่านไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษา คนทั่วไปจะเข้ามายืนอ่านกำแพงข่าวกันเป็นเรื่องเป็นราว
 
ปีแรกๆ ก็คิดว่าสักวันจะต้องเขียนกำแพงข่าวกับเขาบ้างให้ได้ พอปีสามปีสี่ ผมเริ่มเขียนกำแพงข่าวบ้างเหมือนกัน ที่จริงผมช่วยงานกน.เศษรฐฯ เขียนคัทเอาท์ (ป้ายโฆษณา) ที่บางทีก็แอบวาดรูปลงคัทเอาท์ประกอบบทความหรือบทกวีสั้นๆ อยู่เหมือนกัน พอได้รับความไว้วางใจจากพี่ๆ เพื่อนๆ ให้เขียนอะไรยาวๆ ก็ขยับปากกาเขียนกับเขาบ้าง จำไม่ได้แล้วว่าเขียนอะไรมั่วๆ ลงไปบ้าง
 
นอกจากพื้นที่พวกนั้น ก็มีโรงอาหารเศรษฐฯ นี่แหละที่พวกเราจากหลายคณะ หลายชั้นปีมานั่งแกร่ว นั่งถกเถียงกัน นั่งคุยเล่น นั่งแลกเปลี่ยนความเห็นเคล้ากาแฟกัน บางทีได้รับเกียรติจากศิลปินบ้าง นักเขียนบ้างจากศิลปากร มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ เพื่อนบางคนมาจากจุฬา บ้าง จากรามฯ บ้าง ข้ามเมืองจากแดนแสนไกลมาสนทนากัน
 
เพื่อนหลายคนในขณะนั้นเวลานี้กลายเป็นบรรณาธิการหนังสือ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ เป็นนักเขียน เพื่อนอีกหลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หลายคนเกลียดขี้หน้ากันเมื่อการเมืองแบ่งสี หลายคนยังรักใคร่เป็นทั้งมิตรสหายและเพื่อนร่วมวิชาชีพ หลายคนที่เคยถกเถียงกันเคร่งเครียดจนแทบเกลียดชัง กลับกลายมาเป็นมิตรทางปัญญาที่ดีในภายหลัง แต่เพื่อนหลายคนก็ไปขายของ ไปเป็นเถ้าแก่ ไปเป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็ยังคบหากัน ยังแลกเปลี่ยนความเห็นกันจนทุกวันนี้
 
สมัยเมื่อธุรกิจการพิมพ์เฟื่องฟู (ก่อนหน้านั้นคงไม่เฟื่องฟูเท่าทศวรรษ 2530 สมัยนั้น นักวิชาการชื่อดังบางคน ซึ่งผมดีใจที่ท่านเหล่านั้นยังดังอยู่จนทุกวันนี้ ยังมีคุณภาพและยังเขียนสม่ำเสมอจนทุกวันนี้ มีผลงานเขียนตีพิมพ์เดือนหนึ่งลือกันว่านับสิบชิ้น หรือมากกว่านั้น) พรรคพวกเพื่อนผมขยับขึ้นไปเขียนกันบ้าง ผมเองเริ่มเขียนในช่วงหลังเรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ ในปลายทศวรรษ 2530
 
หลังจากนั้นไม่นาน โรงอาหารเศรษฐฯ ก็ปิดลง เพื่อสร้างตึกใหม่อย่างที่เห็นทุกวันนี้ ระหว่างนั้น พรรคพวกผมเริ่มเรียนจบบ้าง ไม่จบบ้าง ชีวิตหันเหไปทางอื่น ไม่ได้ต่อสายกับเพื่อนๆ น้องๆ รุ่นต่อๆ มาเท่าไรนัก กระทั่งเมื่อเข้าทำงานสอนในมหา'ลัยปี 2539 ผมก็เริ่มห่างไปจากภูมิทัศน์เดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วชีวิตทางปัญญาก็เปลี่ยนไปในอีก 2 ปีให้หลังเมื่อได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอก
 
ปล.
แฮ่ม! เห็นผมเขียนบล็อกออกมาหลายชิ้นติดๆ กันนี่ คนที่รองานเขียนผมอยู่คงบ่นแล้วว่า "ทำไมเอ็งไม่เอาเวลาไปเขียนงานวิชาการ นั่งเขียนบล็อกอยู่ได้" 
 
ผมอยากตอบว่า "ขอโทษครับ วันๆ ผมคิดโน่นคิดนี่มากมาย ทำงานขีดเขียนอะไรมากมาย ไม่ได้เอาเวลาที่เหลือเวลาไปนั่งดูทีวี ดูกีฬา ไม่ต้องเล่นกับลูก ไม่ได้ต้องเอาใจใครทุกบ่อยๆ ขอพักผ่อนกับการเขียนอะไรเรื่อยเปื่อยบ้างเถอะครับ"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์