Skip to main content

ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)

สมัยผม ในต้นทศวรรษ 2530 โรงอาหารเศรษฐฯ มธ. คือพื้นที่ทางปัญญานอกห้องเรียนที่สำคัญของชาวธรรมศาสตร์ ที่เรียกโรงอาหารเศรษฐฯ เพราะสมัยนั้นโรงอาหารอื่นไม่ได้มีแต่ที่คณะสังคมฯ แต่ยังมีร้านอาหารเล็กๆ คณะนิติฯ คณะบัญชีฯ และข้างโรงยิมฯ ร้านเล็กๆ พวกนี้อาหารอร่อย แต่มักแน่นขนัด ต้องเตรียมตัวจัดเวลาดีๆ ไม่งั้นไม่ได้กิน ครั้นจะไปกินที่ร้านแถวท่าพระจันทร์ สำหรับผมก็ว่าแพงไป มีหลายครั้งที่ผมยินดีเดินไปกินที่ศิลปากร เพราะอาหารถูกปาก บรรยากาศถูกใจ แถมราคาถูกกว่า แต่หากจะนั่งคุย ยังไงก็ต้องนั่งที่โรงอาหารเศรษฐฯ
 
ความจริงพื้นที่ทางปัญญาสมัยก่อนมีมาก เช่น ตามห้องจัดสัมมนางาน เสวนาวิชาการต่างๆ ที่จัดกันเป็นประจำ เรียกว่าสัปดาห์หนึ่งต้องมีที่น่าเข้าฟังสำหรับผมอย่างน้อย 2-3 รายการ ถ้าไม่มี บางทีเราก็จัดให้มีเสียเองบ้าง นอกจากนั้นพรรคพวกผมก็จะเจอกันที่ห้องทำงานกน. (กรรมการนักศึกษา) อมธ. ตึกกิจฯ สภาฯ ที่มักเป็นที่สิงสถิตของบรรดานักถกเถียง ไปจนถึงพวกมาหลบนอนเวลาโดดเรียน หรือมานั่งเท่ไปวันๆ แล้วคิดหาปรัชญาชีวิตมาอธิบายว่า ทำไมกูจึงไม่เข้าห้องเรียน ไม่เขียนหนังสือ ไม่ผลิตอะไรเลยนอกจากพ่นๆๆ ตัวหนังสือที่เพียรอ่านเป็นปีๆ 
 
ผมเรียนรังสิตรุ่นแรก เรียนได้ปีเดียวก็กลับมาเรียนท่าพระจันทร์ ทีแรกที่รู้ว่าปีแรกต้องไปเรียนรังสิต ผมเกือบจะสละสิทธิ์ไปแล้ว เพราะอยากเรียนที่ท่าพระจันทร์มากกว่า ระหว่างปีหนึ่ง ผมจึงมาท่าพระจันทร์บ่อยมาก เพราะห้องสมุดท่าพระจันทร์ดีกว่า มีขุมความรู้มากกว่า มีความเป็นห้องสมุดมากกว่าห้องสมุดมธ.รังสิต (ทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้) ผมจึงไม่ค่อยรู้ว่า สมัยนั้นเพื่อนๆ เขานั่งถกนั่งคุยกันที่ไหนที่รังสิต
 
ที่จริง จากการตระเวนสำรวจห้องสมุดไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนๆ ผมกล้าบอกว่าสมัยที่ผมเข้าเรียนปริญญาตรีปี 2529 จนจบโท ห้องสมุดกลางธรรมศาสตร์ รวมกับห้องสมุดต่างๆ ในแทบทุกคณะ มีหนังสือทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ดีกว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ผมไป ทั้งศิลปากร จุฬา มศว.ประสานมิตร เกษตร รามฯ ยกเว้นห้องสมุดที่มีหนังสือเฉพาะทางอย่างศิลปะ หรือวิศวกรรม
 
สมัยนั้นจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกำแพงสมุดพักตร์หน่อยก็เห็นจะเป็น "กำแพงข่าว" จะว่าไปกำแพงข่าวน่าจะเทียบได้กับเว็บบล็อกในปัจจุบันมากกว่า
 
กำแพงข่าวเป็นมนต์ขลังของท่าพระจันทร์สมัยผม ผมชอบมามหาวิทยาลัยแต่เช้า เพราะรถเมล์ว่าง และรถไม่ติดมาก มักมาถึงมหา'ลัยราวๆ 7 โมงกว่า ก่อนใครต่อใครมา แล้วมาเดินอ่านกำแพงข่าว กำแพงข่าวเขียนโดยพวกรุ่นพี่ๆ นักกิจกรรม เป็นบทวิเคราะห์การเมืองมันๆ เท่ๆ กำแพงข่าวจะไล่มาตั้งแต่หน้าคณะศิลปศาสตร์ มาจนถึงกำแพงตึกเอที ที่ขณะนี้ทุบไปแล้ว กลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดเศรษฐฯ กับห้องสมุดกลาง บางทีคณะเศรษฐฯ ที่ผมเรียนก็มีกำแพงข่าวของตนเองบ้างเหมือนกัน คนอ่านไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษา คนทั่วไปจะเข้ามายืนอ่านกำแพงข่าวกันเป็นเรื่องเป็นราว
 
ปีแรกๆ ก็คิดว่าสักวันจะต้องเขียนกำแพงข่าวกับเขาบ้างให้ได้ พอปีสามปีสี่ ผมเริ่มเขียนกำแพงข่าวบ้างเหมือนกัน ที่จริงผมช่วยงานกน.เศษรฐฯ เขียนคัทเอาท์ (ป้ายโฆษณา) ที่บางทีก็แอบวาดรูปลงคัทเอาท์ประกอบบทความหรือบทกวีสั้นๆ อยู่เหมือนกัน พอได้รับความไว้วางใจจากพี่ๆ เพื่อนๆ ให้เขียนอะไรยาวๆ ก็ขยับปากกาเขียนกับเขาบ้าง จำไม่ได้แล้วว่าเขียนอะไรมั่วๆ ลงไปบ้าง
 
นอกจากพื้นที่พวกนั้น ก็มีโรงอาหารเศรษฐฯ นี่แหละที่พวกเราจากหลายคณะ หลายชั้นปีมานั่งแกร่ว นั่งถกเถียงกัน นั่งคุยเล่น นั่งแลกเปลี่ยนความเห็นเคล้ากาแฟกัน บางทีได้รับเกียรติจากศิลปินบ้าง นักเขียนบ้างจากศิลปากร มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ เพื่อนบางคนมาจากจุฬา บ้าง จากรามฯ บ้าง ข้ามเมืองจากแดนแสนไกลมาสนทนากัน
 
เพื่อนหลายคนในขณะนั้นเวลานี้กลายเป็นบรรณาธิการหนังสือ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ เป็นนักเขียน เพื่อนอีกหลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หลายคนเกลียดขี้หน้ากันเมื่อการเมืองแบ่งสี หลายคนยังรักใคร่เป็นทั้งมิตรสหายและเพื่อนร่วมวิชาชีพ หลายคนที่เคยถกเถียงกันเคร่งเครียดจนแทบเกลียดชัง กลับกลายมาเป็นมิตรทางปัญญาที่ดีในภายหลัง แต่เพื่อนหลายคนก็ไปขายของ ไปเป็นเถ้าแก่ ไปเป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็ยังคบหากัน ยังแลกเปลี่ยนความเห็นกันจนทุกวันนี้
 
สมัยเมื่อธุรกิจการพิมพ์เฟื่องฟู (ก่อนหน้านั้นคงไม่เฟื่องฟูเท่าทศวรรษ 2530 สมัยนั้น นักวิชาการชื่อดังบางคน ซึ่งผมดีใจที่ท่านเหล่านั้นยังดังอยู่จนทุกวันนี้ ยังมีคุณภาพและยังเขียนสม่ำเสมอจนทุกวันนี้ มีผลงานเขียนตีพิมพ์เดือนหนึ่งลือกันว่านับสิบชิ้น หรือมากกว่านั้น) พรรคพวกเพื่อนผมขยับขึ้นไปเขียนกันบ้าง ผมเองเริ่มเขียนในช่วงหลังเรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ ในปลายทศวรรษ 2530
 
หลังจากนั้นไม่นาน โรงอาหารเศรษฐฯ ก็ปิดลง เพื่อสร้างตึกใหม่อย่างที่เห็นทุกวันนี้ ระหว่างนั้น พรรคพวกผมเริ่มเรียนจบบ้าง ไม่จบบ้าง ชีวิตหันเหไปทางอื่น ไม่ได้ต่อสายกับเพื่อนๆ น้องๆ รุ่นต่อๆ มาเท่าไรนัก กระทั่งเมื่อเข้าทำงานสอนในมหา'ลัยปี 2539 ผมก็เริ่มห่างไปจากภูมิทัศน์เดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วชีวิตทางปัญญาก็เปลี่ยนไปในอีก 2 ปีให้หลังเมื่อได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอก
 
ปล.
แฮ่ม! เห็นผมเขียนบล็อกออกมาหลายชิ้นติดๆ กันนี่ คนที่รองานเขียนผมอยู่คงบ่นแล้วว่า "ทำไมเอ็งไม่เอาเวลาไปเขียนงานวิชาการ นั่งเขียนบล็อกอยู่ได้" 
 
ผมอยากตอบว่า "ขอโทษครับ วันๆ ผมคิดโน่นคิดนี่มากมาย ทำงานขีดเขียนอะไรมากมาย ไม่ได้เอาเวลาที่เหลือเวลาไปนั่งดูทีวี ดูกีฬา ไม่ต้องเล่นกับลูก ไม่ได้ต้องเอาใจใครทุกบ่อยๆ ขอพักผ่อนกับการเขียนอะไรเรื่อยเปื่อยบ้างเถอะครับ"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน