Skip to main content

ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ

ผมมักจำสลับกันระหว่างหนังสือ "แด่หนุ่มสาว" ของกฤษณมูรติ แปลโดยพจนา จันทรสันติ กับหนังสือ "แด่นักศึกษา" ของคานธี แปลโดยกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ที่อ่านสมัยเรียนปริญญาตรีปีหนึ่ง ผมว่าผมอ่านทั้งสองเล่มนั่นแหละ และความคิดหลายๆ อย่างในหนังสือสองเล่มนั้นคงมีอิทธิพลต่อผมไม่น้อยทีเดียว (แล้วอย่างนี้ใครยังจะมาว่าผมบ้านักคิดฝรั่งได้ยังไง ยังเขียนเรื่อง "บ่นบนหอคอยงาช้าง" ไม่จบ เอาไว้ค่อยว่ากันทีหลัง)
 
ผมไม่เคยคิดว่า "นักศึกษา" เป็น "ลูกศิษย์" เลย แม้แต่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนกัน ศิษย์ไม่ได้เป็นแค่ศิษย์ แต่ยังเป็นครูของครูด้วยเสมอ

ยิ่งกว่านั้น ผมไม่ชอบคำว่า "ลูก" ที่มาต่อหน้าคำว่า "ศิษย์" จินตกรรม "พ่อ-แม่-ลูก" ไม่ควรก้าวก่ายอธิบายความสัมพันธ์ไปเสียทุกๆ อย่าง รัฐไทยชอบเอาจินตกรรมนี้ครอบไปเสียทุกเรื่อง จนแยกไม่ออกกันแล้วว่า ใครพ่อแม่จริง ใครพ่อแม่สมมุติกันแน่ ผมคิดกับพวกเขาเสมอเหมือนเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่เกิดมาร่วมชะตาความไร้สาระเบาหวิววววของการมีชีวิต แต่ผมก็เลือกที่จะไม่ละโลกเบาหวิวนี้ไปหรอก สนุกจะตายที่จะทุกข์สุขไปวันๆ

ผมชอบอุปลักษณ์ "เรือจ้าง" มากกว่า ยิ่งทุกวันนี้ระบบประกันคุณภาพ ระบบของการทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า ยิ่งรู้สึกได้มากขึ้นถึงการเป็นเรือจ้าง เป็นลูกจ้างของนักศึกษา เมื่อส่งนายจ้างถึงฝั่งแล้ว ก็แล้วกัน คนเรือจ้างก็จะยังคอยรับจ้างพายเรือข้ามฟากอยู่อย่างนี้ไปทุกเมื่อเชื่อวัน ขณะที่นายจ้างเรือข้ามฟาก ผ่านมาแล้วก็จากไป
 
เมื่อพวกคุณขึ้นฝั่งแล้ว ช่วยถีบหัวเรือแรงๆ ก็แล้วกัน คนแจวเรือจ้างจะได้ไม่มีภาระคัดท้ายเรือออกจากฝั่งให้ยากเย็นนั

เรือข้ามฟากเป็นพื้นที่ของการโคจรอย่างไม่รู้จบ น้อยคนนักที่จะข้ามเรือแล้วกลายมาเป็นคนแจวเรือข้ามฟากอย่างผมที่ถูกสาปให้กลับมาเป็นคนแจวเรือ ทั้งๆ ที่ถึงฝั่งไปแล้ว 

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะศิษย์-ครูย่อมเป็นกันชั่วครู่ชั่วคราว ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นครู เป็นอาจารย์ใครกันไปตลอดชีวิต เมื่อจบแล้ว ศิษย์ก็อาจกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน อาจกลายมาเป็นเพื่อนสนทนา กลายเป็นเพื่อนร่ำสุรา หรือศิษย์ก็อาจเป็นคนที่เกลียดขี้หน้าครู ชิงชังครู เป็นศัตรูกับครู ที่จริงครูผมที่ภายหลังตั้งตนเป็นศัตรูกับผมก็ยังมีเลย และถึงที่สุดแล้ว ศิษย์เป็นเพื่อนร่วมโลกกับครู

วัยอันสดใส-ร่าเริง-มุทะลุ-บ้าบิ่น-คึกคะนอง-ปราดเปรื่อง-ฝันเฟื่อง-ใช้ชีวิตเปลือง ฯลฯ ของหนุ่มสาวมักหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อพวกเขา "จบการศึกษา" หนุ่มสาวจำนวนมากเข้าสู่วัยทำงาน ตั้งหน้าตั้งตาหาเมียหาผัวสร้างครอบครัว แต่งงาน มีลูก ปลูกบ้าน เป็นหนี้ ดูแลพ่อแม่ชรา แล้วชีวิตก็จบลงด้วยการเข้าวัดฟังธรรมเลี้ยงหลาน

หลายคนที่เคยบ้าบิ่น ตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้า พอพ้นวัยเรียน ก็อธิบายตนเองว่า "เฮ่ย! โตแล้ว แก่แล้ว เริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น ออกจากโลกของความฝันแล้ว" แต่ส่วนมากไม่ทันได้สงสัยว่าชีวิตคืออะไร ก็ "ท้องป่อง" (ทั้งชายและหญิงนั่นแหละ) เข้าสู่วัฏสงสาร ทำงานใช้หนี้ให้กับสิ่งจำเป็นในชีวิตจนหัวบานแล้ว

แต่จะว่าไป มนุษย์ที่มีชีวิตรูทีนเหล่านี้แหละที่หล่อเลี้ยงสังคม หล่อเลี้ยงคนช่างฝัน หล่อเลี้ยงสังคมอีกซีกหนึ่งที่ไม่อยากโต ที่ไม่อยาก "เรียนจบ" ไม่อยากหยุดเพ้อพกฝันเฟื่อง 

เพียงแต่ว่า ผมก็ยังอยากเห็นเพื่อนร่วมศึกษา ที่เคยแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันมาในห้องเรียน ที่กำลังจะถีบหัวเรือจ้างในเร็ววันนี้ จะยังไม่หยุดฝันเฟื่อง จะยังไม่ปฏิเสธความคิดฝันเพียงด้วยพันธะของคำอธิบายว่า "เราโตแล้ว เราจบแล้ว เราเข้าสู่ชีวิตจริงแล้ว" 

ผมยังอยากเห็นพวกเขาจะยังค้นหาความหมายของชีวิต จะยังหยุดคิดสักเพียงบางนาทีในแต่ละวัน เพื่อใคร่ครวญสงสัยว่าเราทำอะไรอยู่ เราเลือกทางเดินชีวิตแบบนี้เองจริงหรือ เราเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการแล้วหรือยัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"