Skip to main content

 

มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้

1) โดยทั่วๆ ไป การตายของผู้คนเป็นการตายทางสังคม ไม่ใช่การสิ้นสุดอายุขัยหรือถูกทำให้ตายในทางกายภาพเท่านั้น แต่จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านสถานภาพ จากการตายเชิงกายภาพไปสู่การตายเชิงสังคม และกลายไปเป็นบุคคลใหม่ในชีวิตหลังหลังตายด้วย การตายในระดับสังคมโดยกว้างก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน การตายในระดับสังคมการเมืองทุกครั้งจะสิ้นสุดเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของสังคมร่วมกัน ในสังคมทั่วไป เราจัดพิธีศพเพื่อส่งผู้ตายและเรียกคนเป็นให้กลับมาสู่สังคม แล้วการตายก็จึงสิ้นสุด แต่ทำไมการตายของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ยังไม่สิ้นสุดเสียที

กรณี 14 ตุลาคม 2516 มีพระราชพิธีศพแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนการตายเมื่อพฤษภาคม 2535 สิ้นสุดที่การลงจากอำนาจของผู้รับผิดชอบ แต่การตายกรณีเมษา-พฤษภา 53 เป็นการตายที่เหมือนกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 คือเป็นการตายที่มีแต่เพียงการตายเชิงกายภาพ ยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมเนื่องจากเป็นการตายที่ไม่ได้รับการยอมรับ 

2) แต่การตายกรณีปี 53 มีลักษณะพิเศษอย่างอื่นอีก นี่คือโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่คนจำนวนมากในสังคมไทยเชื่อมโยงด้วย นี่คือการบาดเจ็บล้มตายของคน "ส่วนใหญ่" ของประเทศ เพราะพวกเขามีตัวตน มีอัตลักษณ์ มีจินตนาการต่อสังคมและกลุ่มคนร่วมกันอย่างกว้างขวาง และเชื่อมโยงกับฐานเสียงของพรรคการเมืองที่มีคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในประเทศ การตายครั้งนี้จึงเป็นการตายของ "มวลชน" ที่สนับสนุนพรรคการเมือง เป็นการตายของสังคมประชาธิปไตยที่มีฐานมวลชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทย

การตายที่ราชประสงค์จึงไม่เหมือนกับการตายของนักศึกษาในวันที่ 6 ตค. 19 และไม่เหมือนกับการตายของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ แบบที่ผ่านๆ มาหลายครั้ง ที่ยังคงมีความเชื่อมโยงกับมวลชนน้อยกว่ากันมาก ประชาชนที่ร่วมรู้สึกกับการตายที่ราชประสงค์จึงมากมาย หลั่งไหลมาจากต่างถิ่น ต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ

3) การตายครั้งนี้แตกต่างจากการตายครั้งก่อนๆ ที่ผู้เป็นเหยื่อถูกผลักให้เป็นศัตรูกับกลุ่มคนที่พวกเขาเรียกว่า "อำมาตย์" ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักแสดงออกว่าเห็นใจใยดีกับประชาชนและคอยปกป้องช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในลักษณะนี้มาก่อน การบาดเจ็บล้มตายครั้งนี้จึงนับเป็นการบาดเจ็บล้มตายทางการเมืองที่ประชาชนรู้สึกถึงการถูกปล่อยปละละเลยมากที่สุด ถูกดูดายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ดังที่พวกเขาประชดประชันว่าเป็น "ลูกที่พ่อแม่ไม่รัก"

4) นี่คือการแสดงออกว่าประชาชนไม่ต้องการให้ถูกดูหมิ่นเหยีดหยามในศักดิ์ศรีอีกต่อไป ลำพังการเยียวยาด้วยเงิน ด้วยมาตรการต่างๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ราคาของความสูญเสียของพวกเขาจึงสูงขึ้น สูงมากกว่าราคาของความตายทางการเมืองที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มาตรการการเยียวยาใดๆ จึงยังไม่สำคัญเท่ากับว่า พวกเขาจะต้องได้รับความยุติธรรม 

รัฐบาลจึงต้องชั่งตวงวัดให้ดีว่า การนิรโทษกรรมนั้นจะกระทำแบบเหมารวมยกยอดตัดตอนไม่เอาผิดใครเลย ไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้อง่ับผิดเลยนั้น สมควรหรือไม่ สังคมจะยอมรับได้หรือไม่ จะเพียงพอแก่การเยียวยาความเจ็บปวดของสังคมในปัจจุบันได้หรือไม่ หากมีการสะสางคดี มีการดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมที่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้บังคับบัญชา ด้วย อาจจะสามารถเยียวยาสังคมได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่าทำๆ ไปแบบในอดีตก็จบ อย่าลืมว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว

5) การตายนี้ยังใช้เป็นพลังต่อรองทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองที่ยังคอยจ้องล้มรัฐบาลของมวลชนคนเสื้้อแดง พวกเขาเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่สิ้นสุด ยังมีไฟคุกรุ่นที่จะคอยถูกพัดกระพือให้ลุกโชนขึ้นมาได้ทุกเมื่อ การรวมตัวของพวกเขานัยหนึ่งเพื่อรำลึกถึงการตายของมวลชนของพวกเขา แต่อีกนัยหนึ่งก็เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า พวกเขายังพร้อมที่จะต่อกรกับพลังทางการเมืองที่เล่นนอกกติกาของการเลือกตั้ง

6) ในท้ายที่สุดในอนาคต จะต้องมีการสร้างสัญลักษณ์ สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อให้สังคมไทยทั้งมวลระลึกต่อเหตุการณ์นี้ สังคมไทยทั้งมวล ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะต้องเข้าใจปรากฏการณ์นี้ให้ดีขึ้น นอกจากนั้น สังคมทั้งมวลจะเปลี่ยนผ่านไปได้ด้วยการกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อ ด้วยการเรียนรู้ประวัติศาสตร์หน้านี้อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง ให้สังคมทั้งสังคมยอมรับถึงความผิดพลาดของรัฐและสถาบันทางการเมืองที่ดึงดันต่อความประสงค์ของราษฎร และยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

ตราบใดที่ยังไม่มีการฌาปนกิจความตายที่ราชประสงค์อย่างเหมาะสม สังคมไทยก็จะไม่มีวันผ่านพ้นภาวะความตายนี้ไปได้ มวลชนจะยังคงมาร่วมทำบุญครบรอบให้ศพคนตาย จนกว่าสังคมจะยินยอมเปลี่ยนผ่านความตายนี้อย่างยุติธรรม จนกว่าพลังของ "อำมาตย์" จะมอดหมดไป เมื่อนั้นการชุมนุมที่ราชประสงค์ทุกวันที่ 19 พฤษภาคมก็จะค่อยๆ ซาลงไป

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม