Skip to main content

เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

บัดนี้ผ่านไปสามปีแล้ว อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าครับว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดอะไรขึ้น อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าว่าอาจารย์เคยกรุณาตอบจดหมายเปิดผนึกผมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ว่า อาจารย์ไม่ใช่นักวิชาการที่มีความอิสระอย่างผม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิฯ อาจารย์จะต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ได้ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านมาจวนเจียนจะสามปีแล้ว อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ ได้รวบรวมหลักฐานข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้วได้หรือยัง

 

ผมจะไม่เดือดร้อนอะไรเลยหากอาจารย์เป็นเพียงเพื่อนนักวิชาการร่วมอาชีพมานุษยวิทยาคนหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะอยู่บนหอคอยงาช้างหรืออยู่ใต้กองข้อมูลในการทำงานภาคสนาม ก็ยังไม่มีความรับผิดชอบที่จะต้องยินดียินร้าย ไม่ต้องรับผิดชอบตอบคำถามประชาชน ถึงการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 แต่การที่อาจารย์เป็นถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับประทานค่าจ้างจากราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งผมด้วย อาจารย์จึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและทันท่วงที แต่นี่ผ่านมาถึงสามปีแล้ว ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนประการใดออกมาจากหน่วยงานของอาจารย์

 

ในรายงานประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2554 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวถึงการสลายการชุมนุมในปี 2553 โดยสรุปไปทันทีตั้งแต่ต้นว่า ในการชุมนุมของ นปช. นั้น "มีรายงานว่าสงสัยว่าจะใช้ความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย" (ดูประโยคแรกของข้อ 11 ในรายงาน) หากแต่รายงานกลับสรุปว่า ยังมีความคลุมเครือว่าการตายเกิดจากการละเมิดของฝ่ายใด (ดูประโยคสุดท้ายของข้อ 11 ในรายงาน) ผมสงสัยว่าถึงขณะนี้ "ความคลุมเครือ" ดังกล่าวได้ถูกคลี่คลายลงแล้วบ้างหรือยัง

 

อาจารย์ครับ อาจารย์คงได้เห็นรายงานสองฉบับที่ให้รายละเอียดและเสนอข้อสรุปสำคัญๆ ของเหตุการณ์เมษายน - พฤษภาคม 2553 แล้ว ได้แก่ รายงานของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ" (คอป.) ที่ตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรายงานของ “ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53” (ศปช.) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการซึ่งร่วมกันรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ได้รัผลกระทบด้านต่างๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว ผมหวังว่าอาจารย์คงได้อ่านหรือมีผู้สรุปสาระสำคัญๆ ของรายงานทั้งสองฉบับให้ได้รับทราบแล้ว นอกจากนั้น ในระยะสามปีที่ผ่านมายังมีข้อมูลจากการสอบสวนของดีเอสไอ และแม้แต่ข้อสรุปส่วนสำคัญๆ จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานราชการที่น่าเชื่อถือมากหน่วยงานหนึ่งคือศาล ก็ยังได้มีคำพิพากษาต่อการเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตออกมาแล้ว

 

ที่สำคัญคือ แม้ว่ารายงานต่างๆ จะเสนอข้อมูลรายละเอียดและให้ความเห็นแตกต่างกันไปบ้าง แต่รายงานทุกฉบับก็มีข้อสรุปประการหนึ่งที่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลที่ว่า "เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว" หรือหากจะสรุปให้กว้างกว่านั้นก็คือ "กระสุนที่สังหารประชาชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนนั้น มาจากทหารที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่" ข้อเท็จจริงหรือเรียกให้ชัดในภาษาฝรั่งว่า fact เหล่านี้ น่าจะเพียงพอบ้างหรือยังครับที่หน่วยงานของอาจารย์จะสรุปว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย"

 

ผมได้เคยสอบถามอาจารย์ถึงหลักการทางมานุษยวิทยาและหลักสิทธิมนุษยชน ที่ชี้ชัดถึงการละเมิดความเป็นมนุษย์ในการในการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์มาก่อน การที่อาจารย์เลี่ยงไม่ตอบคำถามผมในสามปีก่อน อาจจะด้วยความสับสนของข้อมูล แต่มาถึงวันนี้ ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ปรากฏอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นแล้ว ผมสงสัยว่าอาจารย์จะยังคงบ่ายเบี่ยงอะไรได้อีก

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุไว้ชัดเจนว่า "ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่นนอกเหนือจากนี้" และดังนั้น "ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล"

 

หากอาจารย์ยังคงยึดมั่นตามหลักข้างต้นนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์ในปี 2553 จะเกิดขึ้นมาจากสาเหตุประการใด อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่น่าจะเห็นด้วยกับผมว่า สิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเหนือความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ และเหนือสถาบันทางการเมืองใดๆ และหากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ย่อมต้องแสดงจุดยืนต่อต้านหรืออย่างน้อยที่สุดต้องประณามการละเมิดดังกล่าว

 

ประชาชนย่อมสงสัยว่า การที่อาจารย์และคณะอาจารย์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่่าวเสียทีจะแสดงให้เห็นได้หรือไม่ว่า อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการสากลของหลักสิทธิมนุษยชนโดยแท้ หากแต่กลายเป็นว่า อาจารย์เลือกปกป้องใครบางคน ปกป้องคนบางกลุ่ม บางสถาบันทางการเมือง บางสถาบันทางราชการหรือไม่ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งผมยังหวังว่าจะเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปก็คือ การที่อาจารย์แสดงท่าทีเฉยเมยต่อกรณีดังกล่าวก็เพื่อปกป้องหน้าตาชื่อเสียงของอาจารย์ในแวดวงสังคมที่ใกล้ชิดอาจารย์เพียงเท่านั้น

 

ถึงวันนี้แล้ว ผมและประชาชนจำนวนมากอดไม่ได้ที่จะกังขาว่า อาจารย์เอาอะไรข่มตาให้หลับแล้วปลุกให้ตนเองลุกขึ้นมาไปทำงานในตำแหน่งนี้ในแต่ละวันมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยไม่สามารถให้คำตอบกับชาวโลกถึงเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนได้ และหากเมื่อวาระครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน - พฤษภาคม 2553 ได้ผ่านไปอีกหนึ่งปีแล้ว อาจารย์จะยังคงแบกรับภาระหน้าที่นี้อย่างเงียบเชียบต่อไปด้วยจริยธรรมข้อใดของนักสิทธิมนุษยชน

 

17 พฤษภาคม 2556

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์