Skip to main content

น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน

แต่เมื่อทำท่าอ้างหลักการโน่นนี่นั่นว่าสถาบันที่เคารพรักบ้างล่ะ ว่าไม่เข้าข่ายสิทธิเสรีภาพบ้างล่ะ มันมันแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมของสถาบันรัฐสภา และแสดงการไม่เคารพอำนาจของประชาชนที่เลือกพวกคุณเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพวกเขา 
 
อย่าลืมว่าเขาไม่ได้เลือกพวกคุณมาเพื่อออกกฎหมายเท่านั้น และยิ่งกว่านั้นคือ ประชาชนไม่ได้เลือกพวกคุณมาปกป้องการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในนามของการปกป้องความมั่นคงคงรัฐ แต่เขาเลือกพวกคุณมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของพวกเขาด้วย
 
เหตุผลที่รัฐสภาปฏิเสธข้อเรียกร้องของประชาชนราวสามหมื่นคนที่เข้าชื่อเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่า "ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้น มีการแยกองค์ประกอบความผิด ลักษณะการกระทำความผิดที่ผ่อนคลายลง และอัตราโทษที่น้อยลง ย่อมจะต้องทำให้มีการละเมิด กล่าวหา ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตรมาดร้ายได้โดยง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐได้" นับเป็นการปกป้องความมั่นคงของรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง 
 
อันที่จริง การวิจารณ์กษัตริย์เป็นคนละเรื่องกันกับการละเมิด ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตรมาดร้าย กษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ได้รับการคุ้มครองโดย ม. 112 เหตุผลในการบอกปัดข้อเสนอของประชาชนครั้งนี้จึงแสดงการบิดเบือนในหลายๆ ประการด้วยกัน 
 
1) หากพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลแล้ว เข้าใจไม่ได้เลยว่าการมีโทษสูงจะทำให้เกิดการละเมิดสถาบันน้อยได้อย่างไร ในเมื่อข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แจ้งคือ การที่ผู้ต้องหาคดี ม 112 เพิ่มเป็นจำนวนมหาศาลในปี 2552-2553 ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการลดโทษ ม. 112 ลงเลย 
 
2) ด้วยตรรกเดียวกันนี้ สภาผู้แทนราษฎรไทยจะตอบอย่างไรว่า ในบางประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ อย่างญี่ปุ่น กษัตริย์เขาทรงกระทำการอย่างไรหรือจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายแบบ ม. 112 มาปกป้องเป็นพิเศษ กษัตริย์เขาเข้มแข็งหรือมีพระบรมเดชานุภาพอย่างไรหรือจึงไม่ต้องการกฎหมายใดๆ มาคุ้มครองเป็นพิเศษเหมือนกษัตริย์ ราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของไทย 
 
3) ข้อโต้แย้งของสภาผู้แทนราษฎรตอบโต้แต่เพียงกล่าวว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ" แต่ข้อเสนอของ ครก. 112 นั้น ครอบคลุมทั้งกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นี่เป็นความจงใจสร้างความสับสนให้ปราชนเข้าใจผิดคิดว่า ครก. 112 มุ่งแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น
 
4) ข้อเสนอของ ครก. 112 ประสงค์ให้แยกแยะการวิจารณ์โดยบริสุทธิ์ใจ ด้วยข้อเท็จจริง ออกจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตรมาดร้าย เพราะทุกวันนี้เพียงแค่มีการวิจารณ์ใครต่อใครในครอบครัวของกษัตริย์ ก็อาจถูกเหมารวมว่าเป็นการละเมิดได้แล้ว
 
5) คงไม่ต้องอธิบายกันมากมายว่า การคงอยู่ของ ม. 112 แบบในปัจจุบันเอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในร่างกาย มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว การไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากถือว่าโทษรุนแรงถึงขนาดเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และยังละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่ให้พิสูจน์ความจริง 
 
6) ม. 112 เองคือกฎหมายที่ทำลายความมั่นคงของรัฐ มีส่วนดึงให้สถาบันตกต่ำ เนื่องจากสถาบันถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองและกลั่นแกล้งส่วนบุคคล รวมทั้งการไม่สามารถวิจารณ์สถาบันได้ ทำให้สถาบันไม่ถูกตรวจสอบ การตรวจสอบกับการละเมิดเป็นคนละเรื่องกันแน่นอน พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงตรัสว่า พระองค์ทรงงาน จึงต้องถูกวิจารณ์ได้
 
ประการสุดท้าย การปัดข้อเสนอของปราชนครั้งนี้โดยสภาผู้แทนราษฎรนับเป็นภัยต่อความมั่นคงของ "สถาบันประชาชน" เหตุผลของสภาผู้แทนราษฎรชวนให้เข้าใจว่า สภาผู้แทนราษฎรไทยไม่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือความมั่นคงของรัฐ สภาผู้แทนราษฎรไทยเลือกปกป้องความมั่นคงของรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรไทยยอมให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อแลกกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ราวกับว่า ประเทศนี้ไม่ต้องมีก็ประชาชนได้ แต่ไม่มีกษัตริย์ไม่ได้
 
สภาผู้แทนราษฎรคงลืมไปแล้วว่า รัฐไทยในโลกปัจจุบันคือรัฐ-ชาติ และชาติคือประชาชน ไม่ใช่สถาบันอื่นใด ดังนั้น ถ้าสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองเหนือสถาบันอื่นใด ถ้าประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ถ้าประเทศนี้ไม่มีสถาบันประชาชนที่เข้มแข็ง ถ้าไม่ปกป้องความมั่งคงของประชาชน จะมีรัฐประชาธิปไตยที่มั่นคงได้อย่างไร แล้วสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดมาจากไหน จะมีอำนาจมาจากที่ใด จะเป็นสภาผู้แทนพระมหากษัตริย์หรืออย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
  ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมติดตามละคร "แรงเงา" อย่างใกล้ชิด...จากที่เพื่อนๆ เล่ากันน่ะ ไม่ได้ดูเองหรอก (เพราะไม่มีทีวีดู ไม่ชอบดูทีวี และไม่ดูทีวีมาหลายปีแล้ว) แต่ก็เกิดสงสัยว่า "ทำไมไอ้ผอ.มันโง่งี้(วะ)" ถ้าจะตอบว่า "ผู้ชายหล่อก็เหมือนผู้หญิงสวยนั่นแหละ มันโง่" ก็คงจะดูโง่ไปหน่อย ก็เลยลองคิดต่อดูว่า หนึ่ง ที่จริงไม่ได้มีแต่ ผอ.ในละครแรงเงาโง่อยู่คนเดียวหรอก พระเอกละครไทยกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มันก็โง่แบบนี้กันทั้งนั้นแหละ ส่วนใหญ่เลยนะผมว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดเทอมนี้อดพานักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่บ้านไปงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเธอขาแพลง เจ็บถึงขั้นเข้าเฝือกและใช้ไม้เท้าเดิน เธอบอก "เอาไว้มีงานอีกครั้งลุงต้องพาหนูไปนะ" วันนี้ก็เลยขอเขียนอวยนักเขียนสักหน่อย (คนเราไม่ต้องคอยหาทางวิจารณ์ข้อด้อยคนอื่นกันทุกเมื่อเชื่อวันก็คงสามารถจรรโลงสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร