Skip to main content

เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน

ตอนแรกผมเริ่มวิตกว่าไม่ได้เอาสมุดบันทึกเข้าไปในโรงหนัง กลัวลืมรายละเอียด แต่ก็คิดได้ว่า บ้าไปแล้ว มาดูหนังไม่ใช่มาทำวิจัยภาคสนาม

 

ผมว่าหนังเรื่องนี้บูชาความรักเหนือสิ่งอื่นใดจริงๆ เริ่มเรื่อง เราไม่ต้องรู้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นเป็นการรบระหว่างใครกับใคร รบไปทำไม รบที่ไหน ยุคไหนสมัยไหน รู้แต่ว่า พี่มากขาต้องเอาชีวิตรอดกลับไปให้ได้เพื่อเจอนางนาค

 

ความรักของพี่มากขาที่อยู่เหนือชาติเหนือแผ่นดินถูกยืนยันหนักแน่นเมื่อมากจู๋จี๋จ๊ะจ๋ากับนางนาคที่เรือน ประโยคเด็ดนั้นพูดว่าอะไร หลายคนก็น่าจะรู้ๆ กันดีอยู่แล้ว เพราะถูกหยิบไปพูดถึงกันมากแล้ว ถึงตรงนี้ ผมนึกชื่นชมกองเซ็นเซอร์ที่ปล่อยให้ประโยคนั้นหลุดออกมา แต่อีกใจก็นึกว่า สงสัยกองเซ็นเซอร์คงไม่ฉลาดพอจะเข้าใจว่า นี่มันเป็นการตบหน้าอาการคลั่งชาติบ้าสงครามของรัฐไทยชัดๆ

 

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า บทหนังยังล้อเลียนความคลั่งชาติบ้าสงครามด้วยการเสียดสีสงครามแห่งความพ่ายแพ้หลายสงครามที่มักถูกหยิบมาอ้างให้คนไทยรักชาติในฉากแรกๆ ของหนัง

 

แล้วไม่ทราบใครเห็นพระถูกพี่มากถีบบ้าง ผมเห็นเต็มตาว่าพระที่ทำทีจะต่อกรกับนางนาคถูกพี่มากถีบ แม้จะโดยไม่ตั้งใจ นี่เป็นอีกฉากที่น่าสรรเสริญความรักของพี่มากขา เพราะศาสนาซึ่งควรจะมีเมตตาอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของความรัก กลับไม่ใช้ความรักเพื่อเข้าใจความรัก แต่จะว่าไป พี่มากคงไม่ได้ถึงกับถีบศาสนา เพียงแต่ถีบผู้สืบทอดศาสนาที่ไม่เข้าใจความจริงของโลก

 

หนังพิสูจน์ว่าความรักอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ยกเว้นอารมณ์ขัน เพราะสัดส่วนของเสียงหัวเราะในโรงหนังมีมากกว่าสัดส่วนของอมยิ้มขวยเขินยามเข้าพระเข้านางและน้ำตาซาบซึ้งกับความรัก น่าสนใจที่ทำไมหนังไทยและคนไทยที่ดูหนังไทยจึงสามารถปนเปความกลัวกับเรื่องตลกได้ (แม้ไม่ถึงกับแปลงความกลัวให้เป็นเรื่องตลก) สงสัยว่าคนไทยจะขำกับความกลัวของผู้คน เสมือนว่าจริงๆ แล้ว อะไรที่น่ากลัวไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น จึงขันว่าทำไมตัวละครถึงกลัวกันลนลานจนสูญเสียความเป็นคนกันไปจนน่าขัน

 

ผมสงสัยว่าใครในโลกหล้านี้จะดูหนังเรื่องนี้รู้เรื่องบ้าง หรือจะขำอย่างที่คนไทยยอมจ่ายตังค์ไปขำกันบ้าง แม้หนังจะมีกลวิธีผูกเรื่องให้มีเกร็ดเล็กน้อยให้งงแล้วมาเฉลย จนทำให้หนังดูมีเหตุมีผลไปเสียแทบทุกอย่าง เช่น เรื่องแหวน เรื่องเจ้าเอ เรื่องมากรู้ความจริงเกี่ยวกับนาค ที่ทำให้หนังดู "สากล" แต่มุกเจ้าเอรับกรรมที่ก่อกับนาค มุกพวกมาก-นาคถูกม็อบชาวบ้านขับไล่ มุกเก็บลูกมะนาว มุกผีไทยในบ้านผีสิง ฯลฯ จะมีใครในโลกหล้าเข้าใจกันบ้างล่ะเนี่ย

 

แต่ยังไงผมก็ชอบและชื่นชมหนังนี้มากนะ ที่ชอบที่สุดคือภาษาพูด ที่ไม่กระแดะพูด "ภาษาโบราณ" ความจริงนี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หนังล้อเลียนได้ดีเยี่ยม และเป็นอีกสิ่งที่ "แปล" ให้ชาวโลกเข้าใจไม่ได้ นอกจากนั้นยังชอบที่หนังคงความเป็นตำนานนางนาค ที่ต้องมี motif หลักๆ ของตำนานนี้ครบครัน (เก็บมะนาว ห้อยหัว เปลไกวเอง บ้านรก หนอนในอาหาร ฯลฯ) และชอบที่มีมุกหลอกคนดูให้คิดพลิกกลับไปมา จนเกือบเชื่อว่า หรือเราเข้าใจสถานภาพของนาคผิดไปจริงๆ

 

เหนืออื่นใดคือชอบที่หนังหานิยามความรักใหม่ให้กับคู่รักอมตะมาก-นาค เป็นรักเหนือชาติ ศาสน์ กะ..คำตีตราของสังคม จนกลายเป็นรักที่มีพลังพ้นความเป็นอื่นอันห่างไกลกันแม้ข้ามภพภูมิ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้