Skip to main content

เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

บัดนี้ผ่านไปสามปีแล้ว อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าครับว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดอะไรขึ้น อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าว่าอาจารย์เคยกรุณาตอบจดหมายเปิดผนึกผมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ว่า อาจารย์ไม่ใช่นักวิชาการที่มีความอิสระอย่างผม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิฯ อาจารย์จะต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ได้ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านมาจวนเจียนจะสามปีแล้ว อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ ได้รวบรวมหลักฐานข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้วได้หรือยัง

 

ผมจะไม่เดือดร้อนอะไรเลยหากอาจารย์เป็นเพียงเพื่อนนักวิชาการร่วมอาชีพมานุษยวิทยาคนหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะอยู่บนหอคอยงาช้างหรืออยู่ใต้กองข้อมูลในการทำงานภาคสนาม ก็ยังไม่มีความรับผิดชอบที่จะต้องยินดียินร้าย ไม่ต้องรับผิดชอบตอบคำถามประชาชน ถึงการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 แต่การที่อาจารย์เป็นถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับประทานค่าจ้างจากราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งผมด้วย อาจารย์จึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและทันท่วงที แต่นี่ผ่านมาถึงสามปีแล้ว ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนประการใดออกมาจากหน่วยงานของอาจารย์

 

ในรายงานประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2554 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวถึงการสลายการชุมนุมในปี 2553 โดยสรุปไปทันทีตั้งแต่ต้นว่า ในการชุมนุมของ นปช. นั้น "มีรายงานว่าสงสัยว่าจะใช้ความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย" (ดูประโยคแรกของข้อ 11 ในรายงาน) หากแต่รายงานกลับสรุปว่า ยังมีความคลุมเครือว่าการตายเกิดจากการละเมิดของฝ่ายใด (ดูประโยคสุดท้ายของข้อ 11 ในรายงาน) ผมสงสัยว่าถึงขณะนี้ "ความคลุมเครือ" ดังกล่าวได้ถูกคลี่คลายลงแล้วบ้างหรือยัง

 

อาจารย์ครับ อาจารย์คงได้เห็นรายงานสองฉบับที่ให้รายละเอียดและเสนอข้อสรุปสำคัญๆ ของเหตุการณ์เมษายน - พฤษภาคม 2553 แล้ว ได้แก่ รายงานของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ" (คอป.) ที่ตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรายงานของ “ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53” (ศปช.) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการซึ่งร่วมกันรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ได้รัผลกระทบด้านต่างๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว ผมหวังว่าอาจารย์คงได้อ่านหรือมีผู้สรุปสาระสำคัญๆ ของรายงานทั้งสองฉบับให้ได้รับทราบแล้ว นอกจากนั้น ในระยะสามปีที่ผ่านมายังมีข้อมูลจากการสอบสวนของดีเอสไอ และแม้แต่ข้อสรุปส่วนสำคัญๆ จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานราชการที่น่าเชื่อถือมากหน่วยงานหนึ่งคือศาล ก็ยังได้มีคำพิพากษาต่อการเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตออกมาแล้ว

 

ที่สำคัญคือ แม้ว่ารายงานต่างๆ จะเสนอข้อมูลรายละเอียดและให้ความเห็นแตกต่างกันไปบ้าง แต่รายงานทุกฉบับก็มีข้อสรุปประการหนึ่งที่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลที่ว่า "เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว" หรือหากจะสรุปให้กว้างกว่านั้นก็คือ "กระสุนที่สังหารประชาชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนนั้น มาจากทหารที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่" ข้อเท็จจริงหรือเรียกให้ชัดในภาษาฝรั่งว่า fact เหล่านี้ น่าจะเพียงพอบ้างหรือยังครับที่หน่วยงานของอาจารย์จะสรุปว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย"

 

ผมได้เคยสอบถามอาจารย์ถึงหลักการทางมานุษยวิทยาและหลักสิทธิมนุษยชน ที่ชี้ชัดถึงการละเมิดความเป็นมนุษย์ในการในการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์มาก่อน การที่อาจารย์เลี่ยงไม่ตอบคำถามผมในสามปีก่อน อาจจะด้วยความสับสนของข้อมูล แต่มาถึงวันนี้ ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ปรากฏอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นแล้ว ผมสงสัยว่าอาจารย์จะยังคงบ่ายเบี่ยงอะไรได้อีก

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุไว้ชัดเจนว่า "ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่นนอกเหนือจากนี้" และดังนั้น "ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล"

 

หากอาจารย์ยังคงยึดมั่นตามหลักข้างต้นนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์ในปี 2553 จะเกิดขึ้นมาจากสาเหตุประการใด อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่น่าจะเห็นด้วยกับผมว่า สิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเหนือความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ และเหนือสถาบันทางการเมืองใดๆ และหากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ย่อมต้องแสดงจุดยืนต่อต้านหรืออย่างน้อยที่สุดต้องประณามการละเมิดดังกล่าว

 

ประชาชนย่อมสงสัยว่า การที่อาจารย์และคณะอาจารย์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่่าวเสียทีจะแสดงให้เห็นได้หรือไม่ว่า อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการสากลของหลักสิทธิมนุษยชนโดยแท้ หากแต่กลายเป็นว่า อาจารย์เลือกปกป้องใครบางคน ปกป้องคนบางกลุ่ม บางสถาบันทางการเมือง บางสถาบันทางราชการหรือไม่ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งผมยังหวังว่าจะเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปก็คือ การที่อาจารย์แสดงท่าทีเฉยเมยต่อกรณีดังกล่าวก็เพื่อปกป้องหน้าตาชื่อเสียงของอาจารย์ในแวดวงสังคมที่ใกล้ชิดอาจารย์เพียงเท่านั้น

 

ถึงวันนี้แล้ว ผมและประชาชนจำนวนมากอดไม่ได้ที่จะกังขาว่า อาจารย์เอาอะไรข่มตาให้หลับแล้วปลุกให้ตนเองลุกขึ้นมาไปทำงานในตำแหน่งนี้ในแต่ละวันมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยไม่สามารถให้คำตอบกับชาวโลกถึงเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนได้ และหากเมื่อวาระครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน - พฤษภาคม 2553 ได้ผ่านไปอีกหนึ่งปีแล้ว อาจารย์จะยังคงแบกรับภาระหน้าที่นี้อย่างเงียบเชียบต่อไปด้วยจริยธรรมข้อใดของนักสิทธิมนุษยชน

 

17 พฤษภาคม 2556

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้