Skip to main content

เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

บัดนี้ผ่านไปสามปีแล้ว อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าครับว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดอะไรขึ้น อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าว่าอาจารย์เคยกรุณาตอบจดหมายเปิดผนึกผมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ว่า อาจารย์ไม่ใช่นักวิชาการที่มีความอิสระอย่างผม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิฯ อาจารย์จะต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ได้ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านมาจวนเจียนจะสามปีแล้ว อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ ได้รวบรวมหลักฐานข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้วได้หรือยัง

 

ผมจะไม่เดือดร้อนอะไรเลยหากอาจารย์เป็นเพียงเพื่อนนักวิชาการร่วมอาชีพมานุษยวิทยาคนหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะอยู่บนหอคอยงาช้างหรืออยู่ใต้กองข้อมูลในการทำงานภาคสนาม ก็ยังไม่มีความรับผิดชอบที่จะต้องยินดียินร้าย ไม่ต้องรับผิดชอบตอบคำถามประชาชน ถึงการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 แต่การที่อาจารย์เป็นถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับประทานค่าจ้างจากราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งผมด้วย อาจารย์จึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและทันท่วงที แต่นี่ผ่านมาถึงสามปีแล้ว ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนประการใดออกมาจากหน่วยงานของอาจารย์

 

ในรายงานประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2554 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวถึงการสลายการชุมนุมในปี 2553 โดยสรุปไปทันทีตั้งแต่ต้นว่า ในการชุมนุมของ นปช. นั้น "มีรายงานว่าสงสัยว่าจะใช้ความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย" (ดูประโยคแรกของข้อ 11 ในรายงาน) หากแต่รายงานกลับสรุปว่า ยังมีความคลุมเครือว่าการตายเกิดจากการละเมิดของฝ่ายใด (ดูประโยคสุดท้ายของข้อ 11 ในรายงาน) ผมสงสัยว่าถึงขณะนี้ "ความคลุมเครือ" ดังกล่าวได้ถูกคลี่คลายลงแล้วบ้างหรือยัง

 

อาจารย์ครับ อาจารย์คงได้เห็นรายงานสองฉบับที่ให้รายละเอียดและเสนอข้อสรุปสำคัญๆ ของเหตุการณ์เมษายน - พฤษภาคม 2553 แล้ว ได้แก่ รายงานของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ" (คอป.) ที่ตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรายงานของ “ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53” (ศปช.) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการซึ่งร่วมกันรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ได้รัผลกระทบด้านต่างๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว ผมหวังว่าอาจารย์คงได้อ่านหรือมีผู้สรุปสาระสำคัญๆ ของรายงานทั้งสองฉบับให้ได้รับทราบแล้ว นอกจากนั้น ในระยะสามปีที่ผ่านมายังมีข้อมูลจากการสอบสวนของดีเอสไอ และแม้แต่ข้อสรุปส่วนสำคัญๆ จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานราชการที่น่าเชื่อถือมากหน่วยงานหนึ่งคือศาล ก็ยังได้มีคำพิพากษาต่อการเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตออกมาแล้ว

 

ที่สำคัญคือ แม้ว่ารายงานต่างๆ จะเสนอข้อมูลรายละเอียดและให้ความเห็นแตกต่างกันไปบ้าง แต่รายงานทุกฉบับก็มีข้อสรุปประการหนึ่งที่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลที่ว่า "เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว" หรือหากจะสรุปให้กว้างกว่านั้นก็คือ "กระสุนที่สังหารประชาชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนนั้น มาจากทหารที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่" ข้อเท็จจริงหรือเรียกให้ชัดในภาษาฝรั่งว่า fact เหล่านี้ น่าจะเพียงพอบ้างหรือยังครับที่หน่วยงานของอาจารย์จะสรุปว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย"

 

ผมได้เคยสอบถามอาจารย์ถึงหลักการทางมานุษยวิทยาและหลักสิทธิมนุษยชน ที่ชี้ชัดถึงการละเมิดความเป็นมนุษย์ในการในการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์มาก่อน การที่อาจารย์เลี่ยงไม่ตอบคำถามผมในสามปีก่อน อาจจะด้วยความสับสนของข้อมูล แต่มาถึงวันนี้ ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ปรากฏอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นแล้ว ผมสงสัยว่าอาจารย์จะยังคงบ่ายเบี่ยงอะไรได้อีก

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุไว้ชัดเจนว่า "ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่นนอกเหนือจากนี้" และดังนั้น "ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล"

 

หากอาจารย์ยังคงยึดมั่นตามหลักข้างต้นนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์ในปี 2553 จะเกิดขึ้นมาจากสาเหตุประการใด อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่น่าจะเห็นด้วยกับผมว่า สิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเหนือความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ และเหนือสถาบันทางการเมืองใดๆ และหากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ย่อมต้องแสดงจุดยืนต่อต้านหรืออย่างน้อยที่สุดต้องประณามการละเมิดดังกล่าว

 

ประชาชนย่อมสงสัยว่า การที่อาจารย์และคณะอาจารย์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่่าวเสียทีจะแสดงให้เห็นได้หรือไม่ว่า อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการสากลของหลักสิทธิมนุษยชนโดยแท้ หากแต่กลายเป็นว่า อาจารย์เลือกปกป้องใครบางคน ปกป้องคนบางกลุ่ม บางสถาบันทางการเมือง บางสถาบันทางราชการหรือไม่ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งผมยังหวังว่าจะเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปก็คือ การที่อาจารย์แสดงท่าทีเฉยเมยต่อกรณีดังกล่าวก็เพื่อปกป้องหน้าตาชื่อเสียงของอาจารย์ในแวดวงสังคมที่ใกล้ชิดอาจารย์เพียงเท่านั้น

 

ถึงวันนี้แล้ว ผมและประชาชนจำนวนมากอดไม่ได้ที่จะกังขาว่า อาจารย์เอาอะไรข่มตาให้หลับแล้วปลุกให้ตนเองลุกขึ้นมาไปทำงานในตำแหน่งนี้ในแต่ละวันมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยไม่สามารถให้คำตอบกับชาวโลกถึงเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนได้ และหากเมื่อวาระครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน - พฤษภาคม 2553 ได้ผ่านไปอีกหนึ่งปีแล้ว อาจารย์จะยังคงแบกรับภาระหน้าที่นี้อย่างเงียบเชียบต่อไปด้วยจริยธรรมข้อใดของนักสิทธิมนุษยชน

 

17 พฤษภาคม 2556

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง