Skip to main content

เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราวๆ 70 คน เกือบทั้งหมดเข้ามาเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีจำนวนหนึ่งอยู่คณะสังคมสงเคราะห์ ผมได้ความรู้ใหม่ๆ มากยจากการบรรยายกึ่งเสวนากับนักศึกษาในชั้นเรียน

ตามวิธีของผม ผมไม่ได้นั่งบรรยาย ไม่ได้เล่าไปเรื่อยๆ แต่จัดทอร์คโชว์ประกอบสไลด์ ภาพ และคลิปวิดีโอ วันนี้เปิดคลิปเกี่ยวกับพิธีไหว้ครูที่มีคน "ของขึ้น" เต้นท่าลิง กับเปิด MV เพลง "รักต้องเปิด (แน่นอก)" ต้นฉบับนะครับ ไม่ใช่ "ฉบับนั้น"

ผมตั้งคำถามหลักๆ กับนักศึกษาว่า สังคมคืออะไร ศาสตร์คืออะไร สังคมศาสตร์มีสาขาวิชาอไรบ้าง จริตของนักสังคมศาสตร์เป็นอย่างไร เรียนสังคมศาสตร์ไปเพื่ออะไร

ส่วนหนึ่งของการบรรยาย ผมตั้งคำถามว่า "สังคมศาสตร์ในโรงเรียนเป็นอย่างไร" แล้วชวนนักศึกษาคุยว่า อะไรบ้างที่พวกเขาคิดว่าคือการเรียนทางสังคมศาสตร์ในโรงเรียน นักศึกษาก็ตอบว่าประวัติศาสตร์บ้าง ภูมิศาสตร์บ้าง เศรษฐศาสตร์บ้าง พุทธศาสนาบ้าง แต่ท้ายที่สุดผมตั้งคำถามว่า "นอกจากเนื้อหาของวิชาที่พวกคุณคิดว่าเป็นสังคมศาสตร์แล้ว อะไรที่เป็นวิธีการเรียนการสอน วิธีคิดทางสังคมศาสตร์ที่ได้เรียน"

พอเห็นนักศึกษาเงียบ คงเพราะพวกเขาเริ่มงงกับคำถาม ผมเฉลยด้วยสไลด์ที่เตรียมมาว่า สังคมศาสตร์ในโรงเรียนน่ะ

- สอนให้จำ มากกว่าทำความเข้าใจ
- สอนให้จด มากกว่าคิด
- สอนให้เชื่อฟัง มากกว่าตั้งคำถาม
- สอนให้สืบทอด มากกว่าเปลี่ยนแปลง

สอนให้จำ นักเรียนจึงเบื่อหน่าย ผลการสำรวจในห้องเรียน มีนักเรียนน้อยกว่า 10% ที่ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คนที่ชอบเขาชอบเนื้อหาสาระ และชอบจดจำเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยบาดแผล แต่ไม่มีใครเรียนประวัติศาสตร์แบบให้ค้นคว้า ให้ถกเถียง มีแต่เรียนตามตำรา 

สอนให้จดนั้นเป็นที่เข้าใจกันทันที เพราะนักเรียนบอกว่า หลายต่อหลายครั้งครูมาสอนด้วยการเปิดอ่านตำราให้นักเรียนจดตาม ยิ่งกว่าน่าเบื่อหน่ายกับการท่องจำเสียอีก

สอนให้เชื่อฟังมากกว่าตั้งคำถามนั้น เมื่อผมถามนักศึกษาว่า "ตอนคุณเรียน มีใครเคยถามคำถามครูจนกระทั่งครูโกรธ ครูตอบไม่ได้ ครูเรียกไปอบรมว่าก้าวร้าวกับผู้ใหญ่ มีความคิดกระด้างกระเดื่องกับระบบหรือไม่" ปรากฏว่าไม่มีใครสักคนตอบว่า "เคยครับ-ค่ะ" 

สอนให้สืบทอดเป็นอย่างไร ผมถามนิยามของคำว่า "วัฒนธรรม" ในห้องมีสองคำตอบ (1) วัฒนธรรมคือความดีงามที่สืบทอดกันมาจากอดีต (2) วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ผมขอให้นักศึกษายกมือว่าใครบ้างที่ตอบคำตอบแรก ใครบ้างที่ตอบคำตอบหลัง มีเพียง 2 คนในห้องที่ตอบคำตอบหลัง

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า "ศาสตร์คืออะไร" นักศึกษาหลายคนตอบได้อย่างกระตือรือล้นว่า ภาษาอังกฤษเรียกว่า science ซึ่งก็คือ "ความเป็นวิทยาศาสตร์" นักศึกษาตอบได้ว่าความเป็นวิทยาศาสตร์มีหลักการที่การพิสูจน์ การทดลอง ใช้เหตผล แต่ชุดคำตอบที่ผมประทับใจที่สุดคือนิยามความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยคำพื้นๆ แต่สำคัญคือ "การสงสัย"

ประเด็นที่ผมชวนนักศึกษาสนทนาต่อเนื่องทันทีจากคำตอบชุดนี้คือ "แล้วทำไมพวกคุณไม่รู้จักใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์กับการศึกษาสังคม" ทำไมนักศึกษาจึงไม่รู้จักรวมความเป็นศาสตร์เข้ากับการศึกษาสังคม ทำไมโรงเรียนไม่สอนให้พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคม ต่อคำถามนี้ พวกเขานั่งนิ่ง อึ้งกันไป

ผมชวนพวกเขาคุยประเด็นรายละเอียดอีกมากมาย ประเด็นหนึ่งที่ทำให้พวกเขาตอบโต้อย่างถึงพริกถึงขิงคือคำถามที่ผมตั้งว่า "พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรือ" ทุกคนยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ผมถามว่า ทำไมเป็นวิทยาศาสตร์แล้วต้องสอนเรื่องนรก-สวรรค์ด้วย บางคนตอบว่าเป็นเรื่องบัวใต้น้ำเหนือน้ำ วิธีสอนคนไม่เหมือนกัน

ผมถามต่อว่าทำไมจะต้องสอนให้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของจีวรด้วย ในเมื่อจีวรก็แค่เครื่องนุ่งห่ม ทำไมพระจะต้องให้ผู้หญิงคอยหลบด้วย นักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า "เพราะจะเป็นการยั่วกิเลสพระ" ผมถามกลับว่า "แล้วทำไมพระซึ่งบำเพ็ญตน จึงไม่รู้จักเดินเลี่ยง สำรวม หลบผู้หญิงไปเอง ทำไมจะต้องสอนกันให้ผู้หญิงกลัวบาปถ้าเข้าใกล้พระ พระเองสิต้องระวัง หลบไป"

โดยรวมๆ แล้วผมท้าทายพวกเขาว่า "ถ้าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์จริง ก็ล้มเหลวในการสั่งสอนมาก ล้มเหลวจนไม่ควรเดินตาม เพราะสอนอย่างไรจึงทำให้สาวกหลักของศาสนา คือพวกพระ ส่วนใหญ่ยังงมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์"

มีการโต้เถียงเรื่องพระกันอีกหลายประเด็น แต่สุดท้าย ผมยังยืนยันว่า พุทธศาสนาไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พวกเขาไม่ค่อยยอมรับคำตอบผมเท่าไรนักหรอก ซึ่งก็ดี และก็ยังหวังว่าพวกเขาจะคิดกันมากขึ้นกับความ(ไม่)เป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา

สรุปแล้ว "ทำไมโรงเรียนจึงไม่สอนให้นักเรียนใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในการศึกษาสังคม" ก็เพราะสังคมศาสตร์ในโรงเรียนต้องการสอนให้นักเรียนเชื่อง สังคมศาสตร์ในโรงเรียนเป็นวิชาของชนชั้นปกครอง สังคมศาสตร์ในโรงเรียนไม่ใช่ "ศาสตร์" แต่เป็นลัทธิความเชื่อบ้าง เป็นนิทานบ้าง เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาครอบงำบ้าง หรือที่ถูกควรจะเรียกว่าเป็น "สังคม(ไสย)ศาสตร์" เสียเลยจะดีกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้