Skip to main content

เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราวๆ 70 คน เกือบทั้งหมดเข้ามาเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีจำนวนหนึ่งอยู่คณะสังคมสงเคราะห์ ผมได้ความรู้ใหม่ๆ มากยจากการบรรยายกึ่งเสวนากับนักศึกษาในชั้นเรียน

ตามวิธีของผม ผมไม่ได้นั่งบรรยาย ไม่ได้เล่าไปเรื่อยๆ แต่จัดทอร์คโชว์ประกอบสไลด์ ภาพ และคลิปวิดีโอ วันนี้เปิดคลิปเกี่ยวกับพิธีไหว้ครูที่มีคน "ของขึ้น" เต้นท่าลิง กับเปิด MV เพลง "รักต้องเปิด (แน่นอก)" ต้นฉบับนะครับ ไม่ใช่ "ฉบับนั้น"

ผมตั้งคำถามหลักๆ กับนักศึกษาว่า สังคมคืออะไร ศาสตร์คืออะไร สังคมศาสตร์มีสาขาวิชาอไรบ้าง จริตของนักสังคมศาสตร์เป็นอย่างไร เรียนสังคมศาสตร์ไปเพื่ออะไร

ส่วนหนึ่งของการบรรยาย ผมตั้งคำถามว่า "สังคมศาสตร์ในโรงเรียนเป็นอย่างไร" แล้วชวนนักศึกษาคุยว่า อะไรบ้างที่พวกเขาคิดว่าคือการเรียนทางสังคมศาสตร์ในโรงเรียน นักศึกษาก็ตอบว่าประวัติศาสตร์บ้าง ภูมิศาสตร์บ้าง เศรษฐศาสตร์บ้าง พุทธศาสนาบ้าง แต่ท้ายที่สุดผมตั้งคำถามว่า "นอกจากเนื้อหาของวิชาที่พวกคุณคิดว่าเป็นสังคมศาสตร์แล้ว อะไรที่เป็นวิธีการเรียนการสอน วิธีคิดทางสังคมศาสตร์ที่ได้เรียน"

พอเห็นนักศึกษาเงียบ คงเพราะพวกเขาเริ่มงงกับคำถาม ผมเฉลยด้วยสไลด์ที่เตรียมมาว่า สังคมศาสตร์ในโรงเรียนน่ะ

- สอนให้จำ มากกว่าทำความเข้าใจ
- สอนให้จด มากกว่าคิด
- สอนให้เชื่อฟัง มากกว่าตั้งคำถาม
- สอนให้สืบทอด มากกว่าเปลี่ยนแปลง

สอนให้จำ นักเรียนจึงเบื่อหน่าย ผลการสำรวจในห้องเรียน มีนักเรียนน้อยกว่า 10% ที่ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คนที่ชอบเขาชอบเนื้อหาสาระ และชอบจดจำเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยบาดแผล แต่ไม่มีใครเรียนประวัติศาสตร์แบบให้ค้นคว้า ให้ถกเถียง มีแต่เรียนตามตำรา 

สอนให้จดนั้นเป็นที่เข้าใจกันทันที เพราะนักเรียนบอกว่า หลายต่อหลายครั้งครูมาสอนด้วยการเปิดอ่านตำราให้นักเรียนจดตาม ยิ่งกว่าน่าเบื่อหน่ายกับการท่องจำเสียอีก

สอนให้เชื่อฟังมากกว่าตั้งคำถามนั้น เมื่อผมถามนักศึกษาว่า "ตอนคุณเรียน มีใครเคยถามคำถามครูจนกระทั่งครูโกรธ ครูตอบไม่ได้ ครูเรียกไปอบรมว่าก้าวร้าวกับผู้ใหญ่ มีความคิดกระด้างกระเดื่องกับระบบหรือไม่" ปรากฏว่าไม่มีใครสักคนตอบว่า "เคยครับ-ค่ะ" 

สอนให้สืบทอดเป็นอย่างไร ผมถามนิยามของคำว่า "วัฒนธรรม" ในห้องมีสองคำตอบ (1) วัฒนธรรมคือความดีงามที่สืบทอดกันมาจากอดีต (2) วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ผมขอให้นักศึกษายกมือว่าใครบ้างที่ตอบคำตอบแรก ใครบ้างที่ตอบคำตอบหลัง มีเพียง 2 คนในห้องที่ตอบคำตอบหลัง

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า "ศาสตร์คืออะไร" นักศึกษาหลายคนตอบได้อย่างกระตือรือล้นว่า ภาษาอังกฤษเรียกว่า science ซึ่งก็คือ "ความเป็นวิทยาศาสตร์" นักศึกษาตอบได้ว่าความเป็นวิทยาศาสตร์มีหลักการที่การพิสูจน์ การทดลอง ใช้เหตผล แต่ชุดคำตอบที่ผมประทับใจที่สุดคือนิยามความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยคำพื้นๆ แต่สำคัญคือ "การสงสัย"

ประเด็นที่ผมชวนนักศึกษาสนทนาต่อเนื่องทันทีจากคำตอบชุดนี้คือ "แล้วทำไมพวกคุณไม่รู้จักใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์กับการศึกษาสังคม" ทำไมนักศึกษาจึงไม่รู้จักรวมความเป็นศาสตร์เข้ากับการศึกษาสังคม ทำไมโรงเรียนไม่สอนให้พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคม ต่อคำถามนี้ พวกเขานั่งนิ่ง อึ้งกันไป

ผมชวนพวกเขาคุยประเด็นรายละเอียดอีกมากมาย ประเด็นหนึ่งที่ทำให้พวกเขาตอบโต้อย่างถึงพริกถึงขิงคือคำถามที่ผมตั้งว่า "พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรือ" ทุกคนยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ผมถามว่า ทำไมเป็นวิทยาศาสตร์แล้วต้องสอนเรื่องนรก-สวรรค์ด้วย บางคนตอบว่าเป็นเรื่องบัวใต้น้ำเหนือน้ำ วิธีสอนคนไม่เหมือนกัน

ผมถามต่อว่าทำไมจะต้องสอนให้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของจีวรด้วย ในเมื่อจีวรก็แค่เครื่องนุ่งห่ม ทำไมพระจะต้องให้ผู้หญิงคอยหลบด้วย นักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า "เพราะจะเป็นการยั่วกิเลสพระ" ผมถามกลับว่า "แล้วทำไมพระซึ่งบำเพ็ญตน จึงไม่รู้จักเดินเลี่ยง สำรวม หลบผู้หญิงไปเอง ทำไมจะต้องสอนกันให้ผู้หญิงกลัวบาปถ้าเข้าใกล้พระ พระเองสิต้องระวัง หลบไป"

โดยรวมๆ แล้วผมท้าทายพวกเขาว่า "ถ้าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์จริง ก็ล้มเหลวในการสั่งสอนมาก ล้มเหลวจนไม่ควรเดินตาม เพราะสอนอย่างไรจึงทำให้สาวกหลักของศาสนา คือพวกพระ ส่วนใหญ่ยังงมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์"

มีการโต้เถียงเรื่องพระกันอีกหลายประเด็น แต่สุดท้าย ผมยังยืนยันว่า พุทธศาสนาไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พวกเขาไม่ค่อยยอมรับคำตอบผมเท่าไรนักหรอก ซึ่งก็ดี และก็ยังหวังว่าพวกเขาจะคิดกันมากขึ้นกับความ(ไม่)เป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา

สรุปแล้ว "ทำไมโรงเรียนจึงไม่สอนให้นักเรียนใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในการศึกษาสังคม" ก็เพราะสังคมศาสตร์ในโรงเรียนต้องการสอนให้นักเรียนเชื่อง สังคมศาสตร์ในโรงเรียนเป็นวิชาของชนชั้นปกครอง สังคมศาสตร์ในโรงเรียนไม่ใช่ "ศาสตร์" แต่เป็นลัทธิความเชื่อบ้าง เป็นนิทานบ้าง เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาครอบงำบ้าง หรือที่ถูกควรจะเรียกว่าเป็น "สังคม(ไสย)ศาสตร์" เสียเลยจะดีกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...