Skip to main content

 

เมื่อ 13 มิถุนายน 2556 สำนักกิจการชาติพันธ์ุ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เชิญผมไปบรรยายก่อนการเปิดการประชุม ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งจัดขึ้นเพื่อประชาพิจารณ์แผนแม่บท "การพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง" มีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ เข้าร่วมกว่า 700 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐอีกกว่า 100 คน

<--break->

ผมเริ่มการบรรยายโดยตั้งคำถามว่า ที่ว่า "การพัฒนากลุ่มชาติพันธ์ุ" นั้น แท้จริงแล้วใครกันแน่ที่ควรได้รับการพัฒนา รากเหง้าของปัญหากลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทยคืออะไรกันแน่ จะมองการพัฒนาจากมุมมองของกลุ่มชาติพันธ์ุเองได้อย่างไร อะไรบ้างคือปัญหาปัจจุบันเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทย ทำอย่างไรจึงจะบริหารจัดการประเด็นชาติพันธ์ุในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ต่อไปนี้คือบันทึกที่เป็นโครงร่างของการบรรยาย

(1) การพัฒนาพหุสังคม

ที่ตั้งโจทย์ว่า "การพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์" ยังจำกัดไป เพราะมองกลุ่มชาติพันธ์ุเป็นผู้รับการพัฒนาฝ่ายเดียว แต่อันที่จริง รัฐเองก็ต้องนับตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย รัฐเองก็ต้องปรับตัว ต้องพัฒนาให้เท่าทันภาวะการณ์ใหม่ที่เปิดกว้างแก่กลุ่มชาติพันธ์ุด้วย นอกจากนั้น ภาคประชาสังคม ประชาชนทั่วไปก็จะต้องเข้ามาอยู่ในการพัฒนานี้ด้วย

ฉะนั้น เราอาจต้องเรียกเสียใหม่ว่า "การพัฒนาพหุสังคม" เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและสันติสุขระหว่างชนกลุ่มต่างๆ และระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธ์ุ และดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาปัญหาไปถึงรากเหง้าของมัน โดยนำเอารัฐและประวัติศาสตร์การพัฒนาสังคมที่มองจากมุมมองของกลุ่มชาติพันธ์ุเข้ามาพิจารณา

(2) รากเหง้าของปัญหาชาติพันธ์ุ 

เกิดจากโครงสร้างรัฐกับชาติพันธ์ุ ในแต่ละประเทศมีแตกต่างกัน จึงก่อปัญหาแตกต่างกัน (เรื่องนี้ผมปรับมาจากงานของแอนโทนี รีด)

หนึ่ง แบบรัฐผสมปะปนชาติพันธ์ุหลากหลาย รัฐอ่อน ไม่เป็นเอกภาพแต่แรก กลุ่มชาติพันธุ์อ่อน เช่น ลาว กัมพูชา

สอง แบบรัฐใหม่จากที่ไม่เคยมีรัฐใหญ่มาก่อน รัฐเข้มแข็ง แต่เพราะไม่มีคนกลุ่มไหนครองอำนาจรัฐมาก่อน จึงอยู่กันได้ รัฐสร้างขึ้นมาใหม่เอี่ยม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย 

สาม แบบรัฐเดี่ยวที่มีอำนาจมากท่ามกลางชาติพันธุ์ชายขอบ รัฐเหล่านี้เข้มแข็ง รัฐแบบนี้สร้างขึ้นมาจากการมีคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจอยู่ก่อน มีความสืบเนื่องของอำนาจในคนกลุ่มหนึ่ง สร้างภาวะรัฐศูนย์กลาง รัฐรอบนอก และกลุ่มชาติพันพันธ์ุชายขอบ เช่น ไทย พม่า เวียดนาม ปัญหาของรัฐเดี่ยวท่ามกลางชาติพันธ์ุชายขอบที่สำคัญคือ การสร้างภาวะอาณานิคมภายใน รัฐศูนย์กลางสร้างอาณานิคมภายในขึ้นมาเมื่อสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ทำให้กลุ่มชาติพันธ์ุกลายเป็นอาณานิคมของรัฐส่วนกลาง จากที่เดิมต่างก็มีอำนาจในการปกคริงตนเอง

ประเทศไทยประสบปัญหานี้มาก เพราะมีรัฐชาติมานานก่อนเวียดนามและพม่า เวียดนามประสบปัญหาน้อยกว่า เพราะมีประวัติศาสตร์ร่วมกันสร้างชาติ พม่าประสบปัญหามากที่สุด เพราะกลุ่มชาติพันธ์ุมีมากยิ่งกว่าไทยและเวียดนาม ประกอบกับเลือกทางออกแบบพยายามสลายอำนาจและอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธ์ุอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม โดยรวมๆ แล้ว รัฐไทยมีอำนาจมาก กลุ่มชาติพันธ์ุมีอำนาจต่อรองน้อย จึงถูกรัฐเองนั่นแหละละเมิดเอาได้ง่าย เช่น เรื่องสิทธิการเป็นพลเมือง ก่อนนี้หรือในบางพื้นที่หรือกับบางกลุ่มที่ถูกเพิกเฉยละเลย หรือได้สิทธิแต่ก็ยังไม่เท่าคนไทย เรื่องสิทธิที่ทำกิน เช่น การประกาศที่อุทยานทับชุมชนชาวบ้าน การไม่ยอมรับป่าชุมชน ตลอดจนสิทธิในการรักษาสืบทอดอัตลักษณ์ กรณีมุสลิมชัดที่สุด กรณีเขมร กรณีลาวทำจนเขาไม่อยากเป็นเขมร ไม่อยากเป็นลาว

(3) ประเด็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

ปัญหาพื้นฐานที่สุด รุนแรงที่สุดคือ ปัญหาสิทธิพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิพลเมือง สิทธิที่ทำกิน สิทธิแรงงาน การละเมิดของรัฐ ข้อจำกัดในการเข้าสู่โลกสมัยใหม่

ปัญหาระดับต่อมาคือ สิทธิวัฒนธรรม ผู้คนในประเทศนี้ยังไม่ได้สามารถแสดงออก ดำรงชีวิตตามสิทธิทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการแสดงอัตลักษณ์ไม่ใช่แค่เรื่องการแสดงออกอย่างฉาบฉวย ไม่ใช่เรื่่องการแสดงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่คือการดำเนินชีวิตในแบบที่เขาเชื่ ทั้งนี้น้งไม่ขัดกับสิทธิพื้นฐานของผู้อื่น กระนั้นก็ตาม 

แต่ละกลุ่มชาติพันธ์ุจะไม่อ้างสิทธิวัฒนธรรมเหนือสิทธิพื้นฐานส่วนบุคคลไม่ได้ ไม่ว่าจะในระดับชุมชนหรือระดับชาติ จะอ้างว่าลูกหลานต้องเคารพวัฒนธรรมตนเอง ไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตตนเองไม่ได้ เพราะนั่นจะละเมิดสิทธิพื้นฐานขิงคนรุ่นใหม่ หรือจะอ้างสิทธิวัฒนธรรมตน แล้วละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนในสังคมโดยรวมก็ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องชั่งตวง ต้องยอมรับกันทั้งสังคม ต้องหาจุดรอมชอมกัน 

สังคมพหุวัฒนธรรม ต้องสร้างสำนึกชาติพันธ์ุให้ทั้งสังคมยอมรับ ต้องมีค่านิยมแบบสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) ไม่มีสังคมใด วัฒนธรรมใด เหนือหรือสูงกว่าสังคมอื่นวัฒนธรรมอื่น นี่คือคุณธรรมที่ต่อต้านเผ่าพันธ์ุนิยม ต่อต้านชาตินิยมแบบสุดขั้วที่เห็นแต่ชนชาติตนเองสูงส่ง นี่คือค่านิยมต่อต้านการหลงชาติพันธ์ุตนเอง (anti-ethnocentrism) และต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างกัน ทุกวันนี้เราส่งเสริมเรื่องนี้กันน้อยมาก

(4) การดำเนินกิจการชาติพันธ์ุอย่างยั่งยืน

ลำพังเนื้อหา ประเด็นที่สวยหรูอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้เกิดเป็นจริงได้ หากเราไม่ได้ออกแบบองค์กรให้สามารถดำเนินนโยบายได้จริง

ระบบตัวแทนแบบเลือกตั้งทั่วไปช่วยไม่ได้ เพราะแต่ละกลุ่มชาติพันธ์ุมีประชากรน้อย หากมีตัวแทน ก็จะไม่สามารถแสดงออกได้เต็มที่ กรณีพม่าและไทย การพัฒนาประชาธิปไตยอาจจะไม่ช่วยอะไรให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุมากนัก เพราะเขามีจำนวนตัวแทนไม่เพียงพอ เวียดนามใช้ระบบการเมืองท้องถิ่น และระบบการมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธ์ุเข้าไปในสภาและในศูนย์กลางอำนาจระดับสูง แต่เขาทำได้เพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่พรรคเดียว ของไทยทำแบบนั้นไม่ได้ 

กรณีของไทย ผมเสนอรูปแบบ "สภากลุ่มชาติพันธ์ุและชนเผ่าพื้นเมือง" 

ด้านที่มาของอำนาจ ต้องมีการลงทะเบียนกลุ่มชาติพันธ์ุ จัดการเลือกตั้งสมาชิกแบบสัดส่วน อยู่ในตำแหน่งตามวาระ 4 ปี เชื่อว่าในสภา ชนกลุ่มเล็กๆ จะรวมตัวกันต่อรองกับชนกลุ่มใหญ่ได้ ด้านอำนาจหน้าที่ สภากลุ่มชาติพันธ์ุฯ มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ มีอำนาจฟ้องร้องเอาผิดกับบุคคล นิติบุคคล และหน่วยงานรัฐที่ละเมิดสิทธิ มีหน้าที่เสนอกฎหมายด้านกลุ่มชาติพันธ์ุให้รัฐสภา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมอัตลักษณ์ สร้างเวทีนานาชาติ ในการนี้ ต้องมีหน่วยงานอย่างสำนักกิจการมีฐานะเป็นเอกเทศ เป็นฝ่ายบริหารงาน ประสานงาน และเป็นเลขานุการของสภาฯ

สุดท้ายผมกล่าวสรุปว่า "พ่อแม่พี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ุที่มาร่วมประชุมในสองวันนี้ทุกท่าน พวกท่านกำลังจะร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย ที่เรามีวันนี้ได้ พูดได้ว่ารัฐไทยตาสว่างขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว แต่พวกท่านต้องไม่เกรงใจ ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ต้องกล้าบอกว่ารัฐนั่นแหละที่ละเมิดกลุ่มชาติพันธ์ุมาตลอดในด้านต่างๆ ต้องบอกให้สังคมเข้าใจชีวิตเรา ต้องหาวิธีการจัดการที่พวกท่านจะมีส่วนร่วมได้มากที่สุด เพื่อการพัฒนาไม่เพียงพวกท่าน แต่พัฒนาทั้งรัฐและสังคมโดยรวมไปสู่ภาวะพหุสังคมพร้อมๆ กัน"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ