Skip to main content

ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์

ภาพที่เห็นเป็นผลการสำรวจ "ความคิดเห็นต่อการแต่งกายเข้าห้องเรียนของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2555" (ปีกลาย) ที่อาจารย์ท่านหนึ่งนำมาเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนคณาจารย์ แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอาย น่าอดสู ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้หมกมุ่นเอาจริงเอาจังกับเรื่องไร้สาระเช่นนี้ จึงขอถือวิสาสะนำมาเปิดเผยในที่แจ้งมากขึ้น ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) ถ้าดูเฉพาะผลการสำรวจโดยยังไม่ใส่คุณค่าใดๆ จะเห็นได้ว่าคณะทาง "สายวิชาชีพ" ใส่ใจกับการแต่งกาย "สุภาพ" มากกว่าคณะทาง "สายวิชาการ" คณะทาง "วิทยาศาสตร์" ใส่ใจกับการแต่งกายสุภาพมากกว่าคณะทาง "สังคมศาสตร์" และ "มนุษยศาสตร์"

แต่ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า ความ "ใส่ใจ" นี้ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากสำนึกของนักศึกษาเอง แต่อาจจะมาจากการกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดของคณาจารย์และคณะต่างๆ เอง หรือมาจากทั้งสองฝ่าย

2) เมื่อผมเผยแพร่ข้อสังเกตนี้ไปในพื้นที่อื่นเมื่อวาน (24 มิถุนายน 2556) ผมใช้คำว่า "เครื่องแบบ" แทนที่จะเป็นคำว่า "การแต่งกายสุภาพ" แต่มีผู้ทักท้วงว่า การสำรวจนี้เขาสำรวจเรื่องการแต่งกายสุภาพ ไม่ได้สนใจเครื่องแบบ และหลายคณะในธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้บังคับให้ต้องใส่เครื่องแบบอย่างจริงจัง แต่ผมคิดว่านั่นเป็นการเลี่ยงคำ อาจจะเพราะเกรงการครหาว่าธรรมศาสตร์บังคับให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบ

ที่จริงมีทั้งการรณรงค์และการบังคับให้สวมเครื่องแบบในพื้นที่และโอกาสที่ผู้รณรงค์ (คงไม่ต้องบอกนะครับว่าใคร) และผู้ควบคุมสถานที่ระบุว่า "เพื่อเหมาะสม" ในแง่นี้ "การแต่งกายสุภาพ" ในส่วนใหญ่ ย่อมหมายถึงการแต่งเครื่องแบบ

แต่เอาล่ะ หากถือว่าการสำรวจนี้ต้องการสำรวจเพียง "ความสุภาพ" ของการแต่งกาย ก็ยังต้องถามต่ออีกว่า อะไรคือ "ความสุภาพ" ที่ว่านั้น และผมคิดว่าข้อสังเกตต่อไปข้างล่าง ซึ่งไม่ได้ใช้คำว่า "เครื่องแบบ" ตั้งแต่เมื่อเผยแพร่ครั้งแรก ก็ยังใช้ได้กับการสำรวจความสุภาพของการแต่งกายอยู่ดี

3) หากจะลองตีความผลการสำรวจดังภาพดู ผมคิดว่าเหตุที่คณะทางสายวิชาชีพและสายวิทยาศาสตร์มีความเข้มงวดมากกว่านั้น เพราะสายวิชาชีพต้องการการควบคุม ต้องการวินัยมาก ทางคณะจึงต้องการเตรียมนักศึกษาให้ออกไปเป็นผู้ใช้แรงงานระดับกลาง ระดับสูง ที่มีวินัย เชื่อฟังเจ้านาย เชื่อฟังระบบระเบียบ รับการสั่งการได้ง่าย

ส่วนสายวิทยศาตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้น ผมไม่เข้าใจว่าจะเข้มงวดไปทำไม นอกจากว่าทั้งคณาจารย์และศิษย์นั้นเคยชินกับการเป็น "เด็กดี" เชื่อฟังระบบระเบียบ หรือไม่อย่างนั้น โดยธรรมเนียมของวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนกว่าอยู่แล้ว จึงยอมรับระเบียบได้ง่ายกว่า

ผิดกับสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่โดยสาขาวิชาการแล้ว ถูกสอนให้ตั้งคำถามกับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกทำให้มีความเชื่อมั่นในความคิดความเห็นของตนเอง ทั้งจากเนื้อหาวิชาเอง และจากการเรียนการสอนที่มักให้นักศึกษาคิดเอง ตัดสินใจเอง ใช้เหตุใช้ผลอย่างอิสระเองมากกว่า ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาจึงมีและให้อิสระในการแต่งกายมากกว่า

4) การวิจัยนี้ไม่เป็นกลางอย่างแน่นอน ซึ่งที่จริงก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะจะหาการวิจัยที่ไหนที่ปราศจากคุณค่าอย่างเด็ดขาดนั้นไม่มีหรอก แม้ว่าจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม (คงไม่ต้องให้ผมไปหาเอกสารอ้างอิงมายืดยาวเพื่อยืนยันกันหรอกนะ) แต่ที่สำคัญกว่าคือ คุณค่าแบบไหนกันที่การสำรวจนี้เชิดชูยกย่อง และต้องถามต่อว่า คุณค่าแบบนั้นเหมาะสม สอดคล้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือไม่

งานวิจัยนี้ไม่เป็นกลางในแง่ของการใส่คุณค่าทางสังคมให้กับการแต่งชุดนักศึกษาตั้งแต่แรก หากวัดคุณค่าด้าน "ความรักอิสระ" "ความคิดสร้างสรรค์" "ความเป็นตัวของตัวเอง" "การให้อิสระแก่นักศึกษา" ตารางนี้จะต้องถูกกลับหัวกลับหางแน่นอน แต่ตารางนี้เลือกวัดคุณค่าจาก "ความมีวินัย" "การยอมรับกฎระเบียบ" "ความเชื่อง" "การเข้มงวดต่อนักศึกษาของคณาจารย์" ตารางนี้จึงเป็นอย่างที่เห็น

การสำรวจนี้จึงแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน่วยงานใดที่ทำตารางนี้ออกมา และหน่วยงานใดหรือคณาจารย์ท่านใดที่เต้นตามตารางนี้ กำลังทำให้เรื่องการแต่งกายกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม เป็นศีลธรรมของการควบคุมคน ไม่ใช่หลักการของการสอนให้คนคิดเป็น สร้างสรรค์ เชื่อมั่นในตนเอง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า พวกเขาอาจกำลังสับสนระหว่างการให้การศึกษาที่มันสมองกับการสั่งสอนศีลธรรมบนเรือนร่าง ยังไม่นับว่าการแต่งกายไม่ได้สอนให้คนเป็นคนดีจากข้างในจิตใจแต่อย่างใด

5) น่าสงสัยว่า อะไรคือตัวชี้วัดความ "สุภาพ" ความ "ไม่สุภาพ" ของการแต่งกาย ถ้าจะดูกันเพียงแค่นี้ โดยยังไม่ต้องดูเรื่องการสุ่มตัวอย่าง การกระจายตัวอย่าง การคิดค่าทางสถิติ และแง่มุมทางระเบียบวิธีวิจัยอีกร้อยแปด (นี่เป็นสำนวนนะครับ ไม่ต้องมาให้ลิสต์กันล่ะว่า 108 ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง) ก็ยิ่งทำให้สงสัยว่า ทำไมผู้บริหารบางคนบางคณะ ที่ต่างก็อวดอ้างกันว่ามีความรู้ความสามารถ ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตทางการวิจัยอะไรต่างๆ จะตื่นเต้นอะไรกับผลการสำรวจงูๆ ปลาๆ นี้ได้ 

นี่ยังไม่นับว่า เขาใช้วิธีสำรวจอย่างไร ผมได้ยินมาว่ามีการสำรวจด้วยการถ่ายรูปนักศึกษาบริเวณคณะต่างๆ หากทำอย่างนั้น ก็น่าสงสัยว่าจะผิดจริยธรรมของการวิจัยหรือไม่ ที่สำรวจด้วยการตัดสินคุณค่าโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกวิจัยทราบว่ากำลังถูกตัดสินคุณค่าอยู่ แต่ในเมื่อผู้สำรวจมีธงยู่ก่อนแล้วว่า ตนเองมีมาตรฐานการวัดคุณค่าอย่างไร ก็แปลว่าผู้สำรวจเข้าใจว่าตนเองมีคุณค่าทางศีลธรรมเหนือกว่าผู้ถูกสำรวจ ในแง่นี้ก็คงไม่ต้องพูดกันเรื่องจริยธรรมของการวิจัย

แต่ที่ตลกคือ หากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยทำการสำรวจเอง แล้วทำวิจัยที่มีนัยส่อในทางละเมิดจริยธรรมของการวิจัยเสียเองแล้ว หน่วยงานของมหาวิทยาลัยจะมีความชอบธรรมในการใช้มาตราฐานทางจริยธรรมของการวิจัยไปตัดสินใครได้ ในเมื่อตนเองก็ยังละเมิดเสียเอง

นี่แหละครับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันครบรอบ 81 ปีการอภิวัฒน์สยาม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง