Skip to main content

ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์

ภาพที่เห็นเป็นผลการสำรวจ "ความคิดเห็นต่อการแต่งกายเข้าห้องเรียนของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2555" (ปีกลาย) ที่อาจารย์ท่านหนึ่งนำมาเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนคณาจารย์ แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอาย น่าอดสู ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้หมกมุ่นเอาจริงเอาจังกับเรื่องไร้สาระเช่นนี้ จึงขอถือวิสาสะนำมาเปิดเผยในที่แจ้งมากขึ้น ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) ถ้าดูเฉพาะผลการสำรวจโดยยังไม่ใส่คุณค่าใดๆ จะเห็นได้ว่าคณะทาง "สายวิชาชีพ" ใส่ใจกับการแต่งกาย "สุภาพ" มากกว่าคณะทาง "สายวิชาการ" คณะทาง "วิทยาศาสตร์" ใส่ใจกับการแต่งกายสุภาพมากกว่าคณะทาง "สังคมศาสตร์" และ "มนุษยศาสตร์"

แต่ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า ความ "ใส่ใจ" นี้ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากสำนึกของนักศึกษาเอง แต่อาจจะมาจากการกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดของคณาจารย์และคณะต่างๆ เอง หรือมาจากทั้งสองฝ่าย

2) เมื่อผมเผยแพร่ข้อสังเกตนี้ไปในพื้นที่อื่นเมื่อวาน (24 มิถุนายน 2556) ผมใช้คำว่า "เครื่องแบบ" แทนที่จะเป็นคำว่า "การแต่งกายสุภาพ" แต่มีผู้ทักท้วงว่า การสำรวจนี้เขาสำรวจเรื่องการแต่งกายสุภาพ ไม่ได้สนใจเครื่องแบบ และหลายคณะในธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้บังคับให้ต้องใส่เครื่องแบบอย่างจริงจัง แต่ผมคิดว่านั่นเป็นการเลี่ยงคำ อาจจะเพราะเกรงการครหาว่าธรรมศาสตร์บังคับให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบ

ที่จริงมีทั้งการรณรงค์และการบังคับให้สวมเครื่องแบบในพื้นที่และโอกาสที่ผู้รณรงค์ (คงไม่ต้องบอกนะครับว่าใคร) และผู้ควบคุมสถานที่ระบุว่า "เพื่อเหมาะสม" ในแง่นี้ "การแต่งกายสุภาพ" ในส่วนใหญ่ ย่อมหมายถึงการแต่งเครื่องแบบ

แต่เอาล่ะ หากถือว่าการสำรวจนี้ต้องการสำรวจเพียง "ความสุภาพ" ของการแต่งกาย ก็ยังต้องถามต่ออีกว่า อะไรคือ "ความสุภาพ" ที่ว่านั้น และผมคิดว่าข้อสังเกตต่อไปข้างล่าง ซึ่งไม่ได้ใช้คำว่า "เครื่องแบบ" ตั้งแต่เมื่อเผยแพร่ครั้งแรก ก็ยังใช้ได้กับการสำรวจความสุภาพของการแต่งกายอยู่ดี

3) หากจะลองตีความผลการสำรวจดังภาพดู ผมคิดว่าเหตุที่คณะทางสายวิชาชีพและสายวิทยาศาสตร์มีความเข้มงวดมากกว่านั้น เพราะสายวิชาชีพต้องการการควบคุม ต้องการวินัยมาก ทางคณะจึงต้องการเตรียมนักศึกษาให้ออกไปเป็นผู้ใช้แรงงานระดับกลาง ระดับสูง ที่มีวินัย เชื่อฟังเจ้านาย เชื่อฟังระบบระเบียบ รับการสั่งการได้ง่าย

ส่วนสายวิทยศาตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้น ผมไม่เข้าใจว่าจะเข้มงวดไปทำไม นอกจากว่าทั้งคณาจารย์และศิษย์นั้นเคยชินกับการเป็น "เด็กดี" เชื่อฟังระบบระเบียบ หรือไม่อย่างนั้น โดยธรรมเนียมของวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนกว่าอยู่แล้ว จึงยอมรับระเบียบได้ง่ายกว่า

ผิดกับสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่โดยสาขาวิชาการแล้ว ถูกสอนให้ตั้งคำถามกับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกทำให้มีความเชื่อมั่นในความคิดความเห็นของตนเอง ทั้งจากเนื้อหาวิชาเอง และจากการเรียนการสอนที่มักให้นักศึกษาคิดเอง ตัดสินใจเอง ใช้เหตุใช้ผลอย่างอิสระเองมากกว่า ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาจึงมีและให้อิสระในการแต่งกายมากกว่า

4) การวิจัยนี้ไม่เป็นกลางอย่างแน่นอน ซึ่งที่จริงก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะจะหาการวิจัยที่ไหนที่ปราศจากคุณค่าอย่างเด็ดขาดนั้นไม่มีหรอก แม้ว่าจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม (คงไม่ต้องให้ผมไปหาเอกสารอ้างอิงมายืดยาวเพื่อยืนยันกันหรอกนะ) แต่ที่สำคัญกว่าคือ คุณค่าแบบไหนกันที่การสำรวจนี้เชิดชูยกย่อง และต้องถามต่อว่า คุณค่าแบบนั้นเหมาะสม สอดคล้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือไม่

งานวิจัยนี้ไม่เป็นกลางในแง่ของการใส่คุณค่าทางสังคมให้กับการแต่งชุดนักศึกษาตั้งแต่แรก หากวัดคุณค่าด้าน "ความรักอิสระ" "ความคิดสร้างสรรค์" "ความเป็นตัวของตัวเอง" "การให้อิสระแก่นักศึกษา" ตารางนี้จะต้องถูกกลับหัวกลับหางแน่นอน แต่ตารางนี้เลือกวัดคุณค่าจาก "ความมีวินัย" "การยอมรับกฎระเบียบ" "ความเชื่อง" "การเข้มงวดต่อนักศึกษาของคณาจารย์" ตารางนี้จึงเป็นอย่างที่เห็น

การสำรวจนี้จึงแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน่วยงานใดที่ทำตารางนี้ออกมา และหน่วยงานใดหรือคณาจารย์ท่านใดที่เต้นตามตารางนี้ กำลังทำให้เรื่องการแต่งกายกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม เป็นศีลธรรมของการควบคุมคน ไม่ใช่หลักการของการสอนให้คนคิดเป็น สร้างสรรค์ เชื่อมั่นในตนเอง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า พวกเขาอาจกำลังสับสนระหว่างการให้การศึกษาที่มันสมองกับการสั่งสอนศีลธรรมบนเรือนร่าง ยังไม่นับว่าการแต่งกายไม่ได้สอนให้คนเป็นคนดีจากข้างในจิตใจแต่อย่างใด

5) น่าสงสัยว่า อะไรคือตัวชี้วัดความ "สุภาพ" ความ "ไม่สุภาพ" ของการแต่งกาย ถ้าจะดูกันเพียงแค่นี้ โดยยังไม่ต้องดูเรื่องการสุ่มตัวอย่าง การกระจายตัวอย่าง การคิดค่าทางสถิติ และแง่มุมทางระเบียบวิธีวิจัยอีกร้อยแปด (นี่เป็นสำนวนนะครับ ไม่ต้องมาให้ลิสต์กันล่ะว่า 108 ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง) ก็ยิ่งทำให้สงสัยว่า ทำไมผู้บริหารบางคนบางคณะ ที่ต่างก็อวดอ้างกันว่ามีความรู้ความสามารถ ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตทางการวิจัยอะไรต่างๆ จะตื่นเต้นอะไรกับผลการสำรวจงูๆ ปลาๆ นี้ได้ 

นี่ยังไม่นับว่า เขาใช้วิธีสำรวจอย่างไร ผมได้ยินมาว่ามีการสำรวจด้วยการถ่ายรูปนักศึกษาบริเวณคณะต่างๆ หากทำอย่างนั้น ก็น่าสงสัยว่าจะผิดจริยธรรมของการวิจัยหรือไม่ ที่สำรวจด้วยการตัดสินคุณค่าโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกวิจัยทราบว่ากำลังถูกตัดสินคุณค่าอยู่ แต่ในเมื่อผู้สำรวจมีธงยู่ก่อนแล้วว่า ตนเองมีมาตรฐานการวัดคุณค่าอย่างไร ก็แปลว่าผู้สำรวจเข้าใจว่าตนเองมีคุณค่าทางศีลธรรมเหนือกว่าผู้ถูกสำรวจ ในแง่นี้ก็คงไม่ต้องพูดกันเรื่องจริยธรรมของการวิจัย

แต่ที่ตลกคือ หากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยทำการสำรวจเอง แล้วทำวิจัยที่มีนัยส่อในทางละเมิดจริยธรรมของการวิจัยเสียเองแล้ว หน่วยงานของมหาวิทยาลัยจะมีความชอบธรรมในการใช้มาตราฐานทางจริยธรรมของการวิจัยไปตัดสินใครได้ ในเมื่อตนเองก็ยังละเมิดเสียเอง

นี่แหละครับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันครบรอบ 81 ปีการอภิวัฒน์สยาม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน