Skip to main content

ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น

แต่ก็อดไม่ได้ที่จะบ่นว่า ถ้าผมจะกินเหล้า จะเมาในวันเข้าพรรษาและเมาในทุกวันช่วงเข้าพรรษา แล้วทำไมรัฐบาลจะต้องมาห้ามผม อย่าว่าแต่ว่าหากผมจะไม่เป็นชาวพุทธก็ไม่ควรจะมายุ่งกับผมเลย แต่แม้ว่าผมจะเป็นชาวพุทธเพียงในทะเบียนบ้าน หรือเป็นชาวพุทธที่ศึกษาเรื่องราวในพุทธศาสนามาขนาดไหน รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิมาละเมิดสิทธิการเมาของผม เว้นเสียแต่ว่าผมจะเมาแล้วไปละเมิดใครเข้า

 

เมื่อตอนวัยรุ่น ผมดื่มสุราไม่เป็น ผมถูกฝึกให้ดื่มสุราเมื่อเรียนจบปริญญาโทและเข้าทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องเมา แต่ภายหลังก็ต้องมารู้สึกขอบคุณครูสุราคนหนึ่งของผม ที่สอนให้ดื่มเหล้า

 

ท่านสอนผมด้วยเหล้าฝรั่งชั้นดี อย่างเหล้า "ป้ายนำ้เงิน" และไวน์ราคาแพงมากหลายรส กระทั่งเบียร์ไทยที่ท่านดื่มเฉพาะเบียร์รสเข้ม ที่เด็ดสุดสำหรับประสบการณ์การดื่มครั้งแรกๆ ของผมคือ การเมาเหล้าเหมาไถรสนุ่มที่อุ่นให้ร้อนกินกับชาอู่หลงร้อนชั้นดี ไม่ต้องห่วงว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เพราะท่านนั่งดื่มในห้องแอร์เย็นเฉียบตลอด ไม่ต้องสงสัยว่าเหล้าดีมากมายมาจากไหน เพราะท่านประกอบอาชีพการงานเป็น "ผู้วิเศษ" มีคนคอยเอาของดีๆ มาประเคนให้เสมอๆ 

 

แต่ผมงงว่า ทำไมการเมาของผมไม่เห็นจะต้องเสียสติ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือต้องพูดจาเสียดังหรือต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ผมไม่เห็นเคยมีอาการพวกนั้นเลย เมาแล้วก็รู้ตัว ก็นั่งคุยไป หรือหากหนักจริงๆ ก็หลับไป อ้วกออกมาบ้าง หลบไปนอน ถ้าวงเหล้ายังไม่เลิกเสียก่อน สร่างเมาแล้วก็ลุกขึ้นมาดื่มต่อ

 

จากนั้นผมก็เริ่มเรียนรู้การดื่มด้วยตนเอง โชคดีที่ได้ไปเรียนที่วิสคอนซิน มลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่รุ่มรวยเบียร์ เพราะมีประชากรเยอรมันอพยพมากมาย ที่นั่นเป็นสวรรค์ของคอเบียร์ ผมเริ่มทำความรู้จักเบียร์หลายชนิด ตั้งแต่ลาเกอร์ ไพสเนอร์ บ็อคก์ เอล พอร์เตอร์ จนถึงสเตาท์ เบียร์พวกนี้ดีกรีไม่เกิน 5 กินเปลือง ไม่เมา ถ้าวันไหนอยากเมาด้วยเบียร์ ก็หาเบียร์นำเข้าจากโปแลนด์มาดื่ม 7-8 ดีกรี 500 cc ขวดละ 2 เหรียญ ขวดใหญ่กว่าเบียร์อเมริกันทั่วไป สองขวดได้หลับแน่ เรียกว่าเมาคุ้มจริงๆ

 

นี่ยังไม่นับการปรุงแต่งให้เบียร์แต่ละชนิดเหล่านั้นมีรสชาติและสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป สมัยอยู่ที่นั่น ผมหลงไหลไม่เพียงกลิ่นและรสของพวกมัน แต่ยังชมชอบสีและเนื้อหาในน้ำ ที่เบียร์บางรุ่นของบางสำนักในบางฤดูตั้งใจเก็บตะกอนเบียร์ไว้ให้คนดื่มได้สัมผัสความดิบ ความดั้งเดิมของน้ำเบียร์ เรียกว่าถ้าพิถีพิถันเลือกเฟ้นดื่มกันจริงๆ หามาดื่มวันละชนิด ดื่มทั้งเดือนก็ไม่ซ้ำกันเลยทีเดียว

 

ฤดูร้อนท่านว่าดื่มเบียร์ได้ดี แต่ฤดูหนาว (ฝรั่ง) ท่านเตือนว่า "เบียร์จะยิ่งทำให้หนาว" ถ้าหนาวมากๆ อย่าง -10 ถึง -20 เซลเซียส (ใช่ ที่นั่นเขาวัดเป็นฟาเรนไฮท์ แต่คนไทยก็มักต้องคอยแปลงเป็นเซลเซียส) ก็ต้องหาไวน์มาดื่ม ชั้นไวน์ในอเมริกาเป็นระบบชนชั้น ชั้นวางไวน์ขายมี 4-5 ชั้น ของแพงอยู่ข้างบนๆ ของถูกอยู่ล่างสุด 

 

วันไหนจะฉลองอะไร ผมจะเลือกไวน์ชั้นสองจากข้างล่าง ขวดละ 8-10 เหรียญ วันธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ ก็จะทยอยหาไวน์ชั้นล่างสุดหรือในกระบะที่บางทีฟลุ๊คได้ไวน์ดี แพงสุดก็ขวดละ 5 เหรียญ ไวน์ขวดละ 3 เหรียญก็ยังเคยเอาไปปาร์ตี้หลอกเพื่อนว่าขวดละ 10 เหรียญมาแล้ว ไวน์ลดราคา แค่สองขวด 5 เหรียญซื้อเอาไปใช้ทำกับข้าวก็มี

 

พอไปเวียดนามเท่านั้นแหละ ที่ทำผมหวนระลึกถึงบุญคุณของผู้สอนผมให้ดื่มเหล้าทันที เพราะหากไม่รู้จักเมา ผมคงไม่เป็นตัวเป็นตนมาจนทุกวันนี้ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะถ้าไม่ดื่ม ไม่มีใครคุยกับผมเป็นเรื่องเป็นราวหรอก ไม่มีใครมีเวลาว่างถ้าไม่ใช่ตอนกินดื่ม ไม่มีใครว่างมากถ้าไม่ใช่เทศกาล ไม่มีเทศกาลไหนไม่ดื่มกิน เพราะเหล้าเป็นส่วนของวัฒนธรรมที่ใช้ในพิธีกรรม ในช่วงเวลาพิเศษของสังคม และเพราะการเข้าสังคมคือช่วงเวลาพิเศษ จึงต้องมีเหล้า

 

ในเวียดนาม ทั้งเหล้า ทั้งเบียร์ ถิ่นไหนต่อถิ่นไหน จะหนัก จะเบา ปรุงแต่งด้วยอะไร ต้มกลั่นกันอย่างไร หมักด้วยพืชผลชนิดไหน แต่งเติมด้วยผลไม้อะไร หมักดองกับสัตว์ชนิดไหน กลิ่น รส สัมผัสเป็นอย่างไร ดื่มถึงไหนได้รสอะไรอยู่ตรงไหน เมาแล้วเป็นอย่างไร สร่างเมาตื่นมาแล้วเป็นอย่างไร ผมจำได้แทบทั้งหมด

 

ดื่มกินกันอย่างไร พิธีรีตรองเป็นอย่างไร สังคมของการดื่มกินเป็นอย่างไร ลัทธิธรรมเนียมมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ฤดูกาลไหนดื่มอะไร เทศกาลไหน โอกาสไหนดื่มอะไร ผมจำได้แม่นยำ แต่ขอยังไม่เล่า ปล่อยเอาไว้ให้เปรี้ยวปากกันอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน 

 

เว้นแต่ว่า ถ้าหน่วยงานใดที่หมกมุ่นเรื่องการกำจัดสุรา แต่กิน-อยู่ได้จากภาษีจากสุรา แล้วเกิดอยากเข้าใจวัฒนธรรมสุราอาเซียน อยากส่งเสริมการเมาอย่างมีวัฒนธรรม จะให้ทุนผมกลับไปเมาเพื่อเรียนรู้อีกครั้ง ผมก็ยินดีจะเปลืองร่างกายทำวิจัยให้

 

(สำหรับผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อ ผมยินดีเสมอ หากแต่ต้องมีจริยธรรมในการนำไปเผยแพร่ต่อ ด้วยการระบุที่มาและแสดงลิงค์มายังบล็อกของผม ที่ "ประชาไทบล็อกกาซีน" ให้ครบถ้วนด้วย)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย