Skip to main content

ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น

แต่ก็อดไม่ได้ที่จะบ่นว่า ถ้าผมจะกินเหล้า จะเมาในวันเข้าพรรษาและเมาในทุกวันช่วงเข้าพรรษา แล้วทำไมรัฐบาลจะต้องมาห้ามผม อย่าว่าแต่ว่าหากผมจะไม่เป็นชาวพุทธก็ไม่ควรจะมายุ่งกับผมเลย แต่แม้ว่าผมจะเป็นชาวพุทธเพียงในทะเบียนบ้าน หรือเป็นชาวพุทธที่ศึกษาเรื่องราวในพุทธศาสนามาขนาดไหน รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิมาละเมิดสิทธิการเมาของผม เว้นเสียแต่ว่าผมจะเมาแล้วไปละเมิดใครเข้า

 

เมื่อตอนวัยรุ่น ผมดื่มสุราไม่เป็น ผมถูกฝึกให้ดื่มสุราเมื่อเรียนจบปริญญาโทและเข้าทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องเมา แต่ภายหลังก็ต้องมารู้สึกขอบคุณครูสุราคนหนึ่งของผม ที่สอนให้ดื่มเหล้า

 

ท่านสอนผมด้วยเหล้าฝรั่งชั้นดี อย่างเหล้า "ป้ายนำ้เงิน" และไวน์ราคาแพงมากหลายรส กระทั่งเบียร์ไทยที่ท่านดื่มเฉพาะเบียร์รสเข้ม ที่เด็ดสุดสำหรับประสบการณ์การดื่มครั้งแรกๆ ของผมคือ การเมาเหล้าเหมาไถรสนุ่มที่อุ่นให้ร้อนกินกับชาอู่หลงร้อนชั้นดี ไม่ต้องห่วงว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เพราะท่านนั่งดื่มในห้องแอร์เย็นเฉียบตลอด ไม่ต้องสงสัยว่าเหล้าดีมากมายมาจากไหน เพราะท่านประกอบอาชีพการงานเป็น "ผู้วิเศษ" มีคนคอยเอาของดีๆ มาประเคนให้เสมอๆ 

 

แต่ผมงงว่า ทำไมการเมาของผมไม่เห็นจะต้องเสียสติ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือต้องพูดจาเสียดังหรือต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ผมไม่เห็นเคยมีอาการพวกนั้นเลย เมาแล้วก็รู้ตัว ก็นั่งคุยไป หรือหากหนักจริงๆ ก็หลับไป อ้วกออกมาบ้าง หลบไปนอน ถ้าวงเหล้ายังไม่เลิกเสียก่อน สร่างเมาแล้วก็ลุกขึ้นมาดื่มต่อ

 

จากนั้นผมก็เริ่มเรียนรู้การดื่มด้วยตนเอง โชคดีที่ได้ไปเรียนที่วิสคอนซิน มลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่รุ่มรวยเบียร์ เพราะมีประชากรเยอรมันอพยพมากมาย ที่นั่นเป็นสวรรค์ของคอเบียร์ ผมเริ่มทำความรู้จักเบียร์หลายชนิด ตั้งแต่ลาเกอร์ ไพสเนอร์ บ็อคก์ เอล พอร์เตอร์ จนถึงสเตาท์ เบียร์พวกนี้ดีกรีไม่เกิน 5 กินเปลือง ไม่เมา ถ้าวันไหนอยากเมาด้วยเบียร์ ก็หาเบียร์นำเข้าจากโปแลนด์มาดื่ม 7-8 ดีกรี 500 cc ขวดละ 2 เหรียญ ขวดใหญ่กว่าเบียร์อเมริกันทั่วไป สองขวดได้หลับแน่ เรียกว่าเมาคุ้มจริงๆ

 

นี่ยังไม่นับการปรุงแต่งให้เบียร์แต่ละชนิดเหล่านั้นมีรสชาติและสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป สมัยอยู่ที่นั่น ผมหลงไหลไม่เพียงกลิ่นและรสของพวกมัน แต่ยังชมชอบสีและเนื้อหาในน้ำ ที่เบียร์บางรุ่นของบางสำนักในบางฤดูตั้งใจเก็บตะกอนเบียร์ไว้ให้คนดื่มได้สัมผัสความดิบ ความดั้งเดิมของน้ำเบียร์ เรียกว่าถ้าพิถีพิถันเลือกเฟ้นดื่มกันจริงๆ หามาดื่มวันละชนิด ดื่มทั้งเดือนก็ไม่ซ้ำกันเลยทีเดียว

 

ฤดูร้อนท่านว่าดื่มเบียร์ได้ดี แต่ฤดูหนาว (ฝรั่ง) ท่านเตือนว่า "เบียร์จะยิ่งทำให้หนาว" ถ้าหนาวมากๆ อย่าง -10 ถึง -20 เซลเซียส (ใช่ ที่นั่นเขาวัดเป็นฟาเรนไฮท์ แต่คนไทยก็มักต้องคอยแปลงเป็นเซลเซียส) ก็ต้องหาไวน์มาดื่ม ชั้นไวน์ในอเมริกาเป็นระบบชนชั้น ชั้นวางไวน์ขายมี 4-5 ชั้น ของแพงอยู่ข้างบนๆ ของถูกอยู่ล่างสุด 

 

วันไหนจะฉลองอะไร ผมจะเลือกไวน์ชั้นสองจากข้างล่าง ขวดละ 8-10 เหรียญ วันธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ ก็จะทยอยหาไวน์ชั้นล่างสุดหรือในกระบะที่บางทีฟลุ๊คได้ไวน์ดี แพงสุดก็ขวดละ 5 เหรียญ ไวน์ขวดละ 3 เหรียญก็ยังเคยเอาไปปาร์ตี้หลอกเพื่อนว่าขวดละ 10 เหรียญมาแล้ว ไวน์ลดราคา แค่สองขวด 5 เหรียญซื้อเอาไปใช้ทำกับข้าวก็มี

 

พอไปเวียดนามเท่านั้นแหละ ที่ทำผมหวนระลึกถึงบุญคุณของผู้สอนผมให้ดื่มเหล้าทันที เพราะหากไม่รู้จักเมา ผมคงไม่เป็นตัวเป็นตนมาจนทุกวันนี้ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะถ้าไม่ดื่ม ไม่มีใครคุยกับผมเป็นเรื่องเป็นราวหรอก ไม่มีใครมีเวลาว่างถ้าไม่ใช่ตอนกินดื่ม ไม่มีใครว่างมากถ้าไม่ใช่เทศกาล ไม่มีเทศกาลไหนไม่ดื่มกิน เพราะเหล้าเป็นส่วนของวัฒนธรรมที่ใช้ในพิธีกรรม ในช่วงเวลาพิเศษของสังคม และเพราะการเข้าสังคมคือช่วงเวลาพิเศษ จึงต้องมีเหล้า

 

ในเวียดนาม ทั้งเหล้า ทั้งเบียร์ ถิ่นไหนต่อถิ่นไหน จะหนัก จะเบา ปรุงแต่งด้วยอะไร ต้มกลั่นกันอย่างไร หมักด้วยพืชผลชนิดไหน แต่งเติมด้วยผลไม้อะไร หมักดองกับสัตว์ชนิดไหน กลิ่น รส สัมผัสเป็นอย่างไร ดื่มถึงไหนได้รสอะไรอยู่ตรงไหน เมาแล้วเป็นอย่างไร สร่างเมาตื่นมาแล้วเป็นอย่างไร ผมจำได้แทบทั้งหมด

 

ดื่มกินกันอย่างไร พิธีรีตรองเป็นอย่างไร สังคมของการดื่มกินเป็นอย่างไร ลัทธิธรรมเนียมมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ฤดูกาลไหนดื่มอะไร เทศกาลไหน โอกาสไหนดื่มอะไร ผมจำได้แม่นยำ แต่ขอยังไม่เล่า ปล่อยเอาไว้ให้เปรี้ยวปากกันอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน 

 

เว้นแต่ว่า ถ้าหน่วยงานใดที่หมกมุ่นเรื่องการกำจัดสุรา แต่กิน-อยู่ได้จากภาษีจากสุรา แล้วเกิดอยากเข้าใจวัฒนธรรมสุราอาเซียน อยากส่งเสริมการเมาอย่างมีวัฒนธรรม จะให้ทุนผมกลับไปเมาเพื่อเรียนรู้อีกครั้ง ผมก็ยินดีจะเปลืองร่างกายทำวิจัยให้

 

(สำหรับผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อ ผมยินดีเสมอ หากแต่ต้องมีจริยธรรมในการนำไปเผยแพร่ต่อ ด้วยการระบุที่มาและแสดงลิงค์มายังบล็อกของผม ที่ "ประชาไทบล็อกกาซีน" ให้ครบถ้วนด้วย)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"