Skip to main content

ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น

แต่ก็อดไม่ได้ที่จะบ่นว่า ถ้าผมจะกินเหล้า จะเมาในวันเข้าพรรษาและเมาในทุกวันช่วงเข้าพรรษา แล้วทำไมรัฐบาลจะต้องมาห้ามผม อย่าว่าแต่ว่าหากผมจะไม่เป็นชาวพุทธก็ไม่ควรจะมายุ่งกับผมเลย แต่แม้ว่าผมจะเป็นชาวพุทธเพียงในทะเบียนบ้าน หรือเป็นชาวพุทธที่ศึกษาเรื่องราวในพุทธศาสนามาขนาดไหน รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิมาละเมิดสิทธิการเมาของผม เว้นเสียแต่ว่าผมจะเมาแล้วไปละเมิดใครเข้า

 

เมื่อตอนวัยรุ่น ผมดื่มสุราไม่เป็น ผมถูกฝึกให้ดื่มสุราเมื่อเรียนจบปริญญาโทและเข้าทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องเมา แต่ภายหลังก็ต้องมารู้สึกขอบคุณครูสุราคนหนึ่งของผม ที่สอนให้ดื่มเหล้า

 

ท่านสอนผมด้วยเหล้าฝรั่งชั้นดี อย่างเหล้า "ป้ายนำ้เงิน" และไวน์ราคาแพงมากหลายรส กระทั่งเบียร์ไทยที่ท่านดื่มเฉพาะเบียร์รสเข้ม ที่เด็ดสุดสำหรับประสบการณ์การดื่มครั้งแรกๆ ของผมคือ การเมาเหล้าเหมาไถรสนุ่มที่อุ่นให้ร้อนกินกับชาอู่หลงร้อนชั้นดี ไม่ต้องห่วงว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เพราะท่านนั่งดื่มในห้องแอร์เย็นเฉียบตลอด ไม่ต้องสงสัยว่าเหล้าดีมากมายมาจากไหน เพราะท่านประกอบอาชีพการงานเป็น "ผู้วิเศษ" มีคนคอยเอาของดีๆ มาประเคนให้เสมอๆ 

 

แต่ผมงงว่า ทำไมการเมาของผมไม่เห็นจะต้องเสียสติ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือต้องพูดจาเสียดังหรือต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ผมไม่เห็นเคยมีอาการพวกนั้นเลย เมาแล้วก็รู้ตัว ก็นั่งคุยไป หรือหากหนักจริงๆ ก็หลับไป อ้วกออกมาบ้าง หลบไปนอน ถ้าวงเหล้ายังไม่เลิกเสียก่อน สร่างเมาแล้วก็ลุกขึ้นมาดื่มต่อ

 

จากนั้นผมก็เริ่มเรียนรู้การดื่มด้วยตนเอง โชคดีที่ได้ไปเรียนที่วิสคอนซิน มลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่รุ่มรวยเบียร์ เพราะมีประชากรเยอรมันอพยพมากมาย ที่นั่นเป็นสวรรค์ของคอเบียร์ ผมเริ่มทำความรู้จักเบียร์หลายชนิด ตั้งแต่ลาเกอร์ ไพสเนอร์ บ็อคก์ เอล พอร์เตอร์ จนถึงสเตาท์ เบียร์พวกนี้ดีกรีไม่เกิน 5 กินเปลือง ไม่เมา ถ้าวันไหนอยากเมาด้วยเบียร์ ก็หาเบียร์นำเข้าจากโปแลนด์มาดื่ม 7-8 ดีกรี 500 cc ขวดละ 2 เหรียญ ขวดใหญ่กว่าเบียร์อเมริกันทั่วไป สองขวดได้หลับแน่ เรียกว่าเมาคุ้มจริงๆ

 

นี่ยังไม่นับการปรุงแต่งให้เบียร์แต่ละชนิดเหล่านั้นมีรสชาติและสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป สมัยอยู่ที่นั่น ผมหลงไหลไม่เพียงกลิ่นและรสของพวกมัน แต่ยังชมชอบสีและเนื้อหาในน้ำ ที่เบียร์บางรุ่นของบางสำนักในบางฤดูตั้งใจเก็บตะกอนเบียร์ไว้ให้คนดื่มได้สัมผัสความดิบ ความดั้งเดิมของน้ำเบียร์ เรียกว่าถ้าพิถีพิถันเลือกเฟ้นดื่มกันจริงๆ หามาดื่มวันละชนิด ดื่มทั้งเดือนก็ไม่ซ้ำกันเลยทีเดียว

 

ฤดูร้อนท่านว่าดื่มเบียร์ได้ดี แต่ฤดูหนาว (ฝรั่ง) ท่านเตือนว่า "เบียร์จะยิ่งทำให้หนาว" ถ้าหนาวมากๆ อย่าง -10 ถึง -20 เซลเซียส (ใช่ ที่นั่นเขาวัดเป็นฟาเรนไฮท์ แต่คนไทยก็มักต้องคอยแปลงเป็นเซลเซียส) ก็ต้องหาไวน์มาดื่ม ชั้นไวน์ในอเมริกาเป็นระบบชนชั้น ชั้นวางไวน์ขายมี 4-5 ชั้น ของแพงอยู่ข้างบนๆ ของถูกอยู่ล่างสุด 

 

วันไหนจะฉลองอะไร ผมจะเลือกไวน์ชั้นสองจากข้างล่าง ขวดละ 8-10 เหรียญ วันธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ ก็จะทยอยหาไวน์ชั้นล่างสุดหรือในกระบะที่บางทีฟลุ๊คได้ไวน์ดี แพงสุดก็ขวดละ 5 เหรียญ ไวน์ขวดละ 3 เหรียญก็ยังเคยเอาไปปาร์ตี้หลอกเพื่อนว่าขวดละ 10 เหรียญมาแล้ว ไวน์ลดราคา แค่สองขวด 5 เหรียญซื้อเอาไปใช้ทำกับข้าวก็มี

 

พอไปเวียดนามเท่านั้นแหละ ที่ทำผมหวนระลึกถึงบุญคุณของผู้สอนผมให้ดื่มเหล้าทันที เพราะหากไม่รู้จักเมา ผมคงไม่เป็นตัวเป็นตนมาจนทุกวันนี้ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะถ้าไม่ดื่ม ไม่มีใครคุยกับผมเป็นเรื่องเป็นราวหรอก ไม่มีใครมีเวลาว่างถ้าไม่ใช่ตอนกินดื่ม ไม่มีใครว่างมากถ้าไม่ใช่เทศกาล ไม่มีเทศกาลไหนไม่ดื่มกิน เพราะเหล้าเป็นส่วนของวัฒนธรรมที่ใช้ในพิธีกรรม ในช่วงเวลาพิเศษของสังคม และเพราะการเข้าสังคมคือช่วงเวลาพิเศษ จึงต้องมีเหล้า

 

ในเวียดนาม ทั้งเหล้า ทั้งเบียร์ ถิ่นไหนต่อถิ่นไหน จะหนัก จะเบา ปรุงแต่งด้วยอะไร ต้มกลั่นกันอย่างไร หมักด้วยพืชผลชนิดไหน แต่งเติมด้วยผลไม้อะไร หมักดองกับสัตว์ชนิดไหน กลิ่น รส สัมผัสเป็นอย่างไร ดื่มถึงไหนได้รสอะไรอยู่ตรงไหน เมาแล้วเป็นอย่างไร สร่างเมาตื่นมาแล้วเป็นอย่างไร ผมจำได้แทบทั้งหมด

 

ดื่มกินกันอย่างไร พิธีรีตรองเป็นอย่างไร สังคมของการดื่มกินเป็นอย่างไร ลัทธิธรรมเนียมมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ฤดูกาลไหนดื่มอะไร เทศกาลไหน โอกาสไหนดื่มอะไร ผมจำได้แม่นยำ แต่ขอยังไม่เล่า ปล่อยเอาไว้ให้เปรี้ยวปากกันอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน 

 

เว้นแต่ว่า ถ้าหน่วยงานใดที่หมกมุ่นเรื่องการกำจัดสุรา แต่กิน-อยู่ได้จากภาษีจากสุรา แล้วเกิดอยากเข้าใจวัฒนธรรมสุราอาเซียน อยากส่งเสริมการเมาอย่างมีวัฒนธรรม จะให้ทุนผมกลับไปเมาเพื่อเรียนรู้อีกครั้ง ผมก็ยินดีจะเปลืองร่างกายทำวิจัยให้

 

(สำหรับผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อ ผมยินดีเสมอ หากแต่ต้องมีจริยธรรมในการนำไปเผยแพร่ต่อ ด้วยการระบุที่มาและแสดงลิงค์มายังบล็อกของผม ที่ "ประชาไทบล็อกกาซีน" ให้ครบถ้วนด้วย)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์