Skip to main content

อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน

ปีนี้อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอกผมอายุ 61 แล้ว แต่เธอยังไม่หยุดเขียนงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นวารสารวิชาการหรือหนังสือ ที่จริงเธอขยันขันแข็งอย่างนี้มาตั้งแต่ผมยังเรียนไม่จบ มีอาจารย์อีกคนที่อายุ 60 กว่าแล้ว แต่ยังไม่เกษียณ และยังตีพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนาๆ ในอัตราสองปีต่อหนึ่งเล่ม 

ระบบมหาวิทยาลัยที่อเมริกาไม่มีการให้ออกตามอายุ แต่ก็ต้องผลิตผลงานต่อเนื่องจึงอยู่ต่อได้ จะทำอย่างนั้นก็ต้องมีวินัยที่เข้มแข็งมาก ต้องไม่หลุดจากวงการ ต้องได้ทุนวิจัยสม่ำเสมอ ต้องเก็บข้อมูลสม่ำเสมอ ต้องอ่านหนังสือใหม่สม่ำเสมอ ต้องเขียนสม่ำเสมอ ต้องไปเสนอผลงานสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ ต้องไม่ว่อกแว่กนอกลู่นอกทางตามสิ่งเย้ายวน

ความเย้ายวนในโลกวิชาการที่อเมริกาคงไม่เหมือนในไทย สิ่งเย้ายวนในโลกทางวิชาการไทยๆ มีมากมาย เช่นว่า หากคุณดูมีแววในทางการบริหาร มีไอเดียอะไรบางอย่าง มีบุคคลิกประนีประนอม จะมีตำแหน่งบริหารแวะเวียนมาเคาะประตูห้องทำงานเสมอ ตำแหน่งเหล่านี้มาพร้อมเกียรติ พร้อมเงิน พร้อมบริวารและการแห่แหนของผู้คน 

ถ้าคุณพูดเก่ง ออกสื่อได้ไม่อายใคร ตอบโต้ได้ฉับไว คิดคำคมได้เสมอๆ ตอบได้แทบทุกคำถาม มีความเห็นในเรื่องใหญ่ๆ ได้แทบทุกเรื่อง คุณจะกลายเป็นเหยื่อของสื่อมวลชน ที่ทั้งขูดรีดและฉวยใช้คราบไคลความเป็นนักวิชาการของคุณ แลกกับการหยิบยื่นความเป็นเซเล็บทางวิชาการ ให้คุณไปไหนมาไหนแล้วมีเด็กติ่งมาคอยวิ่งกรูชูป้ายไฟเอียงหน้าขอถ่ายรูป

ผมไม่ได้ดูแคลนผู้ใดที่ไปอยู่ในที่สาธารณะเหล่านี้ ไม่ได้อิจฉาใครที่แสดงบทบาทเหล่านั้น และออกจะนับถือหลายคนที่เลือกเดินทางนั้นอย่างบริสุทธิ์ใจไม่ได้เพื่อให้เด่นดังหรือมั่งคั่ง เพียงแต่ยังอยากทำงาน "วิชาการ" ที่บางครั้งตอบโจทย์สาธารณะตรงๆ ไม่ได้ง่ายๆ อยู่เหมือนกัน จึงคอยเตือนตนให้มีระยะห่างกับความเย้ายวนลักษณะนั้น และเห็นว่าถึงเวลาต้องหลบออกมาบ้างแล้ว

ในโลกหอคอยงาช้างเองก็ใช่ว่าจะไม่มีความเย้ายวน ถ้าคุณมีแววเป็นนักวิจัยมือดี มีผลงานสม่ำเสมอ จะมีทุนวิจัยวิ่งมาหาคุณจากทุกทิศทาง และหากคุณหมุนตามงานวิจัยเหล่านั้น คุณอาจลืมไปแล้วว่าความสนใจทางวิชาการของคุณคืออะไร คุณจะกลายไปเป็นเครื่องประดับทางวิชาการของนักวิจัยรุ่นใหญ่ที่สามารถระดมทุนได้เสมอ หรือไม่ก็กลายเป็นผู้รับใช้ตอบคำถามที่คุณไม่ได้เป็นคนตั้งขึ้นมาเอง พร้อมรับเงินค่าตอบแทนที่หรูหรา จนบางคนอาจไม่อยากสอนหนังสือ

ในท่ามกลางสิ่งเย้ายวนเหล่านี้ ผมนับถือครูบาอาจารย์และนักวิชาการรุ่นพี่ที่มั่นคงต่อวิชาชีพของตน บางท่านสมาทานชีวิตสมถะ หลีกเลี่ยงสื่อมวลชน ทำงานบริหารอย่างจำกัดแล้วรีบหลบออกมาเมื่อมีโอกาส บางคนแม้ไม่ปฏิเสธการอยู่ในที่แจ้ง แต่ก็เลือกพูดเฉพาะสิ่งที่ตนเองรู้ ที่สอดคล้องกับงานหลักของตนเอง บางคนเลือกทำงานบริหารเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะสร้างสรรค์อะไรในระดับกว้าง แล้วหลบออกมาเมื่อบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง

แต่คำถามที่ยากกว่านั้นคือ ผมถามตัวเองว่า "สมัยยังเด็ก ที่เคยเรียกร้องนักวิชาการรุ่นพี่ รุ่นอาวุโสให้ทำโน่นทำนี่ แล้วตอนนี้ตนเองทำอะไรบ้างหรือแล้วยัง" "ที่เคยดูเบาว่านักวิชาการคนโน้นคนนี้ไม่ได้ผลิตอะไรใหม่ๆ เป็นไม้ตายซาก แล้วตอนนี้ตนเองเสนออะไรใหม่ๆ บ้างหรือยัง" คำถามพวกนี้ตอบยากกว่ามากนัก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้