Skip to main content
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา

 
โจทย์ข้างต้นเป็นหัวข้อเสวนาวานนี้ (18 สิงหาคม 2556) ที่ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดมและ New Culture ผมเป็นผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่ง ผมเสนอว่าระบบการศึกษาไทยที่ผมต่อสู้อยู่ด้วยนั้นมี 3 ลัทธิ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา (ไม่ใช่ท่านรองอธิการบดีที่รักของผมนะครับ) และลัทธิแบบฟอร์มของระบบประกันคุณภาพ เอาไว้ค่อยเล่าถึง 3 ลัทธินี้ในโอกาสอื่น แต่ตอนนี้อยากเล่่าบรรยากาศที่น่าประทับใจในการเสวนาวานนี้ก่อน
 
1) เมื่อวานนี้คนมาเยอะมาก เต็มห้อง น่าจะสัก 100 กว่าคน น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา นี่แสดงว่านักเรียนนักศึกษา พูดง่ายๆ คือวัยรุ่นกลุ่มใหญ่พอสมควรทีเดียวให้ความสำคัญกับการศึกษามากๆๆ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าการศึกษาจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่พวก "เด็กๆ" เขาก็สนใจอย่างจริงจังเหมือนกัน แม้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะมาพร้อมกับความอึดอัด แต่พวกเขามีประเด็นดีๆ มาเสนอมากมาย 
 
เช่นว่า มีการวิพากษ์แบบเรียนที่ ในภาษาของผมคือ "งมงาย" ในหลายๆ มิติ คำถามน่าสนใจหนึ่งคือ หากนักเรียนสอบตกมาก ครูหรือนักเรียนกันแน่ที่โง่ ทำไมการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับสายวิทย์มากกว่าสายศิลป์ และยังถามไปถึงความรุนแรง ความงมงายของระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
 
คำถามคือ พวกผู้ใหญ่น่ะเปิดโอกาสให้เขาแสดงออกแค่ไหน เปิดโอกาสให้เขาพูดในวิธีและเนื้อหาที่เขาสนใจแค่ไหน อยากฟังเขาพูดหรือไม่ หากยังเห็นแค่ว่าพวกเขาเรียกร้องอะไรก็เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องทำการบ้านมากนัก ให้มีเสรีภาพในการแต่งเนื้อแต่งตัวตามใจชอบมากขึ้นเท่านั้น ให้เรียนแต่เรื่องง่ายๆ จบง่ายๆ แค่นั้นละก็ คุณก็จะไม่ได้รับรู้ทัศนะจากคนที่ "รับการศึกษา" ซึ่งรับรู้และเข้าใจปัญหาการศึกษาไม่น้อยไปกว่า "ผู้ให้การศึกษา" 
 
2) นอกจากเนื้อหา วิธีการแสดงออกก็สำคัญ บางทีการแสดงออกของวัยรุ่นอาจดูขัดหูขัดตาบ้าง บางคนพูดในลีลาชาวฮิปฮอป บางคนอาจพูด "คำหยาบ" ปนบ้าง มีคำว่า "แม่ง" "เฮ้ย" "วะ" ฯลฯ บ้่าง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า นั่นคือส่วนหนึ่งกระบวนการคิดในชีวิตประจำวันของพวกเขา พวกเขาคิดด้วยคำเหล่านั้น คำหยาบ คำแสลงมีไวยากรณ์ของมันเอง ไม่เชื่อลองคิดและเขียนผ่านคำหยายดู ไม่ง่ายเลยนะครับ 
 
ไม่ใช่ว่าไม่มี "เด็กๆ" คนไหนพูดภาษาของผู้ใหญ่ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า กว่าที่พวกเขาจะใช้ภาษาผู้ใหญ่ได้ เขาอาจหลงลืมประเด็นหรือข้อคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาของเขาไปหมดแล้ว เขาอาจถูกขัดเกลาไปจนเชื่องหมดแล้ว ภาษาคือเครื่องประกอบความคิด คนเราคิดผ่านภาษา หากเราพยายามแยกวัยรุ่นออกจากภาษาของพวกเขา เราก็จะแยกความคิดออกจากภาษาของพวกเขา ออกจากการแสดงออกของพวกเขา แล้วพวกเขาก็จะไม่แสดงความคิดเห็น พวกเขาก็จะไม่คุยกับคุณ แล้วปัญหาของพวกเขาก็จะไม่ได้ถูกรับรู้ ถึงขนาด wisdom ของพวกเขาที่แสดงออกในแบบของเขาก็จะไม่ได้รับการใส่ใจในสังคม 
 
3) ในแง่โครงสร้างสังคมไทยโดยกว้าง หากเทียบกับนักเรียนรุ่นก่อนหน้า คือรุ่น "คนเดือนตุลา" ผมคิดว่าลักษณะพิเศษของคนรุ่นนี้คือ พวกเขามาจากโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับ "คนชั้นกลางใหม่" หรือ "ชนชั้นกลางระดับล่าง" ไม่ใช่โรงเรียนแถวปากคลอง หรือโรงเรียนแถวสามย่านอีกต่อไป น่าสนใจอีกจุดหนึ่งของวันนี้ คือ มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่เรียน "เมืองนอก" อยู่ที่มหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ มาร่วมฟังและแสดงความเห็นอย่างเอาใจใส่กระทั่งใส่อารมณ์ร่วมอยู่หลายคน แต่พวกเขาไม่ใช่เด็กเนิร์ดเชื่องๆ พวกเขามีความเห็นที่ก้าวหน้า ไม่ต่างจากนักเรียนจากชนชั้นกลางใหม่ น่าคิดว่า ผู้นำทางความคิดในรุ่นต่อไปอาจจะมาทั้งจากคนที่มีพื้นฐานกว้างออกไป ผสมกับคนที่มีพื้นฐานจากชนชั้นกลางเก่า หากแต่มีแนวคิดที่แตกต่างอย่างยิ่งจากพ่อแม่ของพวกเขา
 
คนรุ่นนี้สนใจปัญหาใกล้ตัว ปัญหาตนเอง แล้วจึงค่อยๆ ขยายไปสู่สังคมวงกว้าง ต่างจากสมัยก่อนที่สนใจปัญหาคนอื่น ปัญหาไกลตัว และมีลักษณะเหมือนไปกอบกู้ ช่วยเหลือ สงเคราะห์ "ชนชั้นผู้ทุกข์ยาก" ในที่สุดแล้วทุกวันนี้นักศึกษากลุ่ม "เดือนตุลา"ส่วนหนึ่งจึงกลายเป็น "ชนชั้นกลางระดับสูง" ที่ขัดแย้งกับ "ชนชั้นกลางระดับล่าง" ที่พวกเขาไม่ได้รู้จักจริงจัง แต่เคยพยายามเป็นตัวแทนต่อสู้ให้มาก่อน มาวันนี้ คนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้ลุกขึ้นมาสู้ด้วยตนเองแล้ว ลูกหลานของพวกเขาเข้ามาอยู่ในระบบโรงเรียน ออกมาต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ต่อสู้กับการครอบงำที่ไร้เหตุผลของระบบ "ด้วยตนเอง" มากขึ้นแล้ว นี่ยังไม่นับว่า "คนเดือนตุลา" ยังจะต้องทนกับความคิดแตกต่างของลูกหลานตนเอง ที่ก้าวหน้ากว่าพวกตน อย่างน้อยก็เท่าที่เห็นในวันนี้
 
4) ดูจากบรรยากาศวันนี้แล้ว ผมว่าสังคมไทยมีความหวังมาก แม้ว่าเราจะยังไม่ค่อยได้พูดกันถึงทางออกที่เป็นรูปธรรม ยังสร้างบทสรุปสำหรับผู้บริหารที่อ่านอะไรยาวๆ เกินแปดบรรทัดไม่เป็นก็ตาม (ก็ช่วยไปคิดกันเอาเองบ้างเถอะครับพวกผู้บริหารน่ะ จะมาคอยอ่านบทสรุปอย่างเดียวก็ไม่รู้จะจ้างพวกคุณมาทำอะไร) แต่ผมคิดถึงว่า วันรุ่นพวกนี้เขามาไกลพอสมควรแล้ว ผมสงสัยว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นวันนี้จะจัดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเราที่ไหนได้บ้าง ที่เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่าน่ะไม่มีทาง ที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ผมไม่รู้ รู้แต่ว่าหากเราไม่มุ่งหวังถึงขนาดเป้าหมายสูงส่งอย่างในยุโรป ในอเมริกา การศึกษาในประเทศไทยมีความหวังกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศมากนัก แต่แน่นอนว่า เราควรใฝ่สูง ฝันไกลๆ เอาไว้กับการศึกษาไทยไว้ด้วย
 
สุดท้าย อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณผู้ร่วมเสวนาให้ข้อคิดสำคัญว่า การศึกษาไม่ได้แยกขาดจากสังคมด้านต่างๆ จะมุ่งคิดแก้ปัญหาการศึกษาอย่่างเดียวไม่ได้ บก.ลายจุดซึ่งนั่งเสวนาอยู่ด้วยกันอีกคนชวนให้คนที่วิพากษ์การศึกษาออกมาทำโรงเรียน ทำมหาวิทยาลัยขนาดย่อม ที่ตอบโจทย์การมีชีวิตมากกว่าปัจจุบัน แต่ผมเสนอให้สู้ในระบบ ผมเลือกจะสู้ในระบบ 
 
ผมคิดว่่ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนต้องเป็นอิสระจากระบบราชการให้มากกว่านี้ ขณะนี้มหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมากขึ้นจนเกินครึ่งตัวในทางเศรษฐกิจ แต่ยังถูกควบคุมครอบงำอยู่มากในทุกด้าน ทั้งด้านการจัดการศึกษา การสร้างความรู้ และการบริการสังคม โรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนเข้าไปมีส่วนบริหาร ธรรมศาสตร์กำลังจะมี แต่ยังไม่รู้ว่าจะฝ่าด่านการสืบทอดอำนาจบริหารในมหาวิทยาลัยไปได้แค่ไหน แต่นั่นเป็นเพียงข้อเสนอห้วนๆ ที่ยังต้องการรายละเอียดอีกมากมายยิ่งนัก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง