Skip to main content

ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป

(1) รื้อฟื้นเกียรติภูมิของธรรมศาสตร์และคณะราษฎร ในฐานะมหาวิทยาลัยที่เกิดมาเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่จะต้องยืนหยัดคือ ธรรมศาสตร์และบุคคลากรธรรมศาสตร์จะต้องไม่ฝักใฝ่เผด็จการ ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่รับใช้คณะรัฐประหาร กระทั่งจะต้องต่อต้านรัฐประหารด้วยซ้ำไป 

ตามหลักการดังกล่าว ผู้ตอบรับการเสนอชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนต่อไปจะต้องให้สัญญาต่อประชาคมธรรมศาสตร์ว่า หากเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อใดก็ตาม ผู้ที่ไปเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารจะต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างรุนแรงและได้รับโทษอาญาแผ่นดินตามกฎหมาย หากไม่สามารถต้านทานได้ อธิการบดีและคณะผู้บริหารก็สมควรเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งในทันทีโดยไม่เกรงกลัวกับอำนาจข่มขู่ใดๆ ทั้งสิ้น ดีเสียกว่าเข้าไปอยู่ในวังวนของอำนาจอธรรมศาสตร์

(2) รักษาความเป็นอิสระในการบริหารมหาวิทยาลัย ด้วยการไม่โอนอ่อนให้กับหน่วยงานภายนอก กล้าต่อรองกับหน่วยงานประกันคุณภาพต่างๆ อย่างสมศักดิ์ศรีของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็น สกอ. สมศ. กพร. ไม่ไหลตามองค์กรที่มีสติปัญญาจำกัด ไร้วิสัยทัศน์ แต่กลับมีอำนาจเหมือนสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะออกนอกระบบราชการ มหาวิทยาลัยก็จะต้องรักษาความเป็นอิสระให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้มหาวิทยาลัยพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็ย่ิงจะต้องเป็นอิสระในการบริหารมากขึ้น

ในระยะเฉพาะหน้านี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงสมควรที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขระบบการประกันคุณภาพ ต่อสู้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการประกันคุณภาพ สร้างระบบประเมินคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมกับความก้าวหน้าของสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และบรรดาศาสตร์วิชาชีพ

(3) เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ทุกวันนี้ระบบที่บั่นทอนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งคือระบบการสอนปริญญาตรีภาคปกติ ที่ส่วนใหญ่ยังคงสอนในระบบคาบละชั่วโมงครึ่ง แทนที่จะเป็น 3 ชั่วโมงแบบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วไป เหตุผลมากมายที่ควรปรับมีดังนี้ 

- ห้องเรียนชั่วโมงครึ่งไม่สามารถทำให้การเรียนการสอนต่อเนื่องได้ ยังไม่ทันที่จะเข้าประเด็นอะไรอย่างลึกซ้ำ ก็หมดเวลาเสยแล้ว หรือหากจะต่อเนื่องประเด็นยกยอดไปคาบถัดไป ก็จะต้องกลับมาย้อนเท้าความกันใหม่ การเรียนการสอนแบบครั้งละชั่วโมงจึงมีผลเสียต่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอนในปัจจุบันอย่างยิ่ง 
- ข้ออ้างเรื่องสมาธิของนักศึกษาไม่สามารถใช้ได้ต่อไป เพราะหลักสูตรปริญญาตรีโครงการพิเศษล้วนใช้เวลาคาบละสามชั่วโมงทั้งสิ้น และยังมีบางคณะเริ่มจัดการเรียนการสอนคาบละ 3 ชั่วโมงในภาคปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
- ทุกวันนี้เพื่อสอนวิชาหนึ่งให้ครบ 3 ชั่วโมง อาจารย์ต้องเดินทางไปรังสิตที่อาจใช้เวลาเดินทางถึง 4-5 ชั่วโมง เพื่อสอนเพียงชั่วโมงครึ่งในแต่ละวัน ไหนจะต้องเสี่ยงกับการเดินทางไกลมากวันขึ้น ไหนจะสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น 

เหตุผลเหล่านี้น่าจะเพียงพอให้ลบคำกล่าวของบางหน่วยงานที่คอยบอกปัดที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ อาจเพียงเพราะขี้คร้านที่จะปรับเปลี่ยน

(4) ยกเลิกการมีชุดนักศึกษา มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนทหาร ไม่ใช่โรงงาน ไม่ใช่บริษัท ไม่ใช่ที่ฝึกงาน จึงไม่จำเป็นต้องบังคับเรื่องการแต่งกาย ชุดนักศึกษาเป็นการกดขี่ปิดกั้นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน คือการแสดงออกในร่างกายตัวตนของนักศึกษา นักศึกษาต้องสามารถเลือกและตัดสินใจเองได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร แม้ทุกวันนี้ผู้บริหารจะบอกว่าชุดนักศึกษาเป็นทางเลือก แต่หลายคณะก็ยังใช้อำนาจบังคับให้นักศึกษาสวมชุดนักศึกษา นักศึกษาต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเอง ไม่ใช่ต้องให้ใครมาบอกว่าจะแต่งตัวอย่างไร 

หากจะอ้างเรื่องเศรษฐกิจ ทุกวันนี้เสื้อผ้าสุภาพถูกกาละ-เทศะที่มีราคาต่ำกว่าชุดนักศึกษามีมากมาย อันที่จริง หากใช้เกณฑ์ทางเศรษฐกิจ อาจารย์นั่นแหละที่ควรสวมชุดนักศึกษา เพราะอาจารย์มีรายได้ต่ำกว่านักศึกษาบางคนเสียอีก อีกประการหนึ่งคือ สมัยนี้ชุดนักศึกษากลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในตัวของมันเอง กลายเป็นว่าใครได้ใส่ชุดนักศึกษาจะเป็นคนพิเศษ เป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง ทำให้นักศึกษาแปลกแยกจากประชาชนทั่วไป ปัจจุบันนี้ ชุดนักศึกษายังกลายเป็นวัตถุทางเพศ ไม่ได้มีอยู่เพื่อเหตุผลเรื่องความประหยัดหรือความเรียบร้อยอีกต่อไป

(5) อภิวัฒน์การเรียนการสอนวิชาการศึกษาทั่วไป (general education) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ริเริ่มจัดการศึกษาแบบ liberal arts ด้วยการยืนยันให้นักศึกษาต้องเรียนรู้กว้าง รู้ข้ามสาขา เพื่อให้นักศึกษาเป็นคนที่สมบูรณ์ ไม่เป็นคนมิติเดียว จึงเป็นผู้นำในการจัดการเรียนการสอนวิชาการศึกษาทั่วไป 

แต่ทุกวันนี้การจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชานี้ในปีหนึ่งกำลังเดินสวนทางกับความเป็น "วิชาการศึกษาทั่วไป"  ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเข้าใจผิดคิดว่าวิชาเหล่านี้เป็น "วิชาพื้นฐาน" วิชาเหล่านี้ส่วนมากมีห้องเรียนขนาดใหญ่ อาจารย์จะต้องให้ความรู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง เรื่องที่สอนจึงไม่สอดคล้องกับความชำนาญ ทั้งคนสอนและคนเรียนจึงสูญเสีย นอกจากนั้น ผู้เรียนยังไร้ฉันทะในการเรียน หรือยังไม่มีวุฒิภาวะและความรู้เพียงพอในการเรียนรู้ข้ามสาขาวิชา นี่ยังไม่นับว่าบางวิชาถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวนทางกับหลักการของ liberal arts จนกลายเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการของผู้สอน บังคับให้ผู้สอนต้องสอนตามโพยของผู้ประสานงานวิชานั้น แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร

หากจัดให้การเรียนกลุ่มวิชาเหล่านี้เป็นการเรียนตลอดสี่ปี ไม่จำเป็นต้องเรียนให้หมดภายในหนึ่งปี และเปลี่ยนให้อาจารย์เลือกสอนวิชาที่ตนเองถนัด กลุ่มวิชานี้จึงจะพ้นสภาพการเป็นวิชาพื้นฐาน กลายเป็นการศึกษาทั่วไปได้อย่างแท้จริง

แน่นอนที่สุดว่าการบริหารมหาวิทยาลัยย่อมมีประเด็นใหญ่ๆ สำคัญๆ ที่ครอบคลุมผลกระทบต่อผู้คนและสังคมอื่นๆ อีกมาก และแน่นอนว่าข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงประเด็นเร่งด่วนพื้นฐาน ที่แม้หากจะไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ข้างต้นเลย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะผู้บริหารใหม่ก็คงยังไม่เสื่อมสลายไป แต่ผมก็ยังเห็นว่า การที่จะให้ธรรมศาสตร์กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดทั้งนักศึกษา บุคคลากร และอาจารย์ที่มีคุณภาพให้มาร่วมพัฒนาธรรมศาสตร์ ที่สามารถกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้วยความรักธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้