Skip to main content

ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน 

1) เพราะเขาและเธอถูกมองว่าเป็น "เด็ก" แต่กลับมาพูดจาแสดงความเห็นต่อต้านสังคมของผู้ใหญ่ วิจารณ์ผู้ใหญ่อย่างตรงไปตรงมา พวกเขาไม่ได้ใช้จริตตามวัย เช่นการใช้สรรพนามของทั้งสอง ใช้คำว่า "ดิฉัน" "ผม" "คุณ" พวกเขาแสดงความเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่สมบูรณ์ ไม่ได้แตกต่างจากพวกผู้ใหญ่ และท้าทายผู้ใหญ่โดยไม่เกรงกลัวอำนาจของผู้ใหญ่ หรือวิธีที่พวกเขาแสดงออก เขาใช้หลักเหตุผล ไม่ได้หน่อมแน้มง๊องแง๊งเหมือนเด็กๆ ที่สังคมไทยมองแล้วน่าเอ็นดู

2) เขาและเธอท้าทายสังคมอำนาจนิยม สังคมที่เน้นอาวุโส สังคมที่ให้ความสำคัญกับการมีสัมมาคารวะเหนือเหตุผล เหนือความกล้าแสดงออก เหนือความเท่าเทียมกัน ที่จริงในอดีต "เด็กๆ" ก็เคยแสดงบทบาทเช่นเดียวกันนี้ และผู้ใหญ่ทุกวันนี้ก็เคยเป็นแบบพวกเขาและเธอมาก่อน แต่กลับลืมไปแล้วว่าตนก็เคยต่อต้านผู้ใหญ่ ต่อต้านสังคมในภาวะที่ตนเป็นเด็กมากก่อนเช่นกัน และกลับใช้ความเป็นผู้ใหญ่ข่มพวกเขาเพราะตอนนี้ขึ้นมามีอำนาจแล้ว และอำนาจพวกตนกำลังถูกท้าทาย

3) เขาและเธอไม่ได้เป็นอีลีท ไม่ได้ใช้ความเป็น "ชนชั้นสูง" ที่อาศัยหน้ากากความหมดจด ผิวพรรณผ่องใส ตีหน้าซื่อบ้องแบ๊ว พูดจาอ่อนหวาน แสดงความเห็นแบบนุ่มนวล เขาและเธอไม่ได้ใช้จริต "เรียบร้อย" "สุภาพ" ในการแสดงออก หากแต่พูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา กระทั่งคร่อมเส้นศีลธรรม ใช้หลักการเหนือวาทศิลป์ ใช้การกระชากอารมณ์เหนือความแยบยล เขาและเธอจึงถูกปฏิกิริยาต้านกลับจากสังคมไทยอย่างแรง

4) สังคม "โซเชียลมีเดีย" ได้สร้าง "พื้นที่สาธารณะ" อย่างใหม่ขึ้นมา ปัจจุบันสังคมโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูง กระจายข่าวสารได้รวดเร็ว ทำให้กิจกรรมของพวกเขาเป็นที่รับรู้กว้างขวาง ในอดีต ไม่ใช่ว่าไม่มีกิจกรรมในลักษณะนี้ แต่ไม่เป็นกระแส เพราะคนรับรู้น้อย แต่ทุกวันนี้ แม้แต่ใครฉี่ราด ใครโกนขนจักแร้ ก็เป็นที่ล่วงรู้กระจายกันอย่างกว้างขวางรวดเร็ว และมีพลังทั้งในด้านการครอบงำและการต่อต้าน

5) สังคมไทยปัจจุบันนี้ไม่ได้มีด้านเดียว ไม่ได้เป็นสังคมปิด ไม่ได้เป็นสังคมที่คิดอะไรตามๆ กัน ไม่ได้มีแต่เฉพาะสังคมที่นิยมอำนาจนิยมเท่านั้นอีกต่อไป บรรยากาศของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนี้ จึงมีคนที่เห็นด้วยกับที่เขาและเธอเสนออยู่ไม่น้อย และจึงมีคนร่วมขยายประเด็นที่พวกเขานำเสนอไปต่อเนื่อง ซึ่งก็ยิ่งเป็นการเติมเชื้อความชิงชังต่อเขาและเธอมากยิ่งขึ้น 

จะโต้จะต้านเขาและเธอย่างไรก็ตาม ตราบใดที่การถกเถียงยังอยู่ในกรอบของการใช้เหตุผล การใช้วาทกรรม ไม่ว่าจะล้อเลียน เสียดสี ถากถาง หรือแม้แต่จะมีการด่าทอกันอย่างรุนแรงบ้าง ก็ยังดีเสียกว่าสังคมไทยในอดีต ที่เงื่อนไขของสังคมปิดกั้น ทำให้ความเห็นของ "เด็กๆ" กลายเป็นอาชญากรรม และพวกเขาจึงต้องสังเวยชีวิตตนเองให้กับศีลธรรมดีงามของพวกผู้ใหญ่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน