Skip to main content

เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ

ที่น่าสนใจคือ ดูเหมือน "คนรุ่นใหม่" อยากใส่ชุดนักศึกษามากยิ่งกว่า "คนรุ่นก่อนหน้า" (เช่นคนรุ่นผมหรือรุ่นน้องผม ที่ไม่ได้ปกป้องฟูมฟายกับการแต่งเครื่องแบบนักศึกษามากนัก) ปฏิกิริยาของคนรุ่นเดียวกับคุณอั้ม เนโกะ (เหมือนปฏิกิริยาของคนรุ่นเดียวกันต่อนักเรียนที่เรียกร้องให้ยกเลิกผมเกรียน) มีมากทีเดียว ทำไมพวกเขาจึงอยากอยู่ในระเบียบวินัย ทำไมพวกเขาอยากใส่ชุดนักศึกษา ผมอยากเสนอว่า ชุดความหมายเกี่ยวกับเคร่ืองแบบนักศึกษามีหลายชุดความหมาย เครื่องแบบนักศึกษาเป็นรหัสทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนทีเดียว ในขณะนี้ ดูเหมือนความหมายบางความหมายกำลังกลายเป็นความหมายนำ เป็นความหมายที่สังคมยกย่องเชิดชูกันขึ้นมา 
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม" ใช้จัดกลุ่ม เหมือน "ชุดประจำชาติ" "เครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธ์ุ" ใช้ระบุว่าใครเป็นใคร ความหมายนี้เป็นความหมายที่ active เป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงตัวตน เครื่องแบบตามความหมายนี้นำความภูมิใจมาสู่ผู้สวมใส่ ผมคิดว่าความหมายนี้แหละที่กำลังเป็นความหมายนำอยู่ แต่ผู้ที่สวมเครื่องแบบด้วยความหมายนี้จะมองเห็นหรือเปล่าว่า ยังมีความหมายอะไรอื่นอีกล่ะที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ขุดนักศึกษาอันน่าภูมิใจ 
 
"เครื่องแบบนักศึกษาทำให้คนเท่ากัน" ความหมายนี้เป็นความหมายที่พูดกันมาก ว่าเครื่องแบบทำให้นักศึกษาไม่ว่าจะจากฐานะไหน ยากดีมีจน เหมือนกันหมดและจึงเท่ากันหมด แต่จะจริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเครื่องแบบนักศึกษานำมาซึ่งการดูแลรักษาความสะอาด ถ้าเสื้อขาวเปื้อนกับเสื้อยืดสีหม่นๆ เปื้อน เราจะใส่เสื้อขาวเปื้อนต่อหรือไม่ เสื้อยืดไม่รีดเราอาจใส่ได้ แต่เสื้อเชิ้ตยับๆ เราสักกี่คนจะใส่กัน ความสิ้นเปลืองไฟ เวลา ค่าแรงเพื่อการรีดชุดนักศึกษายังจะทำให้ชุดนักศึกษาเป็นเครื่องหมายของความเท่าเทียมกันไหม เนื้อผ้า แฟชั่น ของชุดนักศึกษาที่เราเห็นกันในปัจจุบัน จะยังรักษาอุดมการณ์ความเท่าเทียมกันภายใต้เครื่องแบบอยู่อีกไหมหากคิดถึงต้นทุนและชนชั้นทางสังคมที่สามารถแบกรับต้นทุนเหล่านั้น
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเคร่ืองแสดงชนชั้น" คนที่คิดอย่างนี้อาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ตั้งแต่แรกหรอก หรือเขาอาจคิดแบบนี้โดยไม่ตั้งใจ คำพูดประเภทที่ว่า "ไม่ใช่ทุกคนจะได้ใส่" เป็นหนึ่งในนั้น แต่ชนชั้นของการมีเครื่องแบบ ความพิเศษของการได้ใส่เครื่องแบบ ความภูมิใจในการได้ใส่เครื่องแบบ เหล่านี้ก็สร้างชนชั้นของคนใส่เครื่องแบบนักศึกษา ให้เหนือคนไม่มีโอกาสได้ใส่หรือไม่ คนที่ได้ใส่นักศึกษาน่าจะมีความคิดความอ่านเพียงพอจะเข้าใจความหมายนี้เองได้
 
"เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นวัตถุทางเพศ" บางคนบอกว่า "จะร่วมเพศกันไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักศึกษาก็ได้" นั่นก็ถูก เพราะที่จริงการร่วมเพศไม่ต้องสวมอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่อย่าลืมว่าเครื่องแบบนักศึกษาเป็นภาพแทนความอ่อนวัย ความสดใส ความบริสุทธิ์ ความหมายแฝงเหล่านี้หรือไม่ที่ทำให้เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นสิ่งดึงดูดใจทางเพศ แล้วการที่เครื่องแบบนักศึกษาไทยพัฒนาความเซ็กซี่ขึ้นมา ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะเคร่ืองแบบนักศึกษาหญิงเท่านั้น มันบอกความหมายเฉพาะของเครื่องแบบนักศึกษาไทยที่เชื่อมโยงกับเซ็กซ์หรือไม่ มันบอกการกดขี่หรือการใช้ชุดนักศึกษาเป็น "เครื่องเพศ" หรือไม่ คนใส่เครื่องแบบอย่างเซ็กซี่คงรู้ตนเองดี
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ" ที่ใช้ควบคุมระเบียบของสังคม ข้อนี้ไม่ต่างอะไรกับชุดพนักงานในสำนักงานต่างๆ ที่มีเครื่องแบบ สังเกตบ้างไหมว่าคนที่แต่งเครื่องแบบมีแต่คนด้อยอำนาจตำแหน่งเล็กๆ หรือตำแหน่งลูกน้องเท่านั้นแหละที่แต่ง มีผู้จัดการธนาคารที่ไหนแต่งเครื่องแบบ มีกรรมการบริหารบริษัท ประธานบริษัทที่ไหนแต่งเครื่องแบบที่ให้พนักงานใส่ แม้แต่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรเขายังไม่แต่งเครื่องแบบไปทำงานประจำวันเลย
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเครื่องมือผลิตซ้ำอุดมการณ์ครอบงำ" ง่ายที่สุดเลยคืออุดมการณ์เพศ ภายใต้เครื่องแบบนักศึกษา คนสวมใส่เป็นได้เพียง ถ้าไม่ชาย ก็หญิง ระเบียบของการแบ่งเพศเข้ามามีบทบาทในการแต่งชุดนักศึกษาอย่างเห็นได้ชัด เกินจากนั้น ภายใต้เครื่องแบบ คนสวมจะแสดงตัวตนได้ไม่มากนัก เมื่อสวมเครื่องแบบ คุณจึงถูกเครื่องแบบกำกับพฤติกรรม เพราะถูกมอง ถูกคาดหวังต่อบทบาทตามเครื่องแบบ
 
ถึงที่สุดแล้ว ความหมายต่างๆ ของชุดนักศึกษาไม่อาจมีความหมายใดเป็นความหมายนำอีกต่อไป ความหมายที่เคยแน่นิ่ง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็แทบไม่เคยมีอำนาจนำ กำลังถูกกวนให้ขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ต้องคิดด้วยคือ ความหมายใดกันแน่ที่อยู่ซ้อนและครอบงำความหมายอื่นอยู่ แล้วทำไมความหมายนั้นจึงขึ้นมามีบทบาทเหนือความหมายอื่น ความหมายใดเป็นความหมายลวงแค่เปลือก ความหมายใดคือความหมายที่ใช้มอมเมาให้ยอมรับเพื่อใช้ความหมายอื่นควบคุม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร อย่าหยุดเถียงเพียงด้วยเพราะเราไม่ชอบความเห็นฝ่ายตรงกันข้ามก็แล้วกัน

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...