Skip to main content

คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 

ความเชื่อที่ว่าระบบทาสในสังคมไทยเป็นระบบที่แทบจะไม่มีอยู่จริง หรือที่มีก็เป็นเพียงส่วนน้อย เฉพาะบางคนที่ขายลูก ขายตัวเองเพราะติดหนี้สิน และหากมีทาส ทาสในสังคมไทยก็ไม่ได้รุนแรงเลวร้ายแบบในยุโรป อเมริกานั้น หากยังสอนอยู่อีกก็น่าสงสัยมากว่ากำลังเพ้อฝันถึงสังคมทาสราวกับว่ามันเป็นสังคมยูโทเปียหรืออย่างไร 

แคทเธอรีน บาววี่ (Katheirne A. Bowie) เคยเขียนบทความรวบรวมเอกสารที่กล่าวถึงสยาม แสดงข้อมูลมากมายถึงความป่าเถื่อนของระบบทาสในสยาม (ไทยภาคกลาง) และโยนก (ไทยภาคเหนือ) ทาสที่เป็นกำลังสำคัญก่อนการนำเช้าชาวจีนมาเป็นแรงงานสำคัญ (ต่อการขยายตัวของทุนนิยมภายใต้การกระจุกตัวของผลประโยชน์เศรษฐกิจในมือชนชั้นนำสยาม) คือทาสจากเชลยสงคราม (war captive)

ทาสเหล่านี้เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุที่มีอำนาจด้อยกว่าจากลาว เวียดนาม พม่า พวกเขาล้วนถูกกวาดต้อนมาเป็นแรงงานให้ราชสำนักสยามและราชสำนักเชียงใหม่ ทุกวันนี้ชุมชนรายรอบกรุงเทพและเชียงใหม่จึงเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นแรงงานปลูกข้าว ไม่ต้องคิดถึงว่าพวกเขาจะบาดเจ็บล้มตายระหว่างการเดินทางไปมากน้อยแค่ไหน แต่ในระหว่างการทำงานเพื่อเสียภาษี หลายต่อหลายปีพวกเขาต้องอดอยาก เพราะถูกเก็บภาษีเป็นผลผลิตมากเกินกว่าที่เขาจะเก็บไว้กินเอง 

ฉะนั้นใครที่ใฝ่ฝันว่าชีวิตของชุมชนในอดีตน่าพิสมัยกว่ายุคปัจจุบันน่ะ ช่วยอ่านประวัติศาสตร์แบบนี้เสียบ้างนะครับ นอกเสียจากว่าพวกคุณจะเป็นเจ้านาย 

ภาพดังกล่าวยิ่งสะท้อนว่าการเลิกทาสของ ร.5 คือสิ่งที่ดีงามเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย เพราะการเลิกทาสมีขึ้นพร้อมๆ กันกับการสร้างรัฐรวมศูนย์ที่เราเรียกกันว่า "สมบูรณาญาสิทธิราช" กล่าวอีกอย่างหนึ่ง นี่คือการที่ชนชั้นนำสยามลิดรอนอำนาจของรัฐและเจ้าครองนครต่างๆ ในท้องถิ่น ให้มาขึ้นกับสยามอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์นั่นเอง 

กระบวนการนี้ทำให้เจ้าครองนครท้องถิ่นไม่สามารถสืบทอดอำนาจตามสายตระกูลเดิมของตนได้อีกต่อไป พูดอีกอย่างหนึ่งคือ นี่คือการที่สยามทำให้นครเล็กน้อยรายรอบสยามไปจนจรดขอบเขตของบริทิชอินเดีย (รวมพม่า) ในฝั่งตะวันตก และอินโดจีนในฝั่งตะวันออก กลายเป็นอาณานิคมของตนเอง สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้นก็จริง แต่สยามทำให้นครรัฐเล็กๆ กลายเป็นเมืองขึ้นของตนเอง กระบวนการนี้ไม่ได้ราบเรียบ มีการต่อต้านมากมาย ทั้งจากเจ้าครองนคร (เช่น กบฏเมืองแพร่) และจากประชาชน (บรรดาผีบุญ) 

การเปลี่ยนแปลงนี้เกี่ยวอะไรกับการเลิกทาส เกี่ยวตรงที่ว่า ทาสเป็นกำลังสำคัญของ ซุ้ม-กลุ่ม-ก๊กของ "นาย" ต่างๆ ทาสและไพร่จะต้องมีสังกัดขึ้นต่อนายอย่างชัดเจน อยู่ใต้อำนาจของหัวหน้ากลุ่มก๊กต่างๆ อย่างแน่นิ่ง ไม่สามารถเคลื่อนกายย้ายถิ่นได้ง่ายๆ เนื่องจากจะกลายเป็นการเคลื่อนกำลังพล หรือไม่ก็กลายเป็นการเสียทั้งฐานการผลิตและฐานกำลังในการปกป้องตนเองของหัวหน้ากลุ่มก๊ก 

อ.อคิน รพีพัฒน์เขียนให้ภาพระบบนี้เอาไว้นานแล้วว่า นี่เป็นระบบอุปถัมภ์แบบพิรามิด ในระบบเช่นนี้ ผู้ใดที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ ก็เนื่องมาจากเป็นผู้ที่มีไพร่-ทาสในสังกัดเป็นจำนวนมากที่สุด ในสมัยใดที่มีกษัตริย์สององค์ ก็เนื่องจากทั้งสองกษัตริย์นั้นมีไพร่-ทาสจำนวนไล่เลี่ยกัน ขอย้ำว่า นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นการมีกำลังคนในสังกัดมากน้อยเท่าใด 

การเลิกทาสที่เกิดพร้อมๆ กับการลิดรอนอำนาจเจ้านครท้องถิ่นต่างๆ ทำลายอำนาจการผูกขาดกำลังคนของรัฐท้องถิ่นลง ทำลายอำนาจที่จะมาท้าทายอำนาจกษัตริย์ลง การเลิกทาสจึงเปลี่ยนไพร่-ทาสที่มีสังกัดมูลนายที่อาจมีอำนาจท้าทายกษัตริย์ ให้กลายเป็นพลเมืองที่ขึ้นกับกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว พลเมืองเหล่านี้กลายเป็นแรงงานที่เคลื่อนย้ายถิ่นได้ สามารถดูดมากเป็นกำลังแรงงานทำการผลิตใต้อำนาจทางการผลิตของชนชั้นนำสยามที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพได้ 

คำอธิบายการเลิกทาสในตำราเรียนเป็นนิยายที่อาศัยฉากอดีต ที่เขียนเพื่ออำพรางการยักย้ายถ่ายเทอำนาจ การจัดสรรอำนาจรัฐแบบใหม่ ปิดบังการรวบอำนาจเพื่อสร้างรัฐอาณานิคมขนาดย่อมไว้ใต้ภาพความการุณ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้