Skip to main content

"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้

"ที่พี่ส่งมาก็เป็นโปรแกรมมาตรฐานสำหรับการไปเวียดนามครั้งแรกน่ะพี่ ไปแล้วกลับมาคนถามว่าไปที่เหล่านี้หรือเปล่า แล้วพอตอบ "ไม่ได้ไปอ่ะ เพราะ 'จารย์... แนะนำให้ไป... ... ..." คนไทยทั่วไปเขาก็จะว่า "ยี้ ไปทั้งทีทำไมไม่ไป ... ... ... (ตามโปรแกรมเค้าน่ะ)"...

"แต่เท่าที่ดูนี่ นอกจากแถวสุสานลุงโฮแล้ว ก็ไม่มีไปพิพิธภัณฑ์อื่นเลยนะ คือพิพิธภัณฑ์เวียดนามนี่ ฝรั่งมากนะพี่ เขาทำไว้เพื่อการศึกษาจริงๆ ไม่ใช่แบบบ้านเรา ผมว่าอันนี้น่าเสียดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยานี่ ควรไป แต่หากเวลาน้อย ก็เลือกเอาเถอะ...

"ที่จริงตรงกันข้ามกับสุสานลุงโฮเป๊ะเลย คือวังเก่าสมัยค.ศ. 15 และก่อนหน้านั้น เพิ่งขุดพบเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง อันนี้ก็เดินเข้าได้นะ แทนที่จะไปรอต่อคิวเป็นชั่วโมงเพื่อเข้าไปโฉบดูศพลุงแกนอนขาวซีดตัวบวมอย่างน่าเวทนาอยู่ในห้องเย็นภายในสิบห้าวินาที...

"เดือนนี้เป็นเดือนที่ผมอิจฉาคนได้ไปฮานอยมาก มันเจ๋งมากสำหรับการนั่งจิบเบียร์เหงาๆ เบียร์เวียดนามมีไม่กี่ยี่ห้อหรอก มันจืดสนิท ฮานอยมีเบียร์ฮานอย หาซื้อเบียร์ไซ่ง่อนกินก็พอมี รสก็ไม่ต่างกันนัก มีเบียร์ฮาลิดาของเช็คหรือยังไงเนี่ย กับเบียร์ 333 ภาษาเวียดเรียก "บาบาบา" แปลว่า สามๆๆ นั่นแหละ...

"แต่โลกของเบียร์ในฮานอยจริงๆ ที่มีเฉพาะฮานอยน่ะ คือ bia hơi อ่านว่าเบียเฮย ดูเหมือนเบียเอยดีเน๊าะ มันคือเบียร์สด เฉพาะที่ฮานอยเท่านั้นที่มีโรงเบียร์แบบนี้ มีอยู่สัก 2-3 ยี่ห้อ แต่ที่ดังคือเบียเฮยฮานอย หากินยากเหมือนกัน เมื่อก่อนในเขตเมือง ในเขตถนน 36 สายน่ะเยอะมาก แต่ตอนนี้ลดน้อยลง ต้องเดินๆ หาหน่อย เจอยี่ห้ออะไรก็กินเถอะ สังเกตได้จากถังเบียร์สดน่ะ ถ้าร้านเล็กๆ จะตั้งไว้เลย ถ้าร้านใหญ่จะมีผู้ชายนั่งเยอะๆ เก้าอี้เตี้ยๆ...

"ผมน่ะมีร้านประจำอยู่ร้านนึง เพื่อนพาไปกินประจำ อยู่ริมทะเลสาบ Hồ Tây โห่เต็ย ชื่อร้าน Bia Hơi Cường Hói เบียเฮยเกื่องหอย แปลว่า เบียร์สดตาเกื่องหัวล้าน เข้าใจว่าตั้งตามหัวเจ้าของร้าน ร้านนี้ไม่ไกลจากถนน 36 สายนัก คนเยอะมาก อาหารอร่อยมาก ปลาหม้อไฟนี่อร่อยมาก มีไก่พอกดินแล้วเผา กุ้งในทะเลสาปตัวจิ๋วๆเผากรอบเกรียม เต้าหู้ทอด หมูหัน ฯลฯ อะไรก็อร่อย กินกับเบียร์อร่อยเฮย อูยยยยย...

"เรื่องอาหารนี่ ที่จริงพี่ควรหาโอกาสชิมอาหารฮานอยอย่างน้อยตอนกลางวัน กินกับทัวร์น่ะ ไม่อยากบอก อาหารฮานอยที่หากินที่ไหนไม่ได้มีเยอะมาก กลางวันๆ จะได้กลิ่นหมูย่างไปทั่วเมือง เรียก bún chả บู๋นจ่า เป็นขนมจีนกินกับหมูย่างที่ลอยมาในซุปเปรี้ยวหวานใสๆ เย็นๆมี bánh cuốn แบ๋ญก๋วน หรือปากหม้อแผ่นใหญ่ๆ โรยหน้าด้วยหอมเจียว แนมกับหมูยอชนิดนึง (หมูยอมีหลายชนิดมาก) กินกับน้ำจิ้มเปรี้ยวหวานใสๆ และ ฯลฯ...

"ซาปานี่ ควรไปเป็นอย่างยิ่ง เรื่องอาหารการกินผมไม่มีอะไรประทับใจ แต่ต้องกินยอดฟักแม้วผัด (ขออภัยที่ใช้คำว่าแม้ว) อากาศแบบนี้ที่นั่นน่าจะหนาวมากแล้ว เตรียมตัวให้ดีล่ะพี่ มันหนาวจริง อาจเลขตัวเดียวได้ หนาวๆแบบนี้น่าจะกินเหล้ากับ lẩu เหลิ่ว คือสุกี้แบบเวียดๆอร่อยนะ เวียดนามชอบใส่ผักกาดดองในน้ำสุกี้ บางทีมีผักอร่อยๆเยอะ...

"แต่ที่เด็ดมากของซาปาคือเหล้าชนิดหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้สักที (หาเจอแล้ว เรียก rượi Sán Lùng เสี่ยวสานหลุ่ง เหล้าสามมังกร เป็นเหล้าชาวเย้า) มันเป็นเหล้าสีออกเหลืองๆ คือเหล้าเวียดนามทั่วไปมันจะสีใสๆ แต่นี่สีเหลืองๆ ลองดมดูจะมีกลิ่นเปลือกข้าว กลิ่นแกลบนั่นแหละพี่ หอมมาก หาร้านที่ดูไว้ใจได้แต่ไม่ต้องดูหรูอะไรนะ ดื่มนี่ตอนอากาศเย็นๆนะ โหย เดิมทีมีร้านนึงที่ผมรู้จัก เป็นร้านเล็กๆ เจ้าของร้านเป็นคนเวียดอพยพไปอยู่ที่นั่น แกแก่แล้ว ไม่รู้ตายรึยัง ทำเหล้าเยอะมาก แต่ไม่รู้จะบอกทางพี่ยังไง ซาปาไม่ใหญ่ แต่บอกทางยากอยู่...

"ตลาดคนม้งนั่นก็ควรไป ผมยังไม่เคยไปเลย เป็นตลาดนัด เข้าใจว่าเขาคงจัดให้ไปตรงกับวันนัดตลาดพอดี ที่ผมเคยไปเป็นอีกที่นึง ผมเลี่ยงไปอีกที่เพราะไม่อยากเจอนักท่องเที่ยวเยอะ ที่ผมไปชื่อตลาด Mường Khương เหมื่องเคือง เป็นเมืองของคนไตกลุ่มหนึ่ง แต่มีคนหลายกลุ่มมาตลาดนัดนี้ในวันอาทิตย์เยอะมาก แต่ไม่ใหญ่เท่าบั๊คห่า (Bắc Hà) ที่พี่จะไปหรอก...

"กลางเมืองฮานอยมีร้านเบียร์เยอรมันสดอยู่ร้านนึง นั่งสบาย อยู่ริมทะเลสาป Hồ Hoàn Kiếm โห่หว่านเกี๋ยม ด้านทิศเหนือ มีอาคารข้ามถนนไปจากบริเวณริมทะเลสาบ อาคารสูง 3-4 ชั้น ชั้นสองเป็นร้านเบียร์ชื่อ Legend Beer อาหารก็โออยู่ แต่ผมไปกินแต่เบียร์ อากาศดีๆอย่างนี้นะ นั่งจิบเบียร์ได้ไม่เบื่อ เบียร์ไม่แพง อร่อย...

"มีถนนหลายสายที่ควรเดินทอดน่องเรื่อยเปื่อย แต่ถ้าไปกันหลายๆ คนก็ระวังคนล้วงกระเป๋าหน่อยก็แล้วกัน ในถนน 36 สายคนล้วงกระเป๋าเยอะ...

"มีถนนนึง ตั้งชื่อตามกวีในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นราชวงศ์เหงวียน กวีชื่อ Nguyễn Du เหงวียนซู ชื่อถนนตั้งตามชื่อแกเลย ผมชอบถนนสายนี้มาก เขาปลูกต้นตีนเป็ด (ภาษาเวียดเรียก Hoa Sữa ดอกน้ำนม) อายุมากแล้ว สูงมาก เดือนนี้กำลังมีดอกเลย เดินบนถนนนี้แล้วคิดถึงผลงานอมตะเหงวียนซูแล้วได้อารมณ์ดีจัง...

"ผมเขียนไปได้เรื่อยๆ แหละพี่ ยังไงพี่ไปเที่ยวนี้ดูแล้วกัน แล้วหากมีโอกาสไปพร้อมกันค่อยว่ากัน."

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้