Skip to main content

ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว (1-3 พย.) ผมมีโอกาสได้เดินทางไปแม่สอดครั้งแรกในชีวิต ไม่ได้ไปแม่สอดตัวเปล่า แต่พานักศึกษานานาชาติ (อเมริกัน ฝรั่งเศส ออสเตรีย โปรตุเกส สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไทย) นานาชาติพันธ์ุ (ไทย ม้ง เมี่ยน ขแมร์ ยูโรเปียน อเมริกัน จีน ฟิลิปปิโน อเมริกันอินเดียน) รวมๆ แล้ว 40 คนไปด้วย จึงนับเป็นการเดินทางพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก 

แม่สอดใหญ่โต หลากหลาย มีชีวิตชีวา และอ่อนหวานมากกว่าที่ผมจินตนาการไว้ ความประทับใจแรกๆ ที่ผมมีคือบนพื้นถนนหนทาง ที่มักมีรอยนำ้หมาก นี่บอกถึงความเป็นเมืองเฉพาะถิ่นของคนกินหมาก ร้านขายหมากเป็นคำๆ คำละบาท ที่ตั้งอยู่ทั่วไปในเมืองแม่สอด ยืนยันถึงความเป็นเมืองกินหมากที่หลุดรอดมาจากนโยบายสบายการกินหมากหลังยุคจอมพลป.ได้อย่างดี 

ผมไม่ได้มีโอกาสไปถึงค่ายผู้อพยพ เพราะพะรุงพะรังกับนักศึกษาจำนวนมาก จึงวนเวียนไปมาเฉพาะในเมืองบ้าง ไปตลาดชายแดนริมเมยบ้าง แต่ก็เพียงพอที่จะได้เห็นชีวิตผู้คนชายแดน ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นที่คลีนิคแม่ตาวกับที่โรงงานเซรามิกแห่งหนึ่ง  

ที่คลีนิคแม่ตาว น่าประทับใจที่การทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ ประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐไทย มีส่วนช่วยผู้คนที่ชายแดนบริเวณนี้ได้มากทีเดียว คลีนิคมีความเป็นนานาชาติพันธ์ุมาก มีทั้งคนพม่า คนกะเหรี่ยง และไทใหญ่มารักษา ส่วนหนึ่งของคลีนิคคือแผนกทำขาเทียม น่าตกใจที่ 70% ของสาเหตุที่ทำให้คนทำขาเทียมคือขาขาดจากทุ่นระเบิดที่ฝังกันทั้งฝ่ายรัฐบาลพม่าและกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชนต่างๆ 

ขณะนี้แม่สอดเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกแหล่งใหญ่มาก บางโรงงานกำลังย้ายหรือไม่ก็ขยับขยายการผลิตมาที่นี่ โรงงานที่ผมไปชมขนาดย่อมๆ มีคนงานทั้งหมด 800 คน จ่ายค่าแรงวันละ 300 บาท คนงาน 70% เป็นคนสัญชาติพม่า ด้วยการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย ผู้บริหารโรงงานเล่าว่า แทบหาคนไทยทำงานแบบนี้ไม่ได้  

ชีวิตด้านที่มีสีสันมากอีกด้านคือด้านศาสนา ผมไปวัดพม่า-ไทใหญ่ (ไม่แน่ใจว่าเป็นวัดคนกลุ่มไหนกันแน่ น่าจะปนๆ กัน) ไปวัดไทโยนก (หมายถึงคนไทย "ล้านนา") และไปเดินบริเวณมัสยิดห่งหนึ่ง (เขาไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าไปด้านใน) ศาสนาสถานทั้งสามแห่งแสดงความปนเปของผู้คนในแม่สอดได้เป็นอย่างดี วัดพม่า-ไทใหญ่มีอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมที่ชัดเจน ทั้งอาคาร การกินอยู่ของพระ ภาษา อักษร รูปทรงหน้าตาพระพุทธรูป 

ส่วนที่วัดไทโยนก ก็ได้เจอกับผู้คนที่พูดภาษาเหนือ และรับเอานวัตกรรมใหม่ๆ ของ "ไทล้านนา" อย่างกลองสะบัดชัย (บางคนคงว่าผมไม่รู้ว่ากลองนี่เก่าแก่มาก นั่นก็แล้วแต่ท่านจะเข้าใจนะครับ) ที่ผมชอบคือบทสนทนากับแม่เฒ่าคนหนึ่งกับเด็กชาวพม่าคนหนึ่ง ขณะที่แม่เฒ่าเรียกคนกะเหรี่ยงว่า "ยาง" เด็กน้อยพม่าที่เรียนภาษาไทยได้สองปีแล้วเรียกคนกะเหรี่ยงว่า "ปากญอ" (บางคนคงเถียงผมว่า เขาเรียก "ปกาเกอญอ" เอาเถอะ ผมได้ยินอย่างนี้ก็แล้วกัน) 

ที่บริเวณมัสยิดกลางเมืองแม่สอด นับเป็นย่านชาวมุสลิมขนาดใหญ่ ที่จริงผมสงสัยตั้งแต่เห็นแผนที่แม่สอดแต่แรกว่ามีมัสยิดอยู่กลางเมืองเป็นจำนวนมาก คนที่นี่เล่าว่าปู่ย่าพวกเขาอพยพมาจากอินเดีย รุ่นพ่อของคนอายุ 50 ปีจึงมาเกิดที่นี่ ผมติดใจโรตีที่พอจะเปิดให้ชิมใกล้ๆ มัสยิดอยู่หลายร้าน ที่ชอบมากคือมะตะบะ ที่เขาทอดแป้งสดๆ แล้วใส่ไส้ที่ผัดไว้แล้ว เอาไข่ทารอบๆ แป้งโรตี แล้วห่อกันสดๆ ทอดให้กรอบนิดๆ ไม่ใช่มะตะบะที่ห่อเตรียมไว้แล้วมาอุ่น มีร้านหนึ่งที่ผมไปนั่งถึงสองครั้ง เพราะติดใจรสน้ำชา เขาอุ่นนมวัวสดในหม้อกับต้มชาร้อนๆ ในกาใหญ่ตลอดเวลา ชาจึงเข้มมากและนมจึงมันมาก ใส่น้ำตาลนิดหน่อย รสชาติแบบชาอินเดีย 

สุดท้ายที่อยากให้ได้ไปเยือนกันคือ ตลาดแม่สอด ผมไปวันอาทิตย์ตอนสายๆ หน่อย ตลาดคึกคักมาก แต่ดูเหมือนคณะของผมจะกลายเป็น "นักท่องเที่ยว" แปลกหน้าคณะเดียวในตลาดสดแห่งนี้ ตลาดนี้ชวนให้นึกถึงตลาดนัดที่เคยไปมากมายบนถิ่นที่สูงของคนหลายชาติพันธ์ุในภาคเหนือของเวียดนาม ที่ตลาดแม่สอด มีทั้งคนมุสลิมพม่า คนพม่า กะเหรี่ยง ไทใหญ่ จีน ทั้งหมดสังเกตปนเดาดูได้จากอาหาร การแต่งตัว ภาษา และหน้าตา ลำพังเดินไป ซื้อขนม ของกินแปลกๆ ชิมไป ดูหนังสือพม่า ดูคนซื้อขาย ก็น่าตื่นตาตื่นใจมากแล้ว  

เดินๆ ตลาดอยู่ก็เกิดมีขบวนแห่ชาวไทใหญ่ ส่งเสียงดนตรี เสียงฆ้องที่ประยุกต์เอาคีบอร์ดมาเล่นแทน เสียงฉาบ แห่ผ่าตลาดมาเรี่ยไรเงิน สอบถามดูเขาบอกว่ามาจากฝั่งพม่า พูดไทยไม่ค่อยได้ เรี่ยไรเงินจะไปทำบุญออกพรรษา ระหว่างนั้นไม่มีเสียงก่นด่าจากใคร แม้ขบวนแห่นี้จะทำให้การสัญจรติดขัดไปทั่ว แต่ก็เหมือนกับว่าเป็นกิจกรรมปกติที่เขาทำกัน เขาทนกันได้  

แม่สอดกำลังจะเปลี่ยนไปขนานใหญ่เพราะอยู่บนเส้นทาง East-West Corridor เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศจะเบนเข็มไปยังประเทศพม่ามากขึ้นหลังจากที่พม่าเริ่มปรับตัวให้เข้ากับโลก ที่ดินแม่สอดกำลังแพงขึ้น สิ่งปลูกสร้างใหญ่โตเข้ามาแทรกอาคารพาณิชย์ไม้มากขึ้น แต่ความเป็นเมืองที่เปิดรับโลก (cosmopolitanism) ของแม่สอดคงไม่ยังหมดไปง่ายๆ  

ก็ได้แต่หวังว่าผู้บริหารแม่สอดปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไปจะสามารถคงจุดแข็งและแง่งามของแม่สอดในด้านสังคมและวัฒนธรรมไว้ได้ พร้อมๆ กับการพัฒนาความมั่งคั่งและความสันติสุขของเมืองชายแดน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...