Skip to main content

ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ

1) "ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล" บอบช้ำจากการแตกกันตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กระทั่งขณะนี้ก็ยังรวมกันไม่ติดดีนัก กลุ่มที่กุมมวลชนไว้ได้มากที่สุด คือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีแนวร่วมเฉพาะกาลเป็นอธิการบดี 24 สถาบัน นอกจากนั้นเป็นกลุ่มกระเส็นกระสายจากพันธมิตรฯ เดิม ที่ยังรวมไม่ติดกับ ปชป. 

ปัญหาของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลคือ นอกจากเรื่องต้านทักษิณแล้ว ยังมองไม่ออกว่าเรื่องอะไรจะมาฉุดให้มวลชนออกมาได้อีก ขณะนี้ หลังจากกระแสต้านพรบ.เหมาเข่งซาลงแล้ว มวลชนกลุ่มนี้กำลังรอกระแสงมงายเรื่องเสียดินแดนเขาพระวิหารว่าจะดึงให้คนมาร่วมต้านได้เท่ากับกระแสต้านพรบ.ล้างผิดทักษิณหรือเปล่า  

นอกจากนั้น หากมวลชนที่ยืนร่วมกันอยู่ห่างๆ นี้หมดแรงเล่นการเมืองบนท้องถนน กำลังส่วนนี้จะหมดไปอย่างแทบจะกู้กลับมาได้อีกยาก ดังนั้น เป็นไปได้ว่าการเคลื่อนไหวมวลชนของกลุ่มนี้จะต้องจบเกมเร็วๆ จะต้องเร่งปฏิกิริยา ถ้อยคำจะรุนแรงไร้ความรับผิดชอบมากขึ้น และจะกระตุ้นกระแสรัฐประหารมากขึ้นเรื่อยๆ 

2) "ฝ่ายหนุนรัฐบาล" บอบช้ำจากการแตกหักกันเรื่องพรบ.เหมาเข่งสุดซอย มวลชนเสื้อแดงที่พยายามยืนระยะห่างกับนปช.และพรรคเพื่อไทย เช่นกลุ่มบก.ลายจุด พวกปัญญาชน เร่ิมระอากับพท.มากขึ้น ส่วนนปช.จะยังพยายามเชื่อมพรรคกับมวลชนเสื้อแดง แม้จะแสดงออกบ้างว่าพร้อมที่จะทัดทานเชิงหลักการกับพรรค แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าจะรักษาระยะห่างหับพรรคแค่ไหน พรรคเพื่อไทยจึงยังย่ามใจว่ามีมวลชนหนุน 

ข้อเสียเปรียบคือ พท.เริ่มเสื่อมความนิยมจากปัญญาชนที่สามารถเป็นปากเป็นเสียงช่วยเถียงให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ พรรคเริ่มต้องพึ่งพลังมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังไม่เดินถนน แต่ก็เริ่มระดมพลัง แสดงว่าการเมืองในห้องประชุมรัฐสภาเริ่มเสื่อมความชอบธรรม ขณะนี้จึงถูกดึงลงมาท้องถนนมากขึ้น 

3) "ความเสี่ยงของประเทศ" เนื่องจากมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีกำลังน้อยกว่า ภาพยังไม่ยิ่งใหญ่ ยังไม่สามารถรวมตัวกันได้ติด จุดร่วมกันมีต่ำ ไม่เข้มแข็ง พลังส่วนนี้จึงต้องเร่งกระแส อาศัยจังหวะที่กำลังดูเข้มแข็ง จบเกมให้เร็ว คาดว่าสัปดาห์นี้กระแสปลุกรัฐประหารจะแรงขึ้น 

หากฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถดึงเกมการเมืองกลับไปสู่ห้องประชุม กลับไปสู่รัฐสภา ให้ออกจากการเมืองท้องถนนไปได้ หรือหากฝ่ายหนุนรัฐบาลลงไปเล่นการเมืองมวลชน การเมืองท้องถนนมากขึ้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง หากเกิดการรัฐประหารขึ้นจริง จะเกิดการปะทะกันของทั้งประชาชนด้วยกันเองและประชาชนกับกองกำลังทหาร รวมทั้งอาจมีกองกำลังทหารที่แตกแถว เกิดภาวะสงครามกลางเมือง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี