Skip to main content

อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม" 

แต่ไม่เป็นไรครับ มาคราวนี้ อาจารย์ออกมาแสดงความเห็น ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับสังคมไทยในสภาวะสุ่มเสี่ยงขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม ผมมีข้อสงสัยอยู่ว่า ที่อาจารย์สรุปในข้อแรกของจดหมายถึงนายสุเทพว่า การเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นสันติวิธี จนทำให้คนเอาไปใช้อ้างสนับสนุนนายสุเทพกันไปทั่วนั้น จะเป็น "อสันติวิธี-วิหิงสา-อนารยะขัดขืน" ตั้งแต่ต้นเสียมากกว่าหรือเปล่า 

ผมเข้าใจว่าอาจารย์ได้ติติงนายสุเทพไว้ในข้อท้ายๆ ของจดหมายอยู่พอสมควร แต่ก็ยังสงสัยว่า การเคลื่อนไหวของนายสุเทพเป็นสันติวิธีแต่แรกแล้วอาจจะกลับกลายเป็นอสันติวิธี หรือเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดหลักการสันติวิธีตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วกันแน่ อาจารย์ครับ อาจารย์เป็นครูที่ผมเคารพ และเป็นปรมจารย์ของสันติวิธีในประเทศไทย ผมจึงขอความรู้จากอาจารย์ดังนี้ 

ข้อแรก ผู้ใช้สันติวิธีจะต้องเป็นผู้รักสันติด้วยหรือไม่ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มีประวัตินิยมความรุนแรง สั่งการให้มีการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 แล้วขณะนี้กลับมานำมวลชน ต่อสู้เพื่อล้มระบอบทักษิณ ด้วยวิธีการที่คล้ายกับสันติวิธี จะถือว่าใช้สันติวิธีได้หรือไม่ หรือใครก็เป็นนักสันติวิธีได้ตราบใดที่เขาใช้หันมาใช้วิธีการต่อสู้อย่างสันติ แม้ว่าเขาจะเคยใช้ความรุนแรงอย่างร้ายกาจต่อประชาชนมือเปล่าผู้บริสุทธิ์มากมายจนประจักษ์แก่ตาชาวโลกไปทั่วแล้วก็ตาม อาจารย์เชื่อจริงๆ หรือครับว่านายสุเทพเป็นคนรักสันติ 

ข้อต่อมา เท่าที่ผมเข้าใจ สันติวิธีใช้ต่อสู้เพื่อชนผู้ไร้อำนาจต่อรอง สันติวิธีใช้เพื่อต่อกรกับผู้ใช้อำนาจครอบงำ สันติวิธีเป็นอำนาจของชนชั้นผู้ยากไร้ ด้อยอำนาจ ไร้พลังต่อต้านด้วยวิธีอื่น แต่ผมแน่ใจได้ว่า การต่อสู้ของนายสุเทพและพรรคพวกไม่ได้เป็นไปเพื่อคนยากไร้ คนด้อยอำนาจตั้งแต่แรกก่อตั้งขบวนการอย่างแน่นอน การต่อสู้ของนายสุเทพและพรรคพวกได้รับการสนับสนุนจากคนมีอำนาจ อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมและการเมือง เช่น นักวิชาการที่สนับสนุนการรัฐประหาร ชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่มีรายได้สูงจำนวนมาก และยังชนชั้นสูงจากระบอบเก่าอีกกลุ่มหนึ่ง คนเหล่านี้ต่อสู้เพื่อคงอำนาจจนถึงราชศักดิ์ของตนไว้มากกว่าต่อสู้เพื่อคนด้อยอำนาจไม่ใช่หรือ ซ้ำร้าย คนเหล่านี้ยังดูถูกชนชั้นล่างๆ ลงมาในสังคม ว่าไร้การศึกษา โง่เป็นควาย ตั้งแต่แรกเร่ิมการต่อสู้ อย่างนี้แล้วการต่อสู้ของนายสุเทพและขบวนการนกหวีดจะเป็นสันติวิธีได้ด้วยหรือ 

ข้อสาม ขณะนี้ประเทศเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องใช้สันติวิธีล้มล้างอำนาจรัฐกันแล้วหรือหรือ สันติวิธีจะใช้เมื่อไม่มีวิธีอื่นใดที่สันติกว่าหลงเหลืออยู่ในการต่อสู้อีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่ แต่ขณะนี้เรามีรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญ มีองค์กรทางการเมืองอีกมากมาย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ศาลยุติธรรม ฯลฯ องค์กรเหล่านี้ง่อยเปลี้ย ไม่มีอำนาจ ถูกครอบงำจากพลังชั่ว ไม่สามารถคงความยุติธรรมได้แล้วจริงหรือ หากเราไม่เชื่อถือในสถาบันทางการเมืองใดๆ เลย แล้วใช้วิธีการที่ใกล้เคียงกับสันติวิธีไปเรื่อยๆ เพื่อล้มล้างทำลายสถาบันทางการเมืองไปจนถึงขีดสุด สันติวิธีจะยังเป็นวิธีการที่ถูกนำมาสร้างสันติสุขอยู่อีกหรือ เราต้องถามด้วยหรือไม่ว่า เมื่อใดกันที่สันติวิธีมีความชอบธรรม หรือเมื่อใดก็ได้ ใครก็ได้ จะใช้เพื่ออะไรหรือเพื่อใครก็ตาม หากใช้วิธีการคล้ายๆ สันติวิธีแล้ว ก็ล้วนเป็นสันติวิธีหมดหรือ 

ข้อสี่ วิธีการคล้ายสันติวิธีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณและมวลชนนกหวีด เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยสันติ หรือเป็นการทำลายสันติสุขเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรงกันแน่ ข้อนี้เราไม่อาจกล่าวหากันได้อย่างตรงไปตรงมาง่ายๆ แต่น่าสงสัยว่า หากไม่เกิดความรุนแรงขึ้นมาแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในขณะนี้ตามข้อเรียกร้องของนายสุเทพและพวกได้อย่างไร หากสันติวิธีที่กระทำไปเพื่อหวังผลทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม ด้วยการกดดันยั่วยุจนทำให้ฝ่ายรัฐจำต้องใช้ความรุนแรงแล้ว จะยังเรียกว่าสันติวิธีได้หรือไม่ ซ้ำร้าย อาจารย์ก็น่าจะทราบดีว่า นายสุเทพและพรรคพวกพยายามเรียกร้องให้ทหารออกมาใช้กำลังรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้แล้วเรายังจะเรียกการต่อสู้นี้ว่าสันติวิธีได้อีกหรือ

สรุปแล้ว อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ เมื่ออ่านข้อเขียนอาจารย์จนจบ ผมเข้าใจได้ไม่ยากว่าสันติวิธีไม่ได้เป็นเพียงวิธีการ แต่จะสันติวิธีจะต้องเป็นทั้งวิธีการ เป้าหมาย และหลักการทางการเมืองของขบวนการอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากไปพร้อมกันตั้งแต่เร่ิมแรก แต่การใช้วิธีการคล้ายสันติวิธี โดยผู้นิยมความรุนแรง เพื่ออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย นอกระบอบประชาธิปไตย จนเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารโดยการใช้กำลังรุนแรง จะถือว่าเป็นสันติวิธีตั้งแต่แรกจนถึงขณะนี้ด้วยหรือครับ 

ด้วยความนับถือ 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้