Skip to main content

อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม" 

แต่ไม่เป็นไรครับ มาคราวนี้ อาจารย์ออกมาแสดงความเห็น ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับสังคมไทยในสภาวะสุ่มเสี่ยงขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม ผมมีข้อสงสัยอยู่ว่า ที่อาจารย์สรุปในข้อแรกของจดหมายถึงนายสุเทพว่า การเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นสันติวิธี จนทำให้คนเอาไปใช้อ้างสนับสนุนนายสุเทพกันไปทั่วนั้น จะเป็น "อสันติวิธี-วิหิงสา-อนารยะขัดขืน" ตั้งแต่ต้นเสียมากกว่าหรือเปล่า 

ผมเข้าใจว่าอาจารย์ได้ติติงนายสุเทพไว้ในข้อท้ายๆ ของจดหมายอยู่พอสมควร แต่ก็ยังสงสัยว่า การเคลื่อนไหวของนายสุเทพเป็นสันติวิธีแต่แรกแล้วอาจจะกลับกลายเป็นอสันติวิธี หรือเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดหลักการสันติวิธีตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วกันแน่ อาจารย์ครับ อาจารย์เป็นครูที่ผมเคารพ และเป็นปรมจารย์ของสันติวิธีในประเทศไทย ผมจึงขอความรู้จากอาจารย์ดังนี้ 

ข้อแรก ผู้ใช้สันติวิธีจะต้องเป็นผู้รักสันติด้วยหรือไม่ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มีประวัตินิยมความรุนแรง สั่งการให้มีการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 แล้วขณะนี้กลับมานำมวลชน ต่อสู้เพื่อล้มระบอบทักษิณ ด้วยวิธีการที่คล้ายกับสันติวิธี จะถือว่าใช้สันติวิธีได้หรือไม่ หรือใครก็เป็นนักสันติวิธีได้ตราบใดที่เขาใช้หันมาใช้วิธีการต่อสู้อย่างสันติ แม้ว่าเขาจะเคยใช้ความรุนแรงอย่างร้ายกาจต่อประชาชนมือเปล่าผู้บริสุทธิ์มากมายจนประจักษ์แก่ตาชาวโลกไปทั่วแล้วก็ตาม อาจารย์เชื่อจริงๆ หรือครับว่านายสุเทพเป็นคนรักสันติ 

ข้อต่อมา เท่าที่ผมเข้าใจ สันติวิธีใช้ต่อสู้เพื่อชนผู้ไร้อำนาจต่อรอง สันติวิธีใช้เพื่อต่อกรกับผู้ใช้อำนาจครอบงำ สันติวิธีเป็นอำนาจของชนชั้นผู้ยากไร้ ด้อยอำนาจ ไร้พลังต่อต้านด้วยวิธีอื่น แต่ผมแน่ใจได้ว่า การต่อสู้ของนายสุเทพและพรรคพวกไม่ได้เป็นไปเพื่อคนยากไร้ คนด้อยอำนาจตั้งแต่แรกก่อตั้งขบวนการอย่างแน่นอน การต่อสู้ของนายสุเทพและพรรคพวกได้รับการสนับสนุนจากคนมีอำนาจ อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมและการเมือง เช่น นักวิชาการที่สนับสนุนการรัฐประหาร ชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่มีรายได้สูงจำนวนมาก และยังชนชั้นสูงจากระบอบเก่าอีกกลุ่มหนึ่ง คนเหล่านี้ต่อสู้เพื่อคงอำนาจจนถึงราชศักดิ์ของตนไว้มากกว่าต่อสู้เพื่อคนด้อยอำนาจไม่ใช่หรือ ซ้ำร้าย คนเหล่านี้ยังดูถูกชนชั้นล่างๆ ลงมาในสังคม ว่าไร้การศึกษา โง่เป็นควาย ตั้งแต่แรกเร่ิมการต่อสู้ อย่างนี้แล้วการต่อสู้ของนายสุเทพและขบวนการนกหวีดจะเป็นสันติวิธีได้ด้วยหรือ 

ข้อสาม ขณะนี้ประเทศเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องใช้สันติวิธีล้มล้างอำนาจรัฐกันแล้วหรือหรือ สันติวิธีจะใช้เมื่อไม่มีวิธีอื่นใดที่สันติกว่าหลงเหลืออยู่ในการต่อสู้อีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่ แต่ขณะนี้เรามีรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญ มีองค์กรทางการเมืองอีกมากมาย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ศาลยุติธรรม ฯลฯ องค์กรเหล่านี้ง่อยเปลี้ย ไม่มีอำนาจ ถูกครอบงำจากพลังชั่ว ไม่สามารถคงความยุติธรรมได้แล้วจริงหรือ หากเราไม่เชื่อถือในสถาบันทางการเมืองใดๆ เลย แล้วใช้วิธีการที่ใกล้เคียงกับสันติวิธีไปเรื่อยๆ เพื่อล้มล้างทำลายสถาบันทางการเมืองไปจนถึงขีดสุด สันติวิธีจะยังเป็นวิธีการที่ถูกนำมาสร้างสันติสุขอยู่อีกหรือ เราต้องถามด้วยหรือไม่ว่า เมื่อใดกันที่สันติวิธีมีความชอบธรรม หรือเมื่อใดก็ได้ ใครก็ได้ จะใช้เพื่ออะไรหรือเพื่อใครก็ตาม หากใช้วิธีการคล้ายๆ สันติวิธีแล้ว ก็ล้วนเป็นสันติวิธีหมดหรือ 

ข้อสี่ วิธีการคล้ายสันติวิธีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณและมวลชนนกหวีด เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยสันติ หรือเป็นการทำลายสันติสุขเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรงกันแน่ ข้อนี้เราไม่อาจกล่าวหากันได้อย่างตรงไปตรงมาง่ายๆ แต่น่าสงสัยว่า หากไม่เกิดความรุนแรงขึ้นมาแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในขณะนี้ตามข้อเรียกร้องของนายสุเทพและพวกได้อย่างไร หากสันติวิธีที่กระทำไปเพื่อหวังผลทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม ด้วยการกดดันยั่วยุจนทำให้ฝ่ายรัฐจำต้องใช้ความรุนแรงแล้ว จะยังเรียกว่าสันติวิธีได้หรือไม่ ซ้ำร้าย อาจารย์ก็น่าจะทราบดีว่า นายสุเทพและพรรคพวกพยายามเรียกร้องให้ทหารออกมาใช้กำลังรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้แล้วเรายังจะเรียกการต่อสู้นี้ว่าสันติวิธีได้อีกหรือ

สรุปแล้ว อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ เมื่ออ่านข้อเขียนอาจารย์จนจบ ผมเข้าใจได้ไม่ยากว่าสันติวิธีไม่ได้เป็นเพียงวิธีการ แต่จะสันติวิธีจะต้องเป็นทั้งวิธีการ เป้าหมาย และหลักการทางการเมืองของขบวนการอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากไปพร้อมกันตั้งแต่เร่ิมแรก แต่การใช้วิธีการคล้ายสันติวิธี โดยผู้นิยมความรุนแรง เพื่ออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย นอกระบอบประชาธิปไตย จนเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารโดยการใช้กำลังรุนแรง จะถือว่าเป็นสันติวิธีตั้งแต่แรกจนถึงขณะนี้ด้วยหรือครับ 

ด้วยความนับถือ 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 การที่ประธานรัฐสภาปัดข้อเรียกร้องของประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ที่นำโดยคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ด้านหนึ่งนับเป็นความขลาดเขลาของประธานรัฐสภา ด้านหนึ่งสะท้อนความขลาดเขลาของพรรครัฐบาลที่บอกปัดข้อเสนอนี้มาตั้งแต่ ครก.112 เริ่มรณรงค์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่า “เหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะ” ในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี