Skip to main content

มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม

ว่าแล้วจะหาว่าคุย ความหนาวแบบเกียวโตขณะนี้น่ะหรือ ที่วิสคอนซินน่ะแค่ฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูใบไม้ผลิเท่านั้นเอง ที่วิสคอนซิน บางปีตอนฤดูหนาว หนาวเหน็บมาก กระทั่งเมื่อเริ่มฤดูใบไม้ผลิ วันไหนอุณหภูมิแตะสัก 40 ฟาเรนไฮต์ คือสัก 1-2 เซลเซียส พวกสาวๆ เธอก็นุ่งสั้น บางคนเว่อร์ขนาดนุ่งบิกินี่มาอาบแดดกันทีเดียว

เครื่องกันหนาวที่วิเศษอย่างหนึ่งของเกียวโตคือเสื้อ heattech เขาคุยว่าเป็น Japan Technology ผมก็ไปซื้อมา ไม่ได้แพงบ้าบออะไร เสื้อตัวละสามร้อยบาท กางเกงตัวละสามร้อยบาท ใส่แบบแนบเนื้อทั้งล่างและบน แล้วใส่เสื้อสเว็ตเตอร์ทับ แล้วเสื้อแจ๊คเก็ตดีๆ (พาเสื้อขนเป็ดที่เขาว่าวิธีเอาขนมานั้นทรมาณเป็ดนักหนานั่นแหละมาหนึ่งตัว ไม่ได้แพงมากมาย ซื้อตอนเขาลดราคา) นุ่งยีนส์ธรรมดา รองเท้าก็แบบใส่ที่เมืองไทย ใส่ถุงมือหน่อย ใส่หมวกหน่อย เอาผ้าพันคอหนาๆ พันคอสักรอบนึง แค่นี้ก็เดินเล่นในเกียวโตขณะนี้ได้อย่างสบายอารมณ์แล้ว

ความรู้เรื่องการแต่งตัวหน้าหนาวส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้ชีวิตที่วิสคอนซิน ฝรั่งเขาว่า ต้องใส่ชั้นในแนบเนื้อเพื่อรักษาความร้อนเอาไว้ในตัว การใส่หมวกจะช่วยเก็บความร้อนของร่างกายได้ด้วย เพราะเขาว่าความร้อนจะระบายออกทางหัว ถุงมือต้องมี เพราะอาจโดนฟรอสไบท์ หรือนำ้แข็งกัดเอาได้ คือหมายถึงมือมันจะแข็งน่ะ หากหนาวมากๆ อาจต้องหาอะไรมาปิดหู ไม่งั้นหูจะแข็งได้ บางทีต้องใส่หมวกคลุมหัวที่ปิดหูได้ด้วย แบบที่พวกแร็บเตอร์ใส่น่ะ (เคยเห็นเด็กไทยใส่ที่แบงค์ค่อกแล้วจะบ้าตาย ไม่ร้อนตายรึไงครับขุ่นหนู)

แต่ที่ลำบากสำหรับผมคือ ชาวเกียวโตบ้าแฟชั่น ช่างแต่งตัว พวกเขาแต่งตัวกันสวยงามกันทุกฤดูกาล ส่วนผมน่ะ ประสบการณ์ความหนาวก็มาจากวิสคอนซิน เมืองบ้านนอกที่ผู้คนชอบแต่งตัวราวกับจะไปล่ากวางตลอดเวลา (ที่นั่นมีฤดูล่ากวางกับล่าไก่งวงจริงๆ เพราะมันเยอะ เขาให้นักล่าซื้อใบอนุญาตล่าสัตว์ ล่ากันตอนฤดูใบไม้ร่วง เดือนพฤศจิกายน แล้วเอามาทำอาหารกินกันตอน Thanksgiving) 

ตอนอยู่วิสคอนซิน เงินทองไม่ค่อยมีใช้ ต้องประหยัดขนาดไปหาซื้อเสื้อผ้ามือสองใส่ เจออะไรพอใส่ได้กันหนาวก็ซื้อมา ไม่ได้สนใจแฟชั่นอะไร เรียกว่าแต่งตัวตกยุคพ้นสมัยเสียยิ่งกว่าคนวิสคอซินเสียอีก เคยมีบางทีที่ไปสัมมนาวิชาการที่เมืองใหญ่ๆ อย่างชิคาโก ชาววิสคอนซิน ก็พวกเพื่อนๆ ร่วมชั้นไปกันหลายๆ คนนั่นแหละ เดินในชิคาโกแล้วอายเขาแทบแทรกหิมะหนี สีสันแจ๊คเก็ตชาววิสคอนซินนี่มันบ้านน้อกบ้านนอก

ยังอยู่หนาวอีกหลายวัน เอาไว้หากมีโอกาสฝ่าหนาวไปเยี่ยมชมที่ไหนที่น่าสนใจจะมาทยอยเล่าให้ฟังครับ (วันนี้เพิ่งไปพิพิธภัณฑ์มังกะมา เอาไว้ค่อยเล่า)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี