Skip to main content

มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม

ว่าแล้วจะหาว่าคุย ความหนาวแบบเกียวโตขณะนี้น่ะหรือ ที่วิสคอนซินน่ะแค่ฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูใบไม้ผลิเท่านั้นเอง ที่วิสคอนซิน บางปีตอนฤดูหนาว หนาวเหน็บมาก กระทั่งเมื่อเริ่มฤดูใบไม้ผลิ วันไหนอุณหภูมิแตะสัก 40 ฟาเรนไฮต์ คือสัก 1-2 เซลเซียส พวกสาวๆ เธอก็นุ่งสั้น บางคนเว่อร์ขนาดนุ่งบิกินี่มาอาบแดดกันทีเดียว

เครื่องกันหนาวที่วิเศษอย่างหนึ่งของเกียวโตคือเสื้อ heattech เขาคุยว่าเป็น Japan Technology ผมก็ไปซื้อมา ไม่ได้แพงบ้าบออะไร เสื้อตัวละสามร้อยบาท กางเกงตัวละสามร้อยบาท ใส่แบบแนบเนื้อทั้งล่างและบน แล้วใส่เสื้อสเว็ตเตอร์ทับ แล้วเสื้อแจ๊คเก็ตดีๆ (พาเสื้อขนเป็ดที่เขาว่าวิธีเอาขนมานั้นทรมาณเป็ดนักหนานั่นแหละมาหนึ่งตัว ไม่ได้แพงมากมาย ซื้อตอนเขาลดราคา) นุ่งยีนส์ธรรมดา รองเท้าก็แบบใส่ที่เมืองไทย ใส่ถุงมือหน่อย ใส่หมวกหน่อย เอาผ้าพันคอหนาๆ พันคอสักรอบนึง แค่นี้ก็เดินเล่นในเกียวโตขณะนี้ได้อย่างสบายอารมณ์แล้ว

ความรู้เรื่องการแต่งตัวหน้าหนาวส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้ชีวิตที่วิสคอนซิน ฝรั่งเขาว่า ต้องใส่ชั้นในแนบเนื้อเพื่อรักษาความร้อนเอาไว้ในตัว การใส่หมวกจะช่วยเก็บความร้อนของร่างกายได้ด้วย เพราะเขาว่าความร้อนจะระบายออกทางหัว ถุงมือต้องมี เพราะอาจโดนฟรอสไบท์ หรือนำ้แข็งกัดเอาได้ คือหมายถึงมือมันจะแข็งน่ะ หากหนาวมากๆ อาจต้องหาอะไรมาปิดหู ไม่งั้นหูจะแข็งได้ บางทีต้องใส่หมวกคลุมหัวที่ปิดหูได้ด้วย แบบที่พวกแร็บเตอร์ใส่น่ะ (เคยเห็นเด็กไทยใส่ที่แบงค์ค่อกแล้วจะบ้าตาย ไม่ร้อนตายรึไงครับขุ่นหนู)

แต่ที่ลำบากสำหรับผมคือ ชาวเกียวโตบ้าแฟชั่น ช่างแต่งตัว พวกเขาแต่งตัวกันสวยงามกันทุกฤดูกาล ส่วนผมน่ะ ประสบการณ์ความหนาวก็มาจากวิสคอนซิน เมืองบ้านนอกที่ผู้คนชอบแต่งตัวราวกับจะไปล่ากวางตลอดเวลา (ที่นั่นมีฤดูล่ากวางกับล่าไก่งวงจริงๆ เพราะมันเยอะ เขาให้นักล่าซื้อใบอนุญาตล่าสัตว์ ล่ากันตอนฤดูใบไม้ร่วง เดือนพฤศจิกายน แล้วเอามาทำอาหารกินกันตอน Thanksgiving) 

ตอนอยู่วิสคอนซิน เงินทองไม่ค่อยมีใช้ ต้องประหยัดขนาดไปหาซื้อเสื้อผ้ามือสองใส่ เจออะไรพอใส่ได้กันหนาวก็ซื้อมา ไม่ได้สนใจแฟชั่นอะไร เรียกว่าแต่งตัวตกยุคพ้นสมัยเสียยิ่งกว่าคนวิสคอซินเสียอีก เคยมีบางทีที่ไปสัมมนาวิชาการที่เมืองใหญ่ๆ อย่างชิคาโก ชาววิสคอนซิน ก็พวกเพื่อนๆ ร่วมชั้นไปกันหลายๆ คนนั่นแหละ เดินในชิคาโกแล้วอายเขาแทบแทรกหิมะหนี สีสันแจ๊คเก็ตชาววิสคอนซินนี่มันบ้านน้อกบ้านนอก

ยังอยู่หนาวอีกหลายวัน เอาไว้หากมีโอกาสฝ่าหนาวไปเยี่ยมชมที่ไหนที่น่าสนใจจะมาทยอยเล่าให้ฟังครับ (วันนี้เพิ่งไปพิพิธภัณฑ์มังกะมา เอาไว้ค่อยเล่า)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง