Skip to main content

"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"

 นั่นเป็นคำถามที่เพื่อนนักมานุษยวิทยาจากสิงค์โปรที่ไปทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นถาม เมื่อสนทนากันในร้านโดนัทที่เกียวโต เรื่องความพยายามทำลายระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพฯ และบรรดาปัญญาชนชั้นนำของไทย

ผมย้อนว่า "ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทยนะที่เป็นอย่างนี้ ก็คนที่ได้รับการศึกษาดีๆ ทั่วโลกน่ะ ก็มีจำนวนมากที่ทำแบบนี้ แล้วยิ่งกว่านั้น อย่าว่าแต่ครูบาอาจารย์ตัวเล็กๆ อย่างเราสองคนเลย พวกครูบาอาจารย์ใหญ่ๆ ทั้งนั้น ในไทยน่ะ ที่ส่งเสริมการล้มล้างประชาธิปไตย" 

เพื่อนคนนี้ย้อนกลับมาว่า "ก็ใช่ ประเด็นคือ ระบบการศึกษาน่ะ ช่วยอะไรโลกได้บ้าง ไม่ใช่คนที่จบมหาวิทยาลัยดังๆ ในโลกนี้หรอกหรือ ที่ฆ่าแกงคนอื่นได้ง่ายๆ ไม่ใช่พวกที่ได้รับการศึกษาดีๆ ในประเทศพัฒนาแล้วหรอกหรือ ที่ทำร้ายคนทั่วโลก ระบบการศึกษาทั้งหมดที่เราสองคนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยน่ะ ต้องรับผิดชอบด้วย" 

"จะให้รับผิดชอบอย่างไรล่ะ" ผมถามย้อน เพื่อนตอบว่า "ก็ลองนึกดูสิ ว่าบรรดาลูกศิษย์ที่ผ่านชั้นเรียนเราไป พวกนั้นไปทำอะไร เข้าร่วมขบวนการล้มล้างประชาธิปไตยหรือเปล่า มหาวิทยาลัยสอนอะไรเขาบ้าง" ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร จำต้องฟังเพื่อนเทศนาต่อ 

"ถึงที่สุด เราต้องลองละทิ้งการพยายามอธิบายสิ่งต่างๆ ละวางการพยายามครอบงำคำบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาของผู้คนเสียบ้าง แล้วเปิดใจ เปิดหู ฟังคำบอกเล่าของผู้คน ฟังเรื่องราวที่กระจัดกระจายของผู้คนทั่วๆ ไป ที่แม้จะไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็อาจมีจุดร่วมกันบางอย่างที่ทำให้พวกเขายอมรับกันได้ แม้จะเพียงน้อยนิด บางทีทางออกจากวิกฤตจะอยู่ที่นั่่น" 

ผมเริ่มเห็นด้วย "ใช่แล้ว ส่วนมาก คนที่มีข้อเสนอสุดโต่งน่ะ ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ก็เป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่มักได้รับความสนใจจากสื่อ แต่คนทั่วไปน่ะ เสียงของเขากระจัดกระจายจนเบาบาง ไม่มีใครได้ยิน"

เพื่อนคนนี้มีความคิดแปลกใหม่เสมอ มีข้อเสนอท้าทายเสมอ อีกคำถามหนึ่งที่เขาถามคือ "ลองถามตัวเองสิ ว่าเมื่อยี่สิบปีก่อน ตอนที่นายยังไม่ได้ทำงานวิชาการน่ะ นายคิดอย่างไรกับประชาธิปไตย คิดกับการเลือกตั้งอย่างไร แล้วขณะนี้ ถ้าปลดการวิเคราะห์คนอื่นออกไป แล้วตอบจากใจตนเองล่ะ จะตอบว่ายังไง" 

ผมมีคำตอบในใจที่สามารถจะตอบดังๆ ได้ในร้านโดนัทในประเทศญี่ปุ่น แต่หากเพียงตอบเงียบๆ ในพื้นที่เสมือนจริงซ้อนเขตอำนาจรัฐไทยอยู่ ก็คงอายุสั้นแน่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด