Skip to main content

"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"

 นั่นเป็นคำถามที่เพื่อนนักมานุษยวิทยาจากสิงค์โปรที่ไปทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นถาม เมื่อสนทนากันในร้านโดนัทที่เกียวโต เรื่องความพยายามทำลายระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพฯ และบรรดาปัญญาชนชั้นนำของไทย

ผมย้อนว่า "ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทยนะที่เป็นอย่างนี้ ก็คนที่ได้รับการศึกษาดีๆ ทั่วโลกน่ะ ก็มีจำนวนมากที่ทำแบบนี้ แล้วยิ่งกว่านั้น อย่าว่าแต่ครูบาอาจารย์ตัวเล็กๆ อย่างเราสองคนเลย พวกครูบาอาจารย์ใหญ่ๆ ทั้งนั้น ในไทยน่ะ ที่ส่งเสริมการล้มล้างประชาธิปไตย" 

เพื่อนคนนี้ย้อนกลับมาว่า "ก็ใช่ ประเด็นคือ ระบบการศึกษาน่ะ ช่วยอะไรโลกได้บ้าง ไม่ใช่คนที่จบมหาวิทยาลัยดังๆ ในโลกนี้หรอกหรือ ที่ฆ่าแกงคนอื่นได้ง่ายๆ ไม่ใช่พวกที่ได้รับการศึกษาดีๆ ในประเทศพัฒนาแล้วหรอกหรือ ที่ทำร้ายคนทั่วโลก ระบบการศึกษาทั้งหมดที่เราสองคนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยน่ะ ต้องรับผิดชอบด้วย" 

"จะให้รับผิดชอบอย่างไรล่ะ" ผมถามย้อน เพื่อนตอบว่า "ก็ลองนึกดูสิ ว่าบรรดาลูกศิษย์ที่ผ่านชั้นเรียนเราไป พวกนั้นไปทำอะไร เข้าร่วมขบวนการล้มล้างประชาธิปไตยหรือเปล่า มหาวิทยาลัยสอนอะไรเขาบ้าง" ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร จำต้องฟังเพื่อนเทศนาต่อ 

"ถึงที่สุด เราต้องลองละทิ้งการพยายามอธิบายสิ่งต่างๆ ละวางการพยายามครอบงำคำบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาของผู้คนเสียบ้าง แล้วเปิดใจ เปิดหู ฟังคำบอกเล่าของผู้คน ฟังเรื่องราวที่กระจัดกระจายของผู้คนทั่วๆ ไป ที่แม้จะไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็อาจมีจุดร่วมกันบางอย่างที่ทำให้พวกเขายอมรับกันได้ แม้จะเพียงน้อยนิด บางทีทางออกจากวิกฤตจะอยู่ที่นั่่น" 

ผมเริ่มเห็นด้วย "ใช่แล้ว ส่วนมาก คนที่มีข้อเสนอสุดโต่งน่ะ ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ก็เป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่มักได้รับความสนใจจากสื่อ แต่คนทั่วไปน่ะ เสียงของเขากระจัดกระจายจนเบาบาง ไม่มีใครได้ยิน"

เพื่อนคนนี้มีความคิดแปลกใหม่เสมอ มีข้อเสนอท้าทายเสมอ อีกคำถามหนึ่งที่เขาถามคือ "ลองถามตัวเองสิ ว่าเมื่อยี่สิบปีก่อน ตอนที่นายยังไม่ได้ทำงานวิชาการน่ะ นายคิดอย่างไรกับประชาธิปไตย คิดกับการเลือกตั้งอย่างไร แล้วขณะนี้ ถ้าปลดการวิเคราะห์คนอื่นออกไป แล้วตอบจากใจตนเองล่ะ จะตอบว่ายังไง" 

ผมมีคำตอบในใจที่สามารถจะตอบดังๆ ได้ในร้านโดนัทในประเทศญี่ปุ่น แต่หากเพียงตอบเงียบๆ ในพื้นที่เสมือนจริงซ้อนเขตอำนาจรัฐไทยอยู่ ก็คงอายุสั้นแน่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้