Skip to main content
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน 

 
วันที่เสนอบทความตนเเอง ผมพูดถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการวิจัยโครงการ "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เป็นการร่วมเสนอผลการวิจัยของเพื่อนนักวิชาการในทีมวิจัย ผมเองดึงประเด็น "การขายเสียงเลือกตั้ง" ไปนำเสนอว่าการขายเสียงเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองของผู้ลงคะแนนเสียง อีกห้องหนึ่งในวันสุดท้ายผมร่วมวงเสวนาเพื่อระลึกถึงการจากไปของ อาจารย์ "พัฒนา กิติอาษา" ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีกลายในขณะเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
 
อีกห้องหนึ่งในวันที่สอง เป็นวงเสวนาเรื่อง "การปฏิรูป" จัดโดยอาจารย์คริส เบเกอร์และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้นำเสนอแต่ละคนล้วนมีมุมวิพากษ์การปฏิรูปของตนเอง ตั้งแต่ การปฏิรูปที่เสนอจากคนข้างล่างจะเป็นอย่างไร ก่อนปฏิรูปอะไรปฎิรูปตนเองอก่อนดีไหม ไปจนถึง ไม่ต้องปฏิรูปอะไรหรอกเพราะเสียเงินไปหลายร้อยล้านแล้วกับการทำเค้าโครงการปฏิรูป เลือกตั้งดีกว่า
 
ที่อยากกล่าวถึงคือทัศนะขององค์ปาฐกบางคน คืออาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลซึ่งปาฐกถาคนแรก และอาจารย์เครก เรย์โนลด์ส (Craig Reynolds) ซึ่งปาฐกถาเป็นคนสุดท้ายก่อนปิดงาน ทั้งสองคนได้แสดงทัศนะสอดคล้องกันถึงความเป็นวงวิชาการใต้กะลาของไทยศึกษาในประเทศไทย
 
อาจารย์ธงชัยตั้งประเด็นว่า ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากไทยศึกษาในต่างประเทศ เนื่องจากมันเติบโตขึ้นมาใน ecology of scholarship ที่แตกต่างกัน นิเวศวิทยาทางวิชาการ (แกว่าเป็นคำยืมจากเบนเนดิค แอนเดอร์สัน) ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ไทยศึกษาในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในโครงครอบของ colonial orientalism (อาจแปลได้ว่า บูรพคดีนิยมใต้อาณานิคม) และ Cold War (สงครามเย็น) ดังที่ไทยศึกษาของชาวตะวันตกเป็น หากแต่เป็นความรู้ที่สร้าง "ตัวตนไทย" (Thai-self) ขึ้นมา* (ผมแก้ไขความเข้าใจผิดส่วนนี้จากที่อาจารย์ธงชัยแย้งมา)
 
อาจารย์ธงชัยพูดถึง "ตัวตนไทย" ว่าสร้างขึ้นมาจากการแยกตนเองออกจากผู้อื่น ผ่านการจินตนาการเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและประเทศเพื่อนบ้าน จินตนาการเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและชนกลุ่มน้อยแบบไทยๆ จึงสร้างตัวตนไทยขึ้นมาพร้อมๆ กับที่ความรู้ไทยสร้างจินตภาพชนกลุ่มน้อยและจินตภาพเพื่อนบ้านขึ้นมา เช่น เพื่อนบ้านบางประเทศเป็น "เมืองน้อง" ของ "พี่ไทย" ตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นศัตรูตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นผู้หักหลังตลอดกาล ส่วนชนกลุ่มน้อยก็ถูกจัดลงไปในมาตรวัดความเจริญ (scale of civilization) ที่ "คนไทย" อยู่สูงที่สุดรองจากฝรั่ง
 
อาจารย์ธงชัยสรุปว่า ความเป็นไทยนั้น อยู่ในระเบียบอันเหลื่อมล้ำ แต่ก็มีความกลมกลืนเป็นเอกภาพ ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นอยู่ใต้การครอบงำของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความรักเจ้าอย่างล้นเหลือที่พัฒนามาสัก 40 ปีนี้ แต่ก็ยังมีวิชาการแนววิพากษ์ที่กำลังเติบโตขึ้นมา
 
ส่วนอาจารย์เครก (ขอเรียกแบบไทยๆ) สรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ด้วยการเท้าความไปไกลถึงการประชุมไทยศึกษาครั้งแรก แล้วเปรียบเทียบแต่ละครั้งว่ามีลักษณะเด่นอย่างไร ที่น่าสนใจคือ การประชุมไทยศึกษาไม่ได้เกิดจากความสนใจเรื่องประเทศไทยมาก่อน แต่เป็นความสนใจเรื่อง "คนไท" หรือคนที่พูด "ภาษาไท" สาขาต่างๆ และเรียกตนเองว่า "ไท" ทั้งในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ไทยศึกษาครั้งแรกจึงประชุมกันที่ประเทศอินเดีย จากนั้นก็ค่อยๆ กลายเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยในภายหลัง
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนหลายๆ เวทีในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ บางเวทีน่าผิดหวังทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ และกลายเป็นเวทีที่มีแต่ผู้ชายมาพูดเรื่องวิชาการแบบไม่เป็นแก่นสารนัก การประชุมครั้งนี้แทบไม่มีหัวข้อเรื่องประวัติศาสตร์ตรงๆ เลย *แต่ประวัติศาสตร์ได้แทรกเข้าไปในส่วนต่างๆ ของผลงานที่ถูกนำมาเสนอในประเด็นอื่นๆ มากมาย* (ข้อความนี้เติมเข้ามาใหม่) *ระยะแรกของการประชุมไทยศึกษานานาชาติ แทบไม่มีเรื่องดนตรีและเรื่องเพศเลย* (ข้อความนี้แก้ไข) ส่วนที่ขาดแคลนคือการเชื่อมโยงไทยศึกษาในแวดวงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์กับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนการศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ว่า เสมือนว่าทุกคนพยายามเป็น "ด้วงมะพร้าว" (แกใช้คำนี้เอง พูดเป็นภาษาไทยเลย) คือเหมือนทุกคนพยายามเป็นแมลงตัวเล็กที่กัดกินไส้ในจนสามารถโค่นต้นมีพร้าวได้ ที่จริงในห้องหนึ่งที่ผมเข้าไปร่วมฟังด้วย อาจารย์เครกวิจารณ์นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยกระแสหลักคนหนึ่งว่า "คุณกำลังเสนอซ้ำกับที่ธงชัยเสนอ ทุกวันนี้ธงชัยกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว มีอะไรใหม่กว่าธงชัยไหม" (คงทราบกันดีนะครับว่า ธงชัยเป็นลูกศิษย์เครกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์)
 
สุดท้าย อาจารย์เครกสรุปว่าไทยศึกษาอยู่ในกะลา ในความหมายที่แกแปลจากภาษาอังกฤษว่า provincial (จะเรียกว่า "บ้านนอก" ก็คงไม่ผิดนัก) ที่สำคัญคือ provincial นี้เป็น provincial แบบที่คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วอาจารย์เครกก็เฉลยเหตุที่ยกเอาภาพโลโกของ สกว. มาเป็นฉากหลังตลอดการบรรยายเกือบหนึ่งชั่วโมงว่า โลโก สกว. บอกเล่า Thai provincialism ได้ดี เพราะมีรูปแผนที่โลกซึ่งไทยไทยอยู่ตรงกลาง แผนที่นี้ไม่มีเส้นกั้นพรมแดน แกสรุปว่า เหมือนแผนที่นี้กำลังจะบอกว่า "We [the Thai] are at the center of the world."
 
ที่จริงกะลาของวิชาการไทยมีหนากว่านั้นและเกิดจากเงื่อนไขที่อาจจะไม่ต้องวิเคราะห์มากมายเท่านั้นก็ได้ ลองนึกดูว่ามีนักวิชาการไทยสักกี่คนที่สนใจการประชุมไทยศึกษา ก็มีแต่เฉพาะนักวิชาการรุ่นเยาว์ที่ตื่นเต้นกับความรู้ความคิดแปลกใหม่และอยากทดลองเสนอแนวคิดตนกับชาวโลก มีความจำเป็นไหมที่นักวิชาการไทยจะต้องไปร่วมประชุมไทยศึกษานานาชาติไม่ว่าจะที่จัดในไทยหรือในต่างประเทศ ไม่จำเป็นเลย
 
ที่เป็นอย่างนี้เพราะกลไกกำกับการทำงานวิชาการของไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมาไม่ได้ต้องการให้นักวิชาการไทยเป็นนักวิชาการระดับโลก ก็แค่คุณทำงานพิมพ์บทความ เขียนหนังสือเป็นภาษาไทย ดัดแปลงตำราฝรั่งมาทำเป็นตำราตนเองในภาษาไทย แค่นี้คุณก็จะได้ตำแหน่งทางวิชาการใหญ่โตแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องกระเสือกกระสนไปเขียนงานให้ฝรั่งอ่านให้ฝรั่งวิจารณ์เลย แล้วอย่างนี้ทำไมจะไม่ทำให้วงการไทยศึกษาดักดานอยู่แต่ในกะลาเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด