Skip to main content
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน 

 
วันที่เสนอบทความตนเเอง ผมพูดถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการวิจัยโครงการ "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เป็นการร่วมเสนอผลการวิจัยของเพื่อนนักวิชาการในทีมวิจัย ผมเองดึงประเด็น "การขายเสียงเลือกตั้ง" ไปนำเสนอว่าการขายเสียงเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองของผู้ลงคะแนนเสียง อีกห้องหนึ่งในวันสุดท้ายผมร่วมวงเสวนาเพื่อระลึกถึงการจากไปของ อาจารย์ "พัฒนา กิติอาษา" ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีกลายในขณะเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
 
อีกห้องหนึ่งในวันที่สอง เป็นวงเสวนาเรื่อง "การปฏิรูป" จัดโดยอาจารย์คริส เบเกอร์และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้นำเสนอแต่ละคนล้วนมีมุมวิพากษ์การปฏิรูปของตนเอง ตั้งแต่ การปฏิรูปที่เสนอจากคนข้างล่างจะเป็นอย่างไร ก่อนปฏิรูปอะไรปฎิรูปตนเองอก่อนดีไหม ไปจนถึง ไม่ต้องปฏิรูปอะไรหรอกเพราะเสียเงินไปหลายร้อยล้านแล้วกับการทำเค้าโครงการปฏิรูป เลือกตั้งดีกว่า
 
ที่อยากกล่าวถึงคือทัศนะขององค์ปาฐกบางคน คืออาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลซึ่งปาฐกถาคนแรก และอาจารย์เครก เรย์โนลด์ส (Craig Reynolds) ซึ่งปาฐกถาเป็นคนสุดท้ายก่อนปิดงาน ทั้งสองคนได้แสดงทัศนะสอดคล้องกันถึงความเป็นวงวิชาการใต้กะลาของไทยศึกษาในประเทศไทย
 
อาจารย์ธงชัยตั้งประเด็นว่า ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากไทยศึกษาในต่างประเทศ เนื่องจากมันเติบโตขึ้นมาใน ecology of scholarship ที่แตกต่างกัน นิเวศวิทยาทางวิชาการ (แกว่าเป็นคำยืมจากเบนเนดิค แอนเดอร์สัน) ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ไทยศึกษาในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในโครงครอบของ colonial orientalism (อาจแปลได้ว่า บูรพคดีนิยมใต้อาณานิคม) และ Cold War (สงครามเย็น) ดังที่ไทยศึกษาของชาวตะวันตกเป็น หากแต่เป็นความรู้ที่สร้าง "ตัวตนไทย" (Thai-self) ขึ้นมา* (ผมแก้ไขความเข้าใจผิดส่วนนี้จากที่อาจารย์ธงชัยแย้งมา)
 
อาจารย์ธงชัยพูดถึง "ตัวตนไทย" ว่าสร้างขึ้นมาจากการแยกตนเองออกจากผู้อื่น ผ่านการจินตนาการเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและประเทศเพื่อนบ้าน จินตนาการเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและชนกลุ่มน้อยแบบไทยๆ จึงสร้างตัวตนไทยขึ้นมาพร้อมๆ กับที่ความรู้ไทยสร้างจินตภาพชนกลุ่มน้อยและจินตภาพเพื่อนบ้านขึ้นมา เช่น เพื่อนบ้านบางประเทศเป็น "เมืองน้อง" ของ "พี่ไทย" ตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นศัตรูตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นผู้หักหลังตลอดกาล ส่วนชนกลุ่มน้อยก็ถูกจัดลงไปในมาตรวัดความเจริญ (scale of civilization) ที่ "คนไทย" อยู่สูงที่สุดรองจากฝรั่ง
 
อาจารย์ธงชัยสรุปว่า ความเป็นไทยนั้น อยู่ในระเบียบอันเหลื่อมล้ำ แต่ก็มีความกลมกลืนเป็นเอกภาพ ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นอยู่ใต้การครอบงำของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความรักเจ้าอย่างล้นเหลือที่พัฒนามาสัก 40 ปีนี้ แต่ก็ยังมีวิชาการแนววิพากษ์ที่กำลังเติบโตขึ้นมา
 
ส่วนอาจารย์เครก (ขอเรียกแบบไทยๆ) สรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ด้วยการเท้าความไปไกลถึงการประชุมไทยศึกษาครั้งแรก แล้วเปรียบเทียบแต่ละครั้งว่ามีลักษณะเด่นอย่างไร ที่น่าสนใจคือ การประชุมไทยศึกษาไม่ได้เกิดจากความสนใจเรื่องประเทศไทยมาก่อน แต่เป็นความสนใจเรื่อง "คนไท" หรือคนที่พูด "ภาษาไท" สาขาต่างๆ และเรียกตนเองว่า "ไท" ทั้งในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ไทยศึกษาครั้งแรกจึงประชุมกันที่ประเทศอินเดีย จากนั้นก็ค่อยๆ กลายเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยในภายหลัง
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนหลายๆ เวทีในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ บางเวทีน่าผิดหวังทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ และกลายเป็นเวทีที่มีแต่ผู้ชายมาพูดเรื่องวิชาการแบบไม่เป็นแก่นสารนัก การประชุมครั้งนี้แทบไม่มีหัวข้อเรื่องประวัติศาสตร์ตรงๆ เลย *แต่ประวัติศาสตร์ได้แทรกเข้าไปในส่วนต่างๆ ของผลงานที่ถูกนำมาเสนอในประเด็นอื่นๆ มากมาย* (ข้อความนี้เติมเข้ามาใหม่) *ระยะแรกของการประชุมไทยศึกษานานาชาติ แทบไม่มีเรื่องดนตรีและเรื่องเพศเลย* (ข้อความนี้แก้ไข) ส่วนที่ขาดแคลนคือการเชื่อมโยงไทยศึกษาในแวดวงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์กับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนการศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ว่า เสมือนว่าทุกคนพยายามเป็น "ด้วงมะพร้าว" (แกใช้คำนี้เอง พูดเป็นภาษาไทยเลย) คือเหมือนทุกคนพยายามเป็นแมลงตัวเล็กที่กัดกินไส้ในจนสามารถโค่นต้นมีพร้าวได้ ที่จริงในห้องหนึ่งที่ผมเข้าไปร่วมฟังด้วย อาจารย์เครกวิจารณ์นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยกระแสหลักคนหนึ่งว่า "คุณกำลังเสนอซ้ำกับที่ธงชัยเสนอ ทุกวันนี้ธงชัยกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว มีอะไรใหม่กว่าธงชัยไหม" (คงทราบกันดีนะครับว่า ธงชัยเป็นลูกศิษย์เครกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์)
 
สุดท้าย อาจารย์เครกสรุปว่าไทยศึกษาอยู่ในกะลา ในความหมายที่แกแปลจากภาษาอังกฤษว่า provincial (จะเรียกว่า "บ้านนอก" ก็คงไม่ผิดนัก) ที่สำคัญคือ provincial นี้เป็น provincial แบบที่คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วอาจารย์เครกก็เฉลยเหตุที่ยกเอาภาพโลโกของ สกว. มาเป็นฉากหลังตลอดการบรรยายเกือบหนึ่งชั่วโมงว่า โลโก สกว. บอกเล่า Thai provincialism ได้ดี เพราะมีรูปแผนที่โลกซึ่งไทยไทยอยู่ตรงกลาง แผนที่นี้ไม่มีเส้นกั้นพรมแดน แกสรุปว่า เหมือนแผนที่นี้กำลังจะบอกว่า "We [the Thai] are at the center of the world."
 
ที่จริงกะลาของวิชาการไทยมีหนากว่านั้นและเกิดจากเงื่อนไขที่อาจจะไม่ต้องวิเคราะห์มากมายเท่านั้นก็ได้ ลองนึกดูว่ามีนักวิชาการไทยสักกี่คนที่สนใจการประชุมไทยศึกษา ก็มีแต่เฉพาะนักวิชาการรุ่นเยาว์ที่ตื่นเต้นกับความรู้ความคิดแปลกใหม่และอยากทดลองเสนอแนวคิดตนกับชาวโลก มีความจำเป็นไหมที่นักวิชาการไทยจะต้องไปร่วมประชุมไทยศึกษานานาชาติไม่ว่าจะที่จัดในไทยหรือในต่างประเทศ ไม่จำเป็นเลย
 
ที่เป็นอย่างนี้เพราะกลไกกำกับการทำงานวิชาการของไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมาไม่ได้ต้องการให้นักวิชาการไทยเป็นนักวิชาการระดับโลก ก็แค่คุณทำงานพิมพ์บทความ เขียนหนังสือเป็นภาษาไทย ดัดแปลงตำราฝรั่งมาทำเป็นตำราตนเองในภาษาไทย แค่นี้คุณก็จะได้ตำแหน่งทางวิชาการใหญ่โตแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องกระเสือกกระสนไปเขียนงานให้ฝรั่งอ่านให้ฝรั่งวิจารณ์เลย แล้วอย่างนี้ทำไมจะไม่ทำให้วงการไทยศึกษาดักดานอยู่แต่ในกะลาเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ