Skip to main content
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน 

 
วันที่เสนอบทความตนเเอง ผมพูดถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการวิจัยโครงการ "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เป็นการร่วมเสนอผลการวิจัยของเพื่อนนักวิชาการในทีมวิจัย ผมเองดึงประเด็น "การขายเสียงเลือกตั้ง" ไปนำเสนอว่าการขายเสียงเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองของผู้ลงคะแนนเสียง อีกห้องหนึ่งในวันสุดท้ายผมร่วมวงเสวนาเพื่อระลึกถึงการจากไปของ อาจารย์ "พัฒนา กิติอาษา" ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีกลายในขณะเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
 
อีกห้องหนึ่งในวันที่สอง เป็นวงเสวนาเรื่อง "การปฏิรูป" จัดโดยอาจารย์คริส เบเกอร์และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้นำเสนอแต่ละคนล้วนมีมุมวิพากษ์การปฏิรูปของตนเอง ตั้งแต่ การปฏิรูปที่เสนอจากคนข้างล่างจะเป็นอย่างไร ก่อนปฏิรูปอะไรปฎิรูปตนเองอก่อนดีไหม ไปจนถึง ไม่ต้องปฏิรูปอะไรหรอกเพราะเสียเงินไปหลายร้อยล้านแล้วกับการทำเค้าโครงการปฏิรูป เลือกตั้งดีกว่า
 
ที่อยากกล่าวถึงคือทัศนะขององค์ปาฐกบางคน คืออาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลซึ่งปาฐกถาคนแรก และอาจารย์เครก เรย์โนลด์ส (Craig Reynolds) ซึ่งปาฐกถาเป็นคนสุดท้ายก่อนปิดงาน ทั้งสองคนได้แสดงทัศนะสอดคล้องกันถึงความเป็นวงวิชาการใต้กะลาของไทยศึกษาในประเทศไทย
 
อาจารย์ธงชัยตั้งประเด็นว่า ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากไทยศึกษาในต่างประเทศ เนื่องจากมันเติบโตขึ้นมาใน ecology of scholarship ที่แตกต่างกัน นิเวศวิทยาทางวิชาการ (แกว่าเป็นคำยืมจากเบนเนดิค แอนเดอร์สัน) ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ไทยศึกษาในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในโครงครอบของ colonial orientalism (อาจแปลได้ว่า บูรพคดีนิยมใต้อาณานิคม) และ Cold War (สงครามเย็น) ดังที่ไทยศึกษาของชาวตะวันตกเป็น หากแต่เป็นความรู้ที่สร้าง "ตัวตนไทย" (Thai-self) ขึ้นมา* (ผมแก้ไขความเข้าใจผิดส่วนนี้จากที่อาจารย์ธงชัยแย้งมา)
 
อาจารย์ธงชัยพูดถึง "ตัวตนไทย" ว่าสร้างขึ้นมาจากการแยกตนเองออกจากผู้อื่น ผ่านการจินตนาการเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและประเทศเพื่อนบ้าน จินตนาการเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและชนกลุ่มน้อยแบบไทยๆ จึงสร้างตัวตนไทยขึ้นมาพร้อมๆ กับที่ความรู้ไทยสร้างจินตภาพชนกลุ่มน้อยและจินตภาพเพื่อนบ้านขึ้นมา เช่น เพื่อนบ้านบางประเทศเป็น "เมืองน้อง" ของ "พี่ไทย" ตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นศัตรูตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นผู้หักหลังตลอดกาล ส่วนชนกลุ่มน้อยก็ถูกจัดลงไปในมาตรวัดความเจริญ (scale of civilization) ที่ "คนไทย" อยู่สูงที่สุดรองจากฝรั่ง
 
อาจารย์ธงชัยสรุปว่า ความเป็นไทยนั้น อยู่ในระเบียบอันเหลื่อมล้ำ แต่ก็มีความกลมกลืนเป็นเอกภาพ ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นอยู่ใต้การครอบงำของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความรักเจ้าอย่างล้นเหลือที่พัฒนามาสัก 40 ปีนี้ แต่ก็ยังมีวิชาการแนววิพากษ์ที่กำลังเติบโตขึ้นมา
 
ส่วนอาจารย์เครก (ขอเรียกแบบไทยๆ) สรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ด้วยการเท้าความไปไกลถึงการประชุมไทยศึกษาครั้งแรก แล้วเปรียบเทียบแต่ละครั้งว่ามีลักษณะเด่นอย่างไร ที่น่าสนใจคือ การประชุมไทยศึกษาไม่ได้เกิดจากความสนใจเรื่องประเทศไทยมาก่อน แต่เป็นความสนใจเรื่อง "คนไท" หรือคนที่พูด "ภาษาไท" สาขาต่างๆ และเรียกตนเองว่า "ไท" ทั้งในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ไทยศึกษาครั้งแรกจึงประชุมกันที่ประเทศอินเดีย จากนั้นก็ค่อยๆ กลายเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยในภายหลัง
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนหลายๆ เวทีในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ บางเวทีน่าผิดหวังทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ และกลายเป็นเวทีที่มีแต่ผู้ชายมาพูดเรื่องวิชาการแบบไม่เป็นแก่นสารนัก การประชุมครั้งนี้แทบไม่มีหัวข้อเรื่องประวัติศาสตร์ตรงๆ เลย *แต่ประวัติศาสตร์ได้แทรกเข้าไปในส่วนต่างๆ ของผลงานที่ถูกนำมาเสนอในประเด็นอื่นๆ มากมาย* (ข้อความนี้เติมเข้ามาใหม่) *ระยะแรกของการประชุมไทยศึกษานานาชาติ แทบไม่มีเรื่องดนตรีและเรื่องเพศเลย* (ข้อความนี้แก้ไข) ส่วนที่ขาดแคลนคือการเชื่อมโยงไทยศึกษาในแวดวงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์กับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนการศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ว่า เสมือนว่าทุกคนพยายามเป็น "ด้วงมะพร้าว" (แกใช้คำนี้เอง พูดเป็นภาษาไทยเลย) คือเหมือนทุกคนพยายามเป็นแมลงตัวเล็กที่กัดกินไส้ในจนสามารถโค่นต้นมีพร้าวได้ ที่จริงในห้องหนึ่งที่ผมเข้าไปร่วมฟังด้วย อาจารย์เครกวิจารณ์นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยกระแสหลักคนหนึ่งว่า "คุณกำลังเสนอซ้ำกับที่ธงชัยเสนอ ทุกวันนี้ธงชัยกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว มีอะไรใหม่กว่าธงชัยไหม" (คงทราบกันดีนะครับว่า ธงชัยเป็นลูกศิษย์เครกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์)
 
สุดท้าย อาจารย์เครกสรุปว่าไทยศึกษาอยู่ในกะลา ในความหมายที่แกแปลจากภาษาอังกฤษว่า provincial (จะเรียกว่า "บ้านนอก" ก็คงไม่ผิดนัก) ที่สำคัญคือ provincial นี้เป็น provincial แบบที่คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วอาจารย์เครกก็เฉลยเหตุที่ยกเอาภาพโลโกของ สกว. มาเป็นฉากหลังตลอดการบรรยายเกือบหนึ่งชั่วโมงว่า โลโก สกว. บอกเล่า Thai provincialism ได้ดี เพราะมีรูปแผนที่โลกซึ่งไทยไทยอยู่ตรงกลาง แผนที่นี้ไม่มีเส้นกั้นพรมแดน แกสรุปว่า เหมือนแผนที่นี้กำลังจะบอกว่า "We [the Thai] are at the center of the world."
 
ที่จริงกะลาของวิชาการไทยมีหนากว่านั้นและเกิดจากเงื่อนไขที่อาจจะไม่ต้องวิเคราะห์มากมายเท่านั้นก็ได้ ลองนึกดูว่ามีนักวิชาการไทยสักกี่คนที่สนใจการประชุมไทยศึกษา ก็มีแต่เฉพาะนักวิชาการรุ่นเยาว์ที่ตื่นเต้นกับความรู้ความคิดแปลกใหม่และอยากทดลองเสนอแนวคิดตนกับชาวโลก มีความจำเป็นไหมที่นักวิชาการไทยจะต้องไปร่วมประชุมไทยศึกษานานาชาติไม่ว่าจะที่จัดในไทยหรือในต่างประเทศ ไม่จำเป็นเลย
 
ที่เป็นอย่างนี้เพราะกลไกกำกับการทำงานวิชาการของไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมาไม่ได้ต้องการให้นักวิชาการไทยเป็นนักวิชาการระดับโลก ก็แค่คุณทำงานพิมพ์บทความ เขียนหนังสือเป็นภาษาไทย ดัดแปลงตำราฝรั่งมาทำเป็นตำราตนเองในภาษาไทย แค่นี้คุณก็จะได้ตำแหน่งทางวิชาการใหญ่โตแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องกระเสือกกระสนไปเขียนงานให้ฝรั่งอ่านให้ฝรั่งวิจารณ์เลย แล้วอย่างนี้ทำไมจะไม่ทำให้วงการไทยศึกษาดักดานอยู่แต่ในกะลาเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี