Skip to main content
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน 

 
วันที่เสนอบทความตนเเอง ผมพูดถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการวิจัยโครงการ "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เป็นการร่วมเสนอผลการวิจัยของเพื่อนนักวิชาการในทีมวิจัย ผมเองดึงประเด็น "การขายเสียงเลือกตั้ง" ไปนำเสนอว่าการขายเสียงเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองของผู้ลงคะแนนเสียง อีกห้องหนึ่งในวันสุดท้ายผมร่วมวงเสวนาเพื่อระลึกถึงการจากไปของ อาจารย์ "พัฒนา กิติอาษา" ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีกลายในขณะเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
 
อีกห้องหนึ่งในวันที่สอง เป็นวงเสวนาเรื่อง "การปฏิรูป" จัดโดยอาจารย์คริส เบเกอร์และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้นำเสนอแต่ละคนล้วนมีมุมวิพากษ์การปฏิรูปของตนเอง ตั้งแต่ การปฏิรูปที่เสนอจากคนข้างล่างจะเป็นอย่างไร ก่อนปฏิรูปอะไรปฎิรูปตนเองอก่อนดีไหม ไปจนถึง ไม่ต้องปฏิรูปอะไรหรอกเพราะเสียเงินไปหลายร้อยล้านแล้วกับการทำเค้าโครงการปฏิรูป เลือกตั้งดีกว่า
 
ที่อยากกล่าวถึงคือทัศนะขององค์ปาฐกบางคน คืออาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลซึ่งปาฐกถาคนแรก และอาจารย์เครก เรย์โนลด์ส (Craig Reynolds) ซึ่งปาฐกถาเป็นคนสุดท้ายก่อนปิดงาน ทั้งสองคนได้แสดงทัศนะสอดคล้องกันถึงความเป็นวงวิชาการใต้กะลาของไทยศึกษาในประเทศไทย
 
อาจารย์ธงชัยตั้งประเด็นว่า ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากไทยศึกษาในต่างประเทศ เนื่องจากมันเติบโตขึ้นมาใน ecology of scholarship ที่แตกต่างกัน นิเวศวิทยาทางวิชาการ (แกว่าเป็นคำยืมจากเบนเนดิค แอนเดอร์สัน) ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ไทยศึกษาในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในโครงครอบของ colonial orientalism (อาจแปลได้ว่า บูรพคดีนิยมใต้อาณานิคม) และ Cold War (สงครามเย็น) ดังที่ไทยศึกษาของชาวตะวันตกเป็น หากแต่เป็นความรู้ที่สร้าง "ตัวตนไทย" (Thai-self) ขึ้นมา* (ผมแก้ไขความเข้าใจผิดส่วนนี้จากที่อาจารย์ธงชัยแย้งมา)
 
อาจารย์ธงชัยพูดถึง "ตัวตนไทย" ว่าสร้างขึ้นมาจากการแยกตนเองออกจากผู้อื่น ผ่านการจินตนาการเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและประเทศเพื่อนบ้าน จินตนาการเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและชนกลุ่มน้อยแบบไทยๆ จึงสร้างตัวตนไทยขึ้นมาพร้อมๆ กับที่ความรู้ไทยสร้างจินตภาพชนกลุ่มน้อยและจินตภาพเพื่อนบ้านขึ้นมา เช่น เพื่อนบ้านบางประเทศเป็น "เมืองน้อง" ของ "พี่ไทย" ตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นศัตรูตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นผู้หักหลังตลอดกาล ส่วนชนกลุ่มน้อยก็ถูกจัดลงไปในมาตรวัดความเจริญ (scale of civilization) ที่ "คนไทย" อยู่สูงที่สุดรองจากฝรั่ง
 
อาจารย์ธงชัยสรุปว่า ความเป็นไทยนั้น อยู่ในระเบียบอันเหลื่อมล้ำ แต่ก็มีความกลมกลืนเป็นเอกภาพ ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นอยู่ใต้การครอบงำของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความรักเจ้าอย่างล้นเหลือที่พัฒนามาสัก 40 ปีนี้ แต่ก็ยังมีวิชาการแนววิพากษ์ที่กำลังเติบโตขึ้นมา
 
ส่วนอาจารย์เครก (ขอเรียกแบบไทยๆ) สรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ด้วยการเท้าความไปไกลถึงการประชุมไทยศึกษาครั้งแรก แล้วเปรียบเทียบแต่ละครั้งว่ามีลักษณะเด่นอย่างไร ที่น่าสนใจคือ การประชุมไทยศึกษาไม่ได้เกิดจากความสนใจเรื่องประเทศไทยมาก่อน แต่เป็นความสนใจเรื่อง "คนไท" หรือคนที่พูด "ภาษาไท" สาขาต่างๆ และเรียกตนเองว่า "ไท" ทั้งในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ไทยศึกษาครั้งแรกจึงประชุมกันที่ประเทศอินเดีย จากนั้นก็ค่อยๆ กลายเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยในภายหลัง
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนหลายๆ เวทีในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ บางเวทีน่าผิดหวังทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ และกลายเป็นเวทีที่มีแต่ผู้ชายมาพูดเรื่องวิชาการแบบไม่เป็นแก่นสารนัก การประชุมครั้งนี้แทบไม่มีหัวข้อเรื่องประวัติศาสตร์ตรงๆ เลย *แต่ประวัติศาสตร์ได้แทรกเข้าไปในส่วนต่างๆ ของผลงานที่ถูกนำมาเสนอในประเด็นอื่นๆ มากมาย* (ข้อความนี้เติมเข้ามาใหม่) *ระยะแรกของการประชุมไทยศึกษานานาชาติ แทบไม่มีเรื่องดนตรีและเรื่องเพศเลย* (ข้อความนี้แก้ไข) ส่วนที่ขาดแคลนคือการเชื่อมโยงไทยศึกษาในแวดวงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์กับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนการศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ว่า เสมือนว่าทุกคนพยายามเป็น "ด้วงมะพร้าว" (แกใช้คำนี้เอง พูดเป็นภาษาไทยเลย) คือเหมือนทุกคนพยายามเป็นแมลงตัวเล็กที่กัดกินไส้ในจนสามารถโค่นต้นมีพร้าวได้ ที่จริงในห้องหนึ่งที่ผมเข้าไปร่วมฟังด้วย อาจารย์เครกวิจารณ์นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยกระแสหลักคนหนึ่งว่า "คุณกำลังเสนอซ้ำกับที่ธงชัยเสนอ ทุกวันนี้ธงชัยกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว มีอะไรใหม่กว่าธงชัยไหม" (คงทราบกันดีนะครับว่า ธงชัยเป็นลูกศิษย์เครกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์)
 
สุดท้าย อาจารย์เครกสรุปว่าไทยศึกษาอยู่ในกะลา ในความหมายที่แกแปลจากภาษาอังกฤษว่า provincial (จะเรียกว่า "บ้านนอก" ก็คงไม่ผิดนัก) ที่สำคัญคือ provincial นี้เป็น provincial แบบที่คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วอาจารย์เครกก็เฉลยเหตุที่ยกเอาภาพโลโกของ สกว. มาเป็นฉากหลังตลอดการบรรยายเกือบหนึ่งชั่วโมงว่า โลโก สกว. บอกเล่า Thai provincialism ได้ดี เพราะมีรูปแผนที่โลกซึ่งไทยไทยอยู่ตรงกลาง แผนที่นี้ไม่มีเส้นกั้นพรมแดน แกสรุปว่า เหมือนแผนที่นี้กำลังจะบอกว่า "We [the Thai] are at the center of the world."
 
ที่จริงกะลาของวิชาการไทยมีหนากว่านั้นและเกิดจากเงื่อนไขที่อาจจะไม่ต้องวิเคราะห์มากมายเท่านั้นก็ได้ ลองนึกดูว่ามีนักวิชาการไทยสักกี่คนที่สนใจการประชุมไทยศึกษา ก็มีแต่เฉพาะนักวิชาการรุ่นเยาว์ที่ตื่นเต้นกับความรู้ความคิดแปลกใหม่และอยากทดลองเสนอแนวคิดตนกับชาวโลก มีความจำเป็นไหมที่นักวิชาการไทยจะต้องไปร่วมประชุมไทยศึกษานานาชาติไม่ว่าจะที่จัดในไทยหรือในต่างประเทศ ไม่จำเป็นเลย
 
ที่เป็นอย่างนี้เพราะกลไกกำกับการทำงานวิชาการของไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมาไม่ได้ต้องการให้นักวิชาการไทยเป็นนักวิชาการระดับโลก ก็แค่คุณทำงานพิมพ์บทความ เขียนหนังสือเป็นภาษาไทย ดัดแปลงตำราฝรั่งมาทำเป็นตำราตนเองในภาษาไทย แค่นี้คุณก็จะได้ตำแหน่งทางวิชาการใหญ่โตแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องกระเสือกกระสนไปเขียนงานให้ฝรั่งอ่านให้ฝรั่งวิจารณ์เลย แล้วอย่างนี้ทำไมจะไม่ทำให้วงการไทยศึกษาดักดานอยู่แต่ในกะลาเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ