Skip to main content
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น

 
อันที่จริงข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแต่เลี่ยงบาลี เปลี่ยนจากการเรียกนายกฯ คนกลาง ไปเป็นรองนายกฯ คนกลาง จะเรียกว่านายกฯ หรือรองนายกฯ หรือรักษาการนายกฯ ก็นับว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาลทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ แล้วเขาจะมาทำอะไร ทำไมจะต้องมีรัฐบาลอยู่ต่อไป จะปฏิรูปอะไรในเมื่อสภาก็ไม่มีแล้ว จะเอาเทคโนแครทอะไรมาจากอำนาจไหน จะต่างอะไรกับที่ กปปส. และพรรคพวกเรียกว่า “สภาประชาชน” หรือเผลอๆ เรียกสภาประชาชนโดยพยายามดึงคนจากกลุ่มต่างๆ มาร่วมก็จะยังน่าฟังเสียกว่า
 
แล้วทำไมประชาชนจะต้องยอมรับรัฐบาลประหลาดนี้ ทำไมผมจะต้องยอมรับด้วยล่ะ ประชาชนอย่างผมมีสิทธิไหมที่จะบอกว่าไม่เอาคนนั้นคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีชั่วคราว พวกเขามีความชอบธรรมอะไรมาให้ประชาชนอย่างผมยอมรับ แค่ไม่เข้าข้างใครสม่ำเสมอ ไม่ด่างพร้อย บริหารเก่งน่ะเหรอ แค่นี้ก็มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นกลางแล้ว เพราะไม่จำเป็นว่าคุณสมบัติเหล่านี้จะอยู่ในใจคนทุกคน ผมจะเลือกหัวหน้ารัฐบาลที่หล่อพูดเก่งแต่บริหารไม่เอาไหนไม่ได้เหรอ ผมจะเลือกคนที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้าแต่อาจโกงบ้างไม่ได้เหรอ ผมจะเลือกคนสวยดูไม่ฉลาดแต่ตั้งใจทำงานไม่ได้เหรอ ผมเลือกเองไม่ได้เหรอ
 
ข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษากลุ่มนี้เองก็จึงไม่เป็นกลาง ระหว่างการเลือกตั้งกับการแต่งตั้ง ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ จะมีอะไรกลางได้อย่างไร แล้วทำไมจึงต้องเลี่ยงไม่ยอมรับการเลือกตั้งแต่ต้น หากเห็นว่าเรายังไม่ควรเดินหน้าเลือกตั้ง นักวิชาการกลุ่มนี้ควรชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งขณะมีปัญหาอย่างไร ควรเถียงกับงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งของไทยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่มีปัญหา แต่ผู้จัดการเลือกตั้งคือ กกต. และกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงขัดขวางการเลือกตั้งต่างหากที่เป็นปัญหา การซื้อเสียงก็มีส่วนน้อยต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง อีกทั้งการซื้อเสียง-ขายเสียงก็ซับซ้อนและไม่อาจชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้ ประเด็นเหล่านี้มีงานวิจัยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีข้อถกเถียงมาหักล้าง แล้วจะให้ปฏิรูปอะไร 
 
แต่หากนักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็ควรสนับสนุนให้ชัดเจน ไม่ใช่มาบ่ายเบี่ยงหาทางออกอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมนักวิชาการกลุ่มนี้จึงออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะซื้อเวลาไปทำไม ทำไมให้รีบๆ เลือกตั้ง จะได้มีรัฐบาลใหม่ที่ชอบธรรม จะได้เป็นการปฏิรูปที่ชอบธรรม ทำไมไม่เรียกร้องให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป ผมไม่เชื่อว่าพวกท่านเองก็มีวาระซ่อนเร้นอยากจะเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งกับเขาด้วย เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่สนับสนุนให้สังคมเดินหน้าไปอย่างปกติ
 
ในทางกลับกัน หากท่านเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป จะทำให้พวกท่านกลายเป็นคนไม่กลางหรืออย่างไร แล้วใครที่สนับสนุนการเลือกตั้งมีแต่ฝ่ายเพื่อไทยกับ นปช. หรืออย่างไร คนกลาง คนที่สนับสนุนพรรคอื่นๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการเลือกตั้งไม่มีหรือ การเลือกตั้งไม่เป็นกลางอย่างไร เพราะในท้ายที่สุด ในข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษา พวกท่านก็ต้องการให้มีการลงประชามติ ให้เลือกตั้ง แล้วทำไมจะต้องรอด้วยล่ะ ทำไมต้องยอมหักกฎเกณฑ์เพื่อเอาใจคนส่วนน้อยและย่ิงน้อยลงไปทุกวันจนแทบจะเหลือไม่กี่คนแล้วด้วยล่ะ หรือพวกเขาเหลือน้อยเกินไปก็จึงต้องมาหนุนกันหน่อย
 
ทำไมเราต้องระดมสรรพปัญญามาแก้ปัญหาคนดื้อที่เอาแต่ใจตัวเองไม่ยอมรับกฎกติกาล่ะ ทำไมเราจึงไม่ระดมสรรพปัญญาเพื่อพยายามทำให้สาธารณชนเห็นว่า การเดินบนเส้นทางของกฎกติกานั้นสำคัญอย่างไรล่ะ ทำไมเราจะต้องคิดหาหนทางออกจากเส้นทางปกติจนกระทั่งอาจนำเราไปสู่หุบเหวล่ะ ทำไมเราต้องเอาใจใส่กับคนที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการเมือง คนเสื่อมศีลธรรม คนไม่เคารพกฎหมาย ที่มาเรียกร้องการปฏิรูปล่ะ ทำไมเราไม่เห็นใจคนที่เขาไม่มีหนทางใดที่จะส่งเสียงนอกจากการใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งบ้างล่ะ
 
ประชาธิปไตยไทยออกนอกเส้นทางมากี่ครั้งแล้ว แต่ละครั้งกว่าจะกลับเข้ามาได้เราต้องเสียเลือดเนื้อไปเท่าไหร่ นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้ย่อมทราบและชอกช้ำมามากกว่าผม นักวิชาการรับผิดชอบต่อข้อเสนอของได้เพียงการเอาปี๊บปิดหน้า หรือปีนหายกลับเข้าไปบนหอคอยงาช้าง กอดทุนวิจัยก้อนใหญ่และรางวัลทางวิชาการมากมาย แล้วสักพักก็ลงมาโลดแล่นเสนอทางออกให้สังคมได้ใหม่ แต่ประชาชนนั้นต้องรับผิดชอบกับทางเลือกทางการเมืองด้วยเลือดเนื้อและความบอบช้ำของจิตวิญญาณพวกเขา
 
*http://www.isranews.org/isra-news/item/29371-รักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง-แต่ไม่ได้มาด้วย-มาตรา-7.html#.U3HijTGr8Hs.twitter

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี