Skip to main content


"Quân đội nhân dân” (กวนโด่ยเยินเซิน) ภาษาเวียดนาม แปลตามตัวว่า “กองทัพประชาชน” ผมคิดว่าน่าจะหมายความได้ทั้งว่ากองทัพเป็นของประชาชน และการที่กองทัพก็คือประชาชนและประชาชนก็คือกองทัพ

นี่ชวนให้ผมลองนั่งนึกเปรียบเทียบกองทัพของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดู แล้วก็คิดเรื่อยเปื่อยไปว่า จะสรุปได้หรือไม่ว่า หากจะมีกองทัพของประเทศไหนที่เรียกตนเองว่าเป็น “กองทัพประชาชน" ได้อย่างเต็มปากเต็มคำล่ะก็ เห็นจะมีก็แต่กองทัพเวียดนามนั่นแหละที่พอจะคุยได้

การเกิดของรัฐสมัยใหม่ในเอเขียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนจำเป็นต้องมีทหารเป็นกำลังสำคัญ หากแต่กองทัพในแต่ละประเทศมีบทบาทเคียงข้างประชาชนหรือไม่ แตกต่างกันไป

หลังศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา การสงครามมีบทบาทน้อยกว่าการค้าทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จวบจนกระทั่งมีอำนาจอาณานิคมตะวันตกนั่นแหละ ที่จะมีการสงครามกันจริงจังอีกครั้งหนึ่ง หากจับประเด็นตามแอนโทนี รีดไม่ผิด (Anthony Ried. Southeast Asia in the Age of Commerce, 1988) การสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาคพื้นทวีปนั้น มีไปเพื่อการเสริมสร้างกำลังคน

ที่รบกันอย่างเอาเป็นเอาตายกันไปข้างหนึ่งแบบในภาพยนตร์ไทยย้อนยุคน่ะ เขาไม่ทำกันหรอก เพราะจะเสียโอกาสที่จะได้กวาดต้อนกำลังทหารของอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นแรงงาน มาเป็นไพร่ในสังกัดของตน ในแง่นี้ ตรรกของการยุทธหัตถีก็คือการที่มีเพียงผู้นำเท่านั้นที่จะมีเอาเป็นเอาตายกัน แต่ไพร่พลน่ะ ยืนดูแล้วรอว่าใครชนะก็ไปอยู่กับฝ่ายนั้น

แต่หลังจากศตวรรษที่ 18 กำลังการผลิตที่สำคัญได้รับการชดเชยไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการอพยพของแรงงานชาวจีน ปรกอบกับเกิดการขยายตัวของการค้าทั้งระหว่างยุโรป เอเชียตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกไกล เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้โลกทั้งใบมุ่งค้าขายมากกว่าทำสงคราม ระยะนั้นบทบาททหารในภูมิภาคนี้ก็ลดน้อยลงไปด้วย

ในยุคอาณานิตมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 กองทัพของเจ้าอาณานิคมและเจ้าศักดินาที่ร่วมมือกับชาติตะวันตกย่อมมีบทบาทหลักในการควบคุมประชาชนใต้อาณานิคม เช่น กองทัพฝรั่งเศสนำกำลังค่อยๆ คืบคลานยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ยึดไซ่ง่อน เว้ จรดฮานอยและหมดทั้งเวียดนามเหนือใข้เวลาถึงร่วม 30 ปี (1860-1890) ถ้าอยากรู้ว่ากองทัพดัชจัดการกับเจ้าครองนครต่างๆ อย่างไรในปลายศตวรรษที่ 19 ก็ลองอ่านฉากที่เจ้าครองนครเดินดาหน้าเข้าไปให้ทหารดัชฆ่าตายในบาหลีที่บรรยายโดยนักมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างคลิฟเฟิร์ด เกีร์ยซดู (Clifford Geertz. Theartre State, 1980)

ส่วนสยามประเทศนั้น แม้จะถือว่า "ไม่เป็นอาณานิคมของใคร" แต่หากใครยืนอยู่ในฐานะเจ้าครองนครและประชาชนของเมืองแพร่ เมืองเชียงใหม่ ที่ไหนก็ตามในอีสาน และรัฐปาตานี ซึ่งเคยมีอำนาจเป็นเอกเทศจากสยาม ก็จะเห็นว่ากองทัพสยามเป็นเครื่องมือของขนขั้นนำสยามในการสร้างอำนาจรวมศูนย์ที่แปลงคนอื่นให้กลายเป็นไทย การปราบกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏผีบุญต่างๆ ในอีสาน การผนวกปาตานีมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามเพื่อสถาปนารัฐสมัยใหม่ขึ้นเหนือดินแดนที่ไม่เคยเป็นประเทศไทยอย่างทุกวันนี้มาก่อน (อ่าน ธงชัย วินิจจะกูล. กำเนิดสยามจากแผนที่, 2557)

ที่กองทัพสยามจะได้สู้กับอาณานิคมตะวันตกจริงๆ น่ะ มีไม่กี่ครั้งและทุกครั้งก็แพ้ราบคาบไป แม้แต่การไป “ปราบฮ่อ” ก็ไม่ได้ไปปราบจริง เพราะกว่าจะรวบรวมกำลังเดินทางไปถึงที่นั่น  ฝรั่งเศสก็ปราบฮ่อเสียราบคาบไปก่อนหน้าเป็นปีแล้ว มิพักต้องกล่าวว่าทหารหาญที่ถูกเกณฑ์ไปนั้นเป็นเหล่าไพร่-ทาสที่ล้มตายกลางทางเสียมากกว่าเจ็บตายจากการสู้รบ หากแต่กระบวนการสร้างรัฐรวมศูนย์และทำให้ทุกคนกลายเป็นไทยยังไม่จบสิ้น จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่จบ ทหารกับการสร้างความเป็นไทยจึงอยู่ยงคงต่อมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มสร้างชาติไทยในปลายคริสตศตวรรษที่ 19

สิ่งนี้ทำให้กองทัพไทยแตกต่างจากกองทัพประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่กองทัพประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกับประขาชนในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเป็นสำคัญ นับตั้งแต่อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม สงครามปลดปล่อยประชาชน เพื่อสร้างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือสงครามที่ประชาชนและทหารหรือจะกล่าวให้ถูกคือ การที่ประชาชนกลายเป็นทหาร ร่วมมือกันเพื่อปลดปล่อยตนเองจากอำนาจการปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ทว่า ประสบการณ์นี้ไม่มีในประเทศไทย ประเทศไทยจึงไม่มีความรักชาติในความหมายของการปลดปล่อยตนเองออกจากตะวันตก ไม่มีตะวันตกเป็นศัตรูอย่างเป็นรูปธรรมที่ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมแบบเดียวกับที่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้เขามีกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้กองทัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้มแข็งอย่างอินโดนีเซียและพม่า แตกต่างจากกองทัพเวียดนามคือ หลังการปลดปล่อยจากอาณานิคมตะวันตก กองทัพอินโดนีเซียและพม่าหักหลังประชาขน นี่รวมทั้งกองทัพฟิลิปปินส์ ที่ไม่น้อยหน้ากองทัพอินโดนีเซียและกองทัพไทย ที่ร่วมมือใกล้ชิดกัยสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามประชาขนของตนเองที่เป็น "คอมมิวนิสต์" กองทัพพม่าต่างออกไปตรงที่กองทัพหักหลังชนกลุ่มต่างๆ ยึดอำนาจการปกครองแล้วสร้างรัฐรวมศูนย์ด้วยอำนาจเผด็จการทหารจวบจนทุกวันนี้ กองทัพของหลายๆ ประเทศจึงกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน การจะหากองทัพที่เป็นกองทัพประชาชนนั้น ยากเต็มที

กองทัพเวียดนามนั้นแตกต่างออกไป หลังทศวรรษ 1940s-1950s เมื่อชนะฝรั่งเศสแล้ว กองทัพเวียดนามเหนือทำสงครามต่อสู้กับกองทัพเวียดนามใต้ที่อเมริกันหนุนหลัง ต่างฝ่ายต่างอาศัยพลเรือนเป็นกำลังสำคัญทั้งในแง่ของกำลังแรงงาน กำลังรบ และการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ กองทัพต้องทำให้ตนเองใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน และทำให้กองกำลังของอีกฝ่ายกลายเป็นศัตรู แน่นอนว่าเมื่อฝ่ายหนึ่งแพ้ คือฝ่ายเวียดนามใต้ ประชาชนของฝ่ายนั้นย่อมไม่อาจยอมรับว่ากองทัพเวียดนามเหนือเป็นกองทัพประชาชนได้ หากแต่สำหรับเวียดนามเหนือ กองทัพยังคงเป็นของประชาชน คือประชาชนฝ่ายตนที่ชนะ

กระนั้นก็ตาม ในระยะหลัง ก็เริ่มมีปัญญาชนในฝ่ายของเวียดนามเหนือเองเป็นจำนวนมากตั้งคำถามกับกองทัพและการนำประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ นักเขียนเหล่านี้จำนวนมากประสบชะตากรรมแตกต่างกันไป บางคนถูกจองจำในบ้านตนเอง งานของบางคนกลายเป็น “ความลับของทางการ” ที่หากเล็ดรอดออกไปพิมพ์ในต่างประเทศก็จะกลายเป็นการขายความลับของทางราชการ งานของบางคนต้องเขียนเป็นสัญลักษณ์ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนกระทั่งประชาชนทั่วไปอ่านไม่เข้าใจว่ากำลังวิจารณ์อะไร

ปัจจุบันในระยะที่ความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลและสมาชิกระดับสูงบางคนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถดถอยลง กองทัพเวียดนามก็ยังคงความเชื่อถือจากประชาชนเอาไว้ได้ เนื่องจากกองทัพหลีกเลี่ยงการปะทะกับประชาชน ด้วยการที่ให้ตำรวจทำหน้าที่ปราบปรามภัยความมั่นคงต่างๆ ในประเทศ เช่น การชุมนุมประท้วงรัฐ หรือการท้าทายอำนาจรัฐแบบอื่นๆ กองทัพจะไม่มายุ่งกับกิจการเหล่านี้ กองทัพทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยเป็นหลักอย่างเดียว กองทัพเวียดนามจึงยังคงบทบาท “กองทัพประชาชน” ไว้ได้ค่อนข้างเหนียวแน่น และเป้นเกราะปกป้องระบอบปัจจุบันเอาไว้ได้อีกทีหนึ่ง

ส่วนกองทัพไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรน่ะ อย่าไปกล่าวถึงท่านเลย เพราะท่านกำลังคืนความสุขให้ประชาชนอยู่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย