Skip to main content

 

ข่าวการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้านขนาดมหึมาอย่างตื่นตระหนก ชวนให้นึกถึงคำอธิบายโลกปัจจุบันของใครต่อใครได้มากมาย ชวนให้คิดถึงปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่กำลังประสบอยู่ และยังทำให้หวังอย่างยิ่งว่า ชาวไทยผู้กำลังดื่มด่ำอยู่กับความสุขจนล้นเหลือจะตระหนักขึ้นบ้างว่า “เราไม่ได้อยู่คนเดียว” ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ

ผมอาจจะผิดหากกล่าวว่า คนที่เรียนมานุษยวิทยารุ่นผมไม่มีใครที่ไม่ถูกบังคับให้อ่านงานของอรชุน อัพพาดูราย ชื่อ “ยุคสมัยใหม่ขนาดมหึมา" (Arjun Appadurai. Modernity at Large, 1996) แต่คำสอนสำคัญที่ทุกคนจะไม่พลาดจากนักมานุษยวิทยาอินเดียผู้นี้คือ สังคมปัจจุบันเชื่อมโยงติดต่อกันอย่างแทบจะแยกจากกันได้ยากแล้ว

คำสอนนี้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมอ่องอะไรในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วไป แต่คำสอนนี้ “ค่อนข้าง” แปลกใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา ที่ว่า "ค่อนข้าง” ก็เพราะ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจโลกทั้งใบนอกเหนือหมู่บ้านของฉัน ก่อนหน้านี้ก็มีคนคิดทำนองนี้ แต่ก็เพราะว่าวิธีคิดแบบอัพพาดูรายนั้น แตกต่างออกมาจากนักมานุษยวิทยารุ่นก่อนตรงที่ มีมิติทางวัฒนธรรมมากกว่า และอธิบายโลกปัจจุบันได้ดีกว่า

อัพพาดูรายเสนอความเปลี่ยนแปลง 5 ภูมิทัศน์คือ ผู้คน เงินตรา การสื่อสาร เทคโนโลยี และระบบคุณค่า สังคมสมัยใหม่เกิดปรากฏการณ์ที่ 5 มิตินี้เชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อนี้ได้สร้างจินตนาการและปฏิบัติการอย่างใหม่ขึ้นมา คือจินตนาการและปฏิบัติการที่ว่า ไม่มีสังคมแคบๆ หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ตัดขาดจากโลก แบบที่คนเคยคิดกันมาในอดีตอีกต่อไป แม้ว่าเราจะไม่คิด แต่ก็ปฏิเสธการเชื่อมต่อนี้ไม่ได้ แม้ว่าใครบางคนจะไม่ยอม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ก็ฝืนมันไม่ได้

ลองมาดูความพยายามฝืนการเคลื่อนย้ายของบางมิติดูว่า ได้เกิดผลอย่างไรต่อที่ต่างๆ ในโลกบ้าง

ในด้านของการเคลื่อนย้ายผู้คน ผู้มีอำนาจในสังคมมักไม่เห็นความสำคัญ แม้ว่าตนเอง สังคมตนเอง ครอบครัวตนเองก็อยู่ในกระแสของการเคลื่อนย้าย แต่ก็มักจะมองข้ามความสำคัญของการเคลื่อนย้ายของคนชั้นล่างๆ ลงไป กรณีนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา แรงงานอพยพจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลั่งไหลเข้ามามากมาย จนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านแรงงานต่างชาติเหล่านี้ มีการเสนอกฎหมายให้เพิ่มโทษผู้ช่วยเหลือคนงานเหล่านี้และเพิ่มโทษคนงานผิดกฎหมายเหล่านี้

ผลก็คือ เกิดการต่อต้านของแรงงานและผู้คนที่สนับสนุนแรงงานเหล่านี้ทั่วประเทศ เกิดการเดินขบวนที่เรียกว่า “A Day Without Immigrants” (ตามภาพยนตร์ชื่อ A Day Without A Mexican ปี 2004) ของคนงานอพยพ ซึ่งจำนวนมากคือคนแม็กซิกันและคนละตินอเมริกันอพยพทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา การเดินขบวนของแรงงานอพยพในสหรัฐอเมริกาครั้งที่ใหญ่ที่สุดคือในวันแรงงานปี 2006 หากรวมๆ คนที่เดินขบวนวันนั้นทั่วประเทศ ก็จะนับได้หลายล้านคนทีเดียว หลังจากการเดินขบวนครั้งนั้นกฎหมายก็ตกไป ทั้งด้วยแรงกดดันของสังคมและด้วยกระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเอง

ในแง่ของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ในขณะนี้ทั่วโลกทราบกันดีว่ามีความตึงเครียดที่ชายแดนทางทะเลระหว่างเวียดนามกับจีน กล่าวเฉพาะในประเทศเวียดนาม คนเวียดนามขณะนี้กังวลใจกับการถูกจีนคุกคามเขตแดนทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเกิดการประท้วงประเทศจีนไปทั่วประเทศ ลามปามไปถึงมีการเผาโรงงานที่เชื่อกันว่าเป็นของนักลงทุนชาวจีนหรือไม่ก็ของรัฐบาลจีน แต่ที่ส่งผลกระทบยิ่งกว่านั้นคือ ความบาดหมางที่ลุกลามไปถึงประชาชนนี้ ได้ทำให้ประเทศจีนระงับโครงการลงทุนหลายโครงการ แน่นอนว่าโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการลงทุนโดยรัฐบาลจีนหรือไม่ก็บริษัทร่วมทุนที่สีรัฐบาลจีนเป็นแหล่งทุนรายใหญ่

ล่าสุดชาวเวียดนามเริ่มลือกันว่าโครงการรถไฟลอยฟ้ากลางกรุงฮานอยจะเป็นหมัน มีหวังได้เห็นสโตนเฮ้นจ์กลางเมืองฮานอย หรือที่ถูกควรเรียกว่า “เสาโฮปเวล” กลางเมืองฮานอยแบบเดียวกับที่ชาว กทม. เคยได้ชื่นชมมาก่อนไปอีกหลายปี

ในโลกปัจจุบัน รับรู้กันดีว่าการติดต่อสื่อสารทั่วโลกสำคัญอย่างไร สึนามิในญี่ปุ่นและทะเลอันดามันในปี 2011 ส่งผลต่อระบบสื่อสารจนการติดต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรวนกันไปอย่างน้อยครึ่งโลก ซึ่งนั่นมีผลต่อการติดต่อทางการเงิน การลงทุน และปากท้องของประชาชนทั่วไปด้วย

ในแง่ของความเชื่อมโยงของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ไม่ว่าจะพยายามปิดช่องทางการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตอย่างไร ก็จะยังคงมีช่องทางในทางเทคโนโลยีราคาถูกหรือแจกฟรีกันในอิมเทอร์เน็ต ที่จะช่วยให้คนเล็ดลอดการควบคุมได้อยู่นั่นเอง ผู้เชี่ยวชาญในโลกอินเทอร์เน็ตบางคนถึงกับสรุปว่า ต้นทุนในการควบคุมข่าวสารในโลกปัจจุบันนั้น สูงยิ่งกว่าต้นทุนในการเล็ดลอดจากการควบคุมมากมายนัก

เมื่อผู้คน เงินตรา การสื่อสาร และเทคโนโลยีไหลเวียน ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จินตนาการต่อสังคมจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กว้างกว่าเรา เราก็ไม่อาจหนีพ้นจินตนาการต่อสังคมที่ชาวโลกเขามีกัน เราก็ไม่อาจฝืนระบบคุณค่าที่อาจดูแปลกใหม่จากที่เราคุ้นเคย จินตนาการนี้ไม่ได้เป็นเพียงความคิดคำนึงต่อสังคม แต่มันยังเป็นความพยายามที่จะทำให้ความฝันเป็นความจริงขึ้นมาด้วย ก็เหมือนๆ กับที่เราเคยจินตนาการกันว่าสังคมไทยเป็นสังคมร่มเย็นเป็นสุข แม้ว่ามันจะไม่ร่มเย็นเป็นสุข เราก็พยายามจะทำให้มันเป็นอย่างนั้น

ปัจจุบัน ผู้คนก็ยังอยากเห็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข แต่เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ถ้วนหน้ากัน เคารพกันและกัน ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดแตกต่างกันอย่างไร เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ผู้คนต้องการอยู่อย่างเสมอหน้าทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง การแสดงออก และการเรียนรู้ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของคน เราทุกคนต่างมีความคิดความต้องการอย่างนี้

มีคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “สิทธิมนุษยชน” บ้าง “ประชาธิปไตย” บ้าง คำเหล่านี้เป็นคำใหม่ในภาษาไทย ดูเสมือนเป็นความคิดที่ถูกนำเข้ามา แต่มันไม่ได้แปลว่าความคิดและปฏิบัติการของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เคยมีมาก่อนหรือไม่ได้เคยเป้นความหวังความฝันของคนในดินแดนนี้มาก่อน

เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “สี” แต่เราก็แยกแยะ ขาว ดำ แดง เหลือง ได้ก่อนแล้ว ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “อวัยวะ” แต่เราก็มี มือ หัว ขา ไส้ ตับ ไต เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยดั้งเดิมไม่เคยมีคำว่า “ชาติ” “ประเทศ” และภาษาไทยปัจจุบันก็เข้าใจสองคำนี้แตกต่างไปจากในอดีต แต่ไม่ใช่ว่าคนไทยจะรับรู้ถึงการมีอยู่ถึงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ เพียงแต่เราไม่เคยแยกแยะให้ชัดเจนเป็นตัวเป็นตนอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

โลกที่เคลื่อนไหวอยู่ทุกวันนี้แตกต่างไปจากโลกที่เราเคยจินตนาการไปมากแล้ว หากเราฝืนความเปลี่ยนแปลงของโลก เราก็จะได้รับผลกระทบแบบที่เห็นๆ และหากยังไม่หยุดฝืนโลก เราจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอุดรูอย่างไร กะลาเราก็จะรั่วเสมอ

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน