Skip to main content

 

ข่าวการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้านขนาดมหึมาอย่างตื่นตระหนก ชวนให้นึกถึงคำอธิบายโลกปัจจุบันของใครต่อใครได้มากมาย ชวนให้คิดถึงปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่กำลังประสบอยู่ และยังทำให้หวังอย่างยิ่งว่า ชาวไทยผู้กำลังดื่มด่ำอยู่กับความสุขจนล้นเหลือจะตระหนักขึ้นบ้างว่า “เราไม่ได้อยู่คนเดียว” ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ

ผมอาจจะผิดหากกล่าวว่า คนที่เรียนมานุษยวิทยารุ่นผมไม่มีใครที่ไม่ถูกบังคับให้อ่านงานของอรชุน อัพพาดูราย ชื่อ “ยุคสมัยใหม่ขนาดมหึมา" (Arjun Appadurai. Modernity at Large, 1996) แต่คำสอนสำคัญที่ทุกคนจะไม่พลาดจากนักมานุษยวิทยาอินเดียผู้นี้คือ สังคมปัจจุบันเชื่อมโยงติดต่อกันอย่างแทบจะแยกจากกันได้ยากแล้ว

คำสอนนี้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมอ่องอะไรในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วไป แต่คำสอนนี้ “ค่อนข้าง” แปลกใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา ที่ว่า "ค่อนข้าง” ก็เพราะ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจโลกทั้งใบนอกเหนือหมู่บ้านของฉัน ก่อนหน้านี้ก็มีคนคิดทำนองนี้ แต่ก็เพราะว่าวิธีคิดแบบอัพพาดูรายนั้น แตกต่างออกมาจากนักมานุษยวิทยารุ่นก่อนตรงที่ มีมิติทางวัฒนธรรมมากกว่า และอธิบายโลกปัจจุบันได้ดีกว่า

อัพพาดูรายเสนอความเปลี่ยนแปลง 5 ภูมิทัศน์คือ ผู้คน เงินตรา การสื่อสาร เทคโนโลยี และระบบคุณค่า สังคมสมัยใหม่เกิดปรากฏการณ์ที่ 5 มิตินี้เชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อนี้ได้สร้างจินตนาการและปฏิบัติการอย่างใหม่ขึ้นมา คือจินตนาการและปฏิบัติการที่ว่า ไม่มีสังคมแคบๆ หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ตัดขาดจากโลก แบบที่คนเคยคิดกันมาในอดีตอีกต่อไป แม้ว่าเราจะไม่คิด แต่ก็ปฏิเสธการเชื่อมต่อนี้ไม่ได้ แม้ว่าใครบางคนจะไม่ยอม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ก็ฝืนมันไม่ได้

ลองมาดูความพยายามฝืนการเคลื่อนย้ายของบางมิติดูว่า ได้เกิดผลอย่างไรต่อที่ต่างๆ ในโลกบ้าง

ในด้านของการเคลื่อนย้ายผู้คน ผู้มีอำนาจในสังคมมักไม่เห็นความสำคัญ แม้ว่าตนเอง สังคมตนเอง ครอบครัวตนเองก็อยู่ในกระแสของการเคลื่อนย้าย แต่ก็มักจะมองข้ามความสำคัญของการเคลื่อนย้ายของคนชั้นล่างๆ ลงไป กรณีนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา แรงงานอพยพจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลั่งไหลเข้ามามากมาย จนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านแรงงานต่างชาติเหล่านี้ มีการเสนอกฎหมายให้เพิ่มโทษผู้ช่วยเหลือคนงานเหล่านี้และเพิ่มโทษคนงานผิดกฎหมายเหล่านี้

ผลก็คือ เกิดการต่อต้านของแรงงานและผู้คนที่สนับสนุนแรงงานเหล่านี้ทั่วประเทศ เกิดการเดินขบวนที่เรียกว่า “A Day Without Immigrants” (ตามภาพยนตร์ชื่อ A Day Without A Mexican ปี 2004) ของคนงานอพยพ ซึ่งจำนวนมากคือคนแม็กซิกันและคนละตินอเมริกันอพยพทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา การเดินขบวนของแรงงานอพยพในสหรัฐอเมริกาครั้งที่ใหญ่ที่สุดคือในวันแรงงานปี 2006 หากรวมๆ คนที่เดินขบวนวันนั้นทั่วประเทศ ก็จะนับได้หลายล้านคนทีเดียว หลังจากการเดินขบวนครั้งนั้นกฎหมายก็ตกไป ทั้งด้วยแรงกดดันของสังคมและด้วยกระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเอง

ในแง่ของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ในขณะนี้ทั่วโลกทราบกันดีว่ามีความตึงเครียดที่ชายแดนทางทะเลระหว่างเวียดนามกับจีน กล่าวเฉพาะในประเทศเวียดนาม คนเวียดนามขณะนี้กังวลใจกับการถูกจีนคุกคามเขตแดนทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเกิดการประท้วงประเทศจีนไปทั่วประเทศ ลามปามไปถึงมีการเผาโรงงานที่เชื่อกันว่าเป็นของนักลงทุนชาวจีนหรือไม่ก็ของรัฐบาลจีน แต่ที่ส่งผลกระทบยิ่งกว่านั้นคือ ความบาดหมางที่ลุกลามไปถึงประชาชนนี้ ได้ทำให้ประเทศจีนระงับโครงการลงทุนหลายโครงการ แน่นอนว่าโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการลงทุนโดยรัฐบาลจีนหรือไม่ก็บริษัทร่วมทุนที่สีรัฐบาลจีนเป็นแหล่งทุนรายใหญ่

ล่าสุดชาวเวียดนามเริ่มลือกันว่าโครงการรถไฟลอยฟ้ากลางกรุงฮานอยจะเป็นหมัน มีหวังได้เห็นสโตนเฮ้นจ์กลางเมืองฮานอย หรือที่ถูกควรเรียกว่า “เสาโฮปเวล” กลางเมืองฮานอยแบบเดียวกับที่ชาว กทม. เคยได้ชื่นชมมาก่อนไปอีกหลายปี

ในโลกปัจจุบัน รับรู้กันดีว่าการติดต่อสื่อสารทั่วโลกสำคัญอย่างไร สึนามิในญี่ปุ่นและทะเลอันดามันในปี 2011 ส่งผลต่อระบบสื่อสารจนการติดต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรวนกันไปอย่างน้อยครึ่งโลก ซึ่งนั่นมีผลต่อการติดต่อทางการเงิน การลงทุน และปากท้องของประชาชนทั่วไปด้วย

ในแง่ของความเชื่อมโยงของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ไม่ว่าจะพยายามปิดช่องทางการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตอย่างไร ก็จะยังคงมีช่องทางในทางเทคโนโลยีราคาถูกหรือแจกฟรีกันในอิมเทอร์เน็ต ที่จะช่วยให้คนเล็ดลอดการควบคุมได้อยู่นั่นเอง ผู้เชี่ยวชาญในโลกอินเทอร์เน็ตบางคนถึงกับสรุปว่า ต้นทุนในการควบคุมข่าวสารในโลกปัจจุบันนั้น สูงยิ่งกว่าต้นทุนในการเล็ดลอดจากการควบคุมมากมายนัก

เมื่อผู้คน เงินตรา การสื่อสาร และเทคโนโลยีไหลเวียน ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จินตนาการต่อสังคมจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กว้างกว่าเรา เราก็ไม่อาจหนีพ้นจินตนาการต่อสังคมที่ชาวโลกเขามีกัน เราก็ไม่อาจฝืนระบบคุณค่าที่อาจดูแปลกใหม่จากที่เราคุ้นเคย จินตนาการนี้ไม่ได้เป็นเพียงความคิดคำนึงต่อสังคม แต่มันยังเป็นความพยายามที่จะทำให้ความฝันเป็นความจริงขึ้นมาด้วย ก็เหมือนๆ กับที่เราเคยจินตนาการกันว่าสังคมไทยเป็นสังคมร่มเย็นเป็นสุข แม้ว่ามันจะไม่ร่มเย็นเป็นสุข เราก็พยายามจะทำให้มันเป็นอย่างนั้น

ปัจจุบัน ผู้คนก็ยังอยากเห็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข แต่เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ถ้วนหน้ากัน เคารพกันและกัน ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดแตกต่างกันอย่างไร เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ผู้คนต้องการอยู่อย่างเสมอหน้าทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง การแสดงออก และการเรียนรู้ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของคน เราทุกคนต่างมีความคิดความต้องการอย่างนี้

มีคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “สิทธิมนุษยชน” บ้าง “ประชาธิปไตย” บ้าง คำเหล่านี้เป็นคำใหม่ในภาษาไทย ดูเสมือนเป็นความคิดที่ถูกนำเข้ามา แต่มันไม่ได้แปลว่าความคิดและปฏิบัติการของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เคยมีมาก่อนหรือไม่ได้เคยเป้นความหวังความฝันของคนในดินแดนนี้มาก่อน

เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “สี” แต่เราก็แยกแยะ ขาว ดำ แดง เหลือง ได้ก่อนแล้ว ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “อวัยวะ” แต่เราก็มี มือ หัว ขา ไส้ ตับ ไต เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยดั้งเดิมไม่เคยมีคำว่า “ชาติ” “ประเทศ” และภาษาไทยปัจจุบันก็เข้าใจสองคำนี้แตกต่างไปจากในอดีต แต่ไม่ใช่ว่าคนไทยจะรับรู้ถึงการมีอยู่ถึงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ เพียงแต่เราไม่เคยแยกแยะให้ชัดเจนเป็นตัวเป็นตนอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

โลกที่เคลื่อนไหวอยู่ทุกวันนี้แตกต่างไปจากโลกที่เราเคยจินตนาการไปมากแล้ว หากเราฝืนความเปลี่ยนแปลงของโลก เราก็จะได้รับผลกระทบแบบที่เห็นๆ และหากยังไม่หยุดฝืนโลก เราจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอุดรูอย่างไร กะลาเราก็จะรั่วเสมอ

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"