Skip to main content

 

ข่าวการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้านขนาดมหึมาอย่างตื่นตระหนก ชวนให้นึกถึงคำอธิบายโลกปัจจุบันของใครต่อใครได้มากมาย ชวนให้คิดถึงปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่กำลังประสบอยู่ และยังทำให้หวังอย่างยิ่งว่า ชาวไทยผู้กำลังดื่มด่ำอยู่กับความสุขจนล้นเหลือจะตระหนักขึ้นบ้างว่า “เราไม่ได้อยู่คนเดียว” ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ

ผมอาจจะผิดหากกล่าวว่า คนที่เรียนมานุษยวิทยารุ่นผมไม่มีใครที่ไม่ถูกบังคับให้อ่านงานของอรชุน อัพพาดูราย ชื่อ “ยุคสมัยใหม่ขนาดมหึมา" (Arjun Appadurai. Modernity at Large, 1996) แต่คำสอนสำคัญที่ทุกคนจะไม่พลาดจากนักมานุษยวิทยาอินเดียผู้นี้คือ สังคมปัจจุบันเชื่อมโยงติดต่อกันอย่างแทบจะแยกจากกันได้ยากแล้ว

คำสอนนี้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมอ่องอะไรในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วไป แต่คำสอนนี้ “ค่อนข้าง” แปลกใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา ที่ว่า "ค่อนข้าง” ก็เพราะ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจโลกทั้งใบนอกเหนือหมู่บ้านของฉัน ก่อนหน้านี้ก็มีคนคิดทำนองนี้ แต่ก็เพราะว่าวิธีคิดแบบอัพพาดูรายนั้น แตกต่างออกมาจากนักมานุษยวิทยารุ่นก่อนตรงที่ มีมิติทางวัฒนธรรมมากกว่า และอธิบายโลกปัจจุบันได้ดีกว่า

อัพพาดูรายเสนอความเปลี่ยนแปลง 5 ภูมิทัศน์คือ ผู้คน เงินตรา การสื่อสาร เทคโนโลยี และระบบคุณค่า สังคมสมัยใหม่เกิดปรากฏการณ์ที่ 5 มิตินี้เชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อนี้ได้สร้างจินตนาการและปฏิบัติการอย่างใหม่ขึ้นมา คือจินตนาการและปฏิบัติการที่ว่า ไม่มีสังคมแคบๆ หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ตัดขาดจากโลก แบบที่คนเคยคิดกันมาในอดีตอีกต่อไป แม้ว่าเราจะไม่คิด แต่ก็ปฏิเสธการเชื่อมต่อนี้ไม่ได้ แม้ว่าใครบางคนจะไม่ยอม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ก็ฝืนมันไม่ได้

ลองมาดูความพยายามฝืนการเคลื่อนย้ายของบางมิติดูว่า ได้เกิดผลอย่างไรต่อที่ต่างๆ ในโลกบ้าง

ในด้านของการเคลื่อนย้ายผู้คน ผู้มีอำนาจในสังคมมักไม่เห็นความสำคัญ แม้ว่าตนเอง สังคมตนเอง ครอบครัวตนเองก็อยู่ในกระแสของการเคลื่อนย้าย แต่ก็มักจะมองข้ามความสำคัญของการเคลื่อนย้ายของคนชั้นล่างๆ ลงไป กรณีนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา แรงงานอพยพจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลั่งไหลเข้ามามากมาย จนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านแรงงานต่างชาติเหล่านี้ มีการเสนอกฎหมายให้เพิ่มโทษผู้ช่วยเหลือคนงานเหล่านี้และเพิ่มโทษคนงานผิดกฎหมายเหล่านี้

ผลก็คือ เกิดการต่อต้านของแรงงานและผู้คนที่สนับสนุนแรงงานเหล่านี้ทั่วประเทศ เกิดการเดินขบวนที่เรียกว่า “A Day Without Immigrants” (ตามภาพยนตร์ชื่อ A Day Without A Mexican ปี 2004) ของคนงานอพยพ ซึ่งจำนวนมากคือคนแม็กซิกันและคนละตินอเมริกันอพยพทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา การเดินขบวนของแรงงานอพยพในสหรัฐอเมริกาครั้งที่ใหญ่ที่สุดคือในวันแรงงานปี 2006 หากรวมๆ คนที่เดินขบวนวันนั้นทั่วประเทศ ก็จะนับได้หลายล้านคนทีเดียว หลังจากการเดินขบวนครั้งนั้นกฎหมายก็ตกไป ทั้งด้วยแรงกดดันของสังคมและด้วยกระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเอง

ในแง่ของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ในขณะนี้ทั่วโลกทราบกันดีว่ามีความตึงเครียดที่ชายแดนทางทะเลระหว่างเวียดนามกับจีน กล่าวเฉพาะในประเทศเวียดนาม คนเวียดนามขณะนี้กังวลใจกับการถูกจีนคุกคามเขตแดนทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเกิดการประท้วงประเทศจีนไปทั่วประเทศ ลามปามไปถึงมีการเผาโรงงานที่เชื่อกันว่าเป็นของนักลงทุนชาวจีนหรือไม่ก็ของรัฐบาลจีน แต่ที่ส่งผลกระทบยิ่งกว่านั้นคือ ความบาดหมางที่ลุกลามไปถึงประชาชนนี้ ได้ทำให้ประเทศจีนระงับโครงการลงทุนหลายโครงการ แน่นอนว่าโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการลงทุนโดยรัฐบาลจีนหรือไม่ก็บริษัทร่วมทุนที่สีรัฐบาลจีนเป็นแหล่งทุนรายใหญ่

ล่าสุดชาวเวียดนามเริ่มลือกันว่าโครงการรถไฟลอยฟ้ากลางกรุงฮานอยจะเป็นหมัน มีหวังได้เห็นสโตนเฮ้นจ์กลางเมืองฮานอย หรือที่ถูกควรเรียกว่า “เสาโฮปเวล” กลางเมืองฮานอยแบบเดียวกับที่ชาว กทม. เคยได้ชื่นชมมาก่อนไปอีกหลายปี

ในโลกปัจจุบัน รับรู้กันดีว่าการติดต่อสื่อสารทั่วโลกสำคัญอย่างไร สึนามิในญี่ปุ่นและทะเลอันดามันในปี 2011 ส่งผลต่อระบบสื่อสารจนการติดต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรวนกันไปอย่างน้อยครึ่งโลก ซึ่งนั่นมีผลต่อการติดต่อทางการเงิน การลงทุน และปากท้องของประชาชนทั่วไปด้วย

ในแง่ของความเชื่อมโยงของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ไม่ว่าจะพยายามปิดช่องทางการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตอย่างไร ก็จะยังคงมีช่องทางในทางเทคโนโลยีราคาถูกหรือแจกฟรีกันในอิมเทอร์เน็ต ที่จะช่วยให้คนเล็ดลอดการควบคุมได้อยู่นั่นเอง ผู้เชี่ยวชาญในโลกอินเทอร์เน็ตบางคนถึงกับสรุปว่า ต้นทุนในการควบคุมข่าวสารในโลกปัจจุบันนั้น สูงยิ่งกว่าต้นทุนในการเล็ดลอดจากการควบคุมมากมายนัก

เมื่อผู้คน เงินตรา การสื่อสาร และเทคโนโลยีไหลเวียน ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จินตนาการต่อสังคมจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กว้างกว่าเรา เราก็ไม่อาจหนีพ้นจินตนาการต่อสังคมที่ชาวโลกเขามีกัน เราก็ไม่อาจฝืนระบบคุณค่าที่อาจดูแปลกใหม่จากที่เราคุ้นเคย จินตนาการนี้ไม่ได้เป็นเพียงความคิดคำนึงต่อสังคม แต่มันยังเป็นความพยายามที่จะทำให้ความฝันเป็นความจริงขึ้นมาด้วย ก็เหมือนๆ กับที่เราเคยจินตนาการกันว่าสังคมไทยเป็นสังคมร่มเย็นเป็นสุข แม้ว่ามันจะไม่ร่มเย็นเป็นสุข เราก็พยายามจะทำให้มันเป็นอย่างนั้น

ปัจจุบัน ผู้คนก็ยังอยากเห็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข แต่เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ถ้วนหน้ากัน เคารพกันและกัน ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดแตกต่างกันอย่างไร เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ผู้คนต้องการอยู่อย่างเสมอหน้าทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง การแสดงออก และการเรียนรู้ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของคน เราทุกคนต่างมีความคิดความต้องการอย่างนี้

มีคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “สิทธิมนุษยชน” บ้าง “ประชาธิปไตย” บ้าง คำเหล่านี้เป็นคำใหม่ในภาษาไทย ดูเสมือนเป็นความคิดที่ถูกนำเข้ามา แต่มันไม่ได้แปลว่าความคิดและปฏิบัติการของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เคยมีมาก่อนหรือไม่ได้เคยเป้นความหวังความฝันของคนในดินแดนนี้มาก่อน

เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “สี” แต่เราก็แยกแยะ ขาว ดำ แดง เหลือง ได้ก่อนแล้ว ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “อวัยวะ” แต่เราก็มี มือ หัว ขา ไส้ ตับ ไต เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยดั้งเดิมไม่เคยมีคำว่า “ชาติ” “ประเทศ” และภาษาไทยปัจจุบันก็เข้าใจสองคำนี้แตกต่างไปจากในอดีต แต่ไม่ใช่ว่าคนไทยจะรับรู้ถึงการมีอยู่ถึงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ เพียงแต่เราไม่เคยแยกแยะให้ชัดเจนเป็นตัวเป็นตนอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

โลกที่เคลื่อนไหวอยู่ทุกวันนี้แตกต่างไปจากโลกที่เราเคยจินตนาการไปมากแล้ว หากเราฝืนความเปลี่ยนแปลงของโลก เราก็จะได้รับผลกระทบแบบที่เห็นๆ และหากยังไม่หยุดฝืนโลก เราจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอุดรูอย่างไร กะลาเราก็จะรั่วเสมอ

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...